อำนาจเลือกผู้สมัคร โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่จะกล่าวต่อไปนี้ ไม่หวังให้เกิดผลอย่างไรต่อกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่ง สนช.กำลังพิจารณาอยู่เวลานี้ ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา มีกฎหมายที่ออกจากสภาแห่งนี้ และคำสั่งของคณะรัฐประหาร ซึ่งล้วนเป็นกฎหมายที่ไม่อาจปฏิบัติได้จริงในระยะยาว เพราะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคมไทย ที่แปรเปลี่ยนไปไกลกว่าที่คนเหล่านั้นจะจินตนาการไปได้ถึง หากประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปได้ในวันหนึ่งข้างหน้า คงไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากต้องประกาศให้บรรดาการกระทำทั้งหมดของรัฐนับตั้งแต่วันที่เริ่มการรัฐประหารเป็นต้นมา ไม่มีผลผูกพันใดๆ ทั้งสิ้น ถือเวลาที่ประเทศถูกยึดครองนี้ประหนึ่งว่าไม่เคยเกิดขึ้น เป็นสภาพที่ “ไม่จริง” ไม่มีอยู่ และไม่มีผล

ส่วนบรรดาบุคคลที่มีส่วนร่วมในการทำให้เกิดสภาพ “ไม่จริง” นี้ขึ้น จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายปกติอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันในภายหน้า

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันมิให้ใครใช้อำนาจทำให้เกิดสภาพ “ไม่จริง” เช่นนี้ขึ้นอีก เพียงแต่ต้องปฏิรูปกันท่ามกลางระบอบปกครองที่เปิดเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ให้แก่ทุกฝ่ายในการมีส่วนร่วม

การที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจใหญ่สุด ในการอนุมัติให้ใครได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง จะทำให้ประชาชนมีอำนาจในการควบคุมพรรคการเมืองได้มากขึ้นเป็นครั้งแรก และถ้าพรรคการเมืองเป็นตัวกลางในการที่ประชาชนจะวางนโยบายหรือเลือกนโยบาย พรรคการเมืองก็ต้องอยู่ในกำกับควบคุมของประชาชน

Advertisement

นี่เป็นหลักการที่ถูกต้องดีงามซึ่งปฏิเสธไม่ได้ แต่เป็นหลักการที่ตั้งอยู่ในสุญญากาศ คือเป็นจริงเสมอ หากไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอื่นทางสังคม, วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ที่กำหนดความเป็นไปทางการเมืองอยู่เลย ซึ่งไม่เคยปรากฏที่ใดในโลก

ดังนั้นเราควรเริ่มต้นด้วยการหันมาดูความเป็นจริงของพรรคการเมืองไทยก่อน

พรรคการเมืองไทยเป็นสมบัติส่วนตัวของ (คนที่ผมขอเรียกว่า) “เจ้าพ่อ” คือคนมีทรัพย์หรือมีชื่อเสียงที่สามารถเรียกคะแนนเสียงให้แก่พรรคได้ในหลายเขตเลือกตั้ง แต่ถึงจะมีทรัพย์หรือชื่อเสียงมากสักเพียงไหน ตราบเท่าที่เป็นแค่บุคคล ไม่ใช่นโยบาย ก็ยากที่จะเรียกคะแนนเสียงได้จากคนส่วนใหญ่ทั่วประเทศ จึงมักเกาะกลุ่มกันสร้างพันธมิตรระหว่างเจ้าพ่อหลายคนจดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองหนึ่ง จึงยิ่งยากที่จะเสนอนโยบายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของพรรคแก่ประชาชนได้

Advertisement

เว้นแต่พรรคที่มีหัวหน้าพรรคซึ่ง “เป็นที่หนึ่งในหมู่ผู้เท่าเทียม” อย่างเด่นชัดจริงๆ เท่านั้น จึงสามารถนำทางนโยบายได้ เช่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ, หรือคุณทักษิณ ชินวัตร แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ได้มาจากประชาชน หรือไม่ได้มาจากประชาชนเป็นหลัก และประชาชนไม่มีส่วนกำกับนโยบายเหล่านี้

ทำไมพรรคการเมืองไทยจึงเป็นเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เป็นความผิดของเจ้าพ่อและเครือข่ายอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือพรรคการเมืองไทยไม่มีโอกาสพัฒนา การเมืองระบบรัฐสภาถูกอำนาจภายนอกที่มีมาก่อนแทรกแซงจนตั้งอยู่ไม่ได้ กลายสภาพเป็นการเมืองระบบรัฐประหารอยู่เสมอ อะไรที่อาจเริ่มต้นมาไม่ดีนัก หากมีโอกาส ก็อาจพัฒนาไปในทางที่ดีมีประโยชน์ได้ แต่พรรคการเมืองไทยไม่มีโอกาสอย่างนั้น

พรรคการเมืองจึงไม่เคยเป็นตัวเลือกเชิงนโยบายของประชาชน จนหลังรัฐธรรมนูญ 2540 ไปแล้ว แต่อำนาจนอกระบบก็เข้ามาก่อรัฐประหารถึง 2 ครั้ง เพื่อขัดขวางมิให้การแข่งขันเชิงนโยบายของพรรคการเมืองดำเนินต่อไปได้

ดังนั้น ในความคิดของสมาชิก สนช.ซึ่งรังเกียจไม่เห็นคุณค่าของการโหวต กลับมาคิดหาวิธีให้ประชาชนโหวตเลือกตั้งแต่ผู้สมัคร จึงไม่ได้คิดจะสร้างความเข้มแข็งให้พรรคการเมืองแน่ หรือไม่ได้คิดจะสร้างเงื่อนไขให้พรรคการเมืองเป็นทางเลือกเชิงนโยบายมากขึ้น แต่คงจะคิดง่ายๆ ว่า ไพรมารีโหวต จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงเพราะถูกประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงควบคุมมากขึ้น

แต่เหรียญมี 2 ด้านเสมอ การที่พรรคการเมืองอยู่ในความควบคุมของประชาชน ด้านหนึ่งทำให้อ่อนแอ แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้เข้มแข็งขึ้น เพราะมีผนังทองแดงกำแพงเหล็กคุ้มกัน

ดังนั้น โดยตัวของมันเองแล้ว ไพรมารีโหวตเป็นหนึ่งในกลไกที่เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำกับพรรคการเมือง แบ่งปันอำนาจกับเจ้าพ่อและพรรคพวกที่นั่งอยู่ในกรรมการบริหารพรรค แบ่งปันเท่านั้นนะครับ ไม่ถึงกับแย่งเอาไปได้หมด เพราะไม่มีพรรคการเมืองใด แม้แต่ในประเทศที่มีระบบรัฐสภามั่นคงแล้ว ที่กรรมการบริหารพรรคหมดอำนาจไปโดยสิ้นเชิง

เพราะฉะนั้น ไพรมารีโหวตจึงดีแน่แก่ระบบรัฐสภา แต่ไม่มีอะไรในโลกที่ดีฝ่ายเดียวโดยไม่มีเสียอยู่ด้วย จะต้องคิดให้รอบคอบว่าจะลดผลร้ายของไพรมารีโหวตแต่ละชนิดอย่างไร และต้องคิดว่า ในทางปฏิบัติเอามาใช้ในประเทศไทยได้ทุกพรรค โดยการออกกฎหมายบังคับให้ทำทุกพรรคได้หรือไม่ด้วย

อันที่จริง ไพรมารีโหวตเป็นประโยชน์ต่อพรรคการเมือง เพราะทำให้เลือกผู้สมัครที่อย่างน้อยมีฐานเสียงสนับสนุนใหญ่พอสมควรในแต่ละเขต โอกาสที่จะได้รับเลือกตั้งย่อมมีสูงกว่าบุคคลที่กรรมการบริหารพรรคชี้นิ้วเลือกเอง หากจริงตามนี้ ในไม่ช้าทุกพรรคการเมืองย่อมหาวิธีที่ตัวพอทำได้ ในการหยั่งเสียงประชาชนในแต่ละเขตเลือกตั้งให้ถี่ถ้วนขึ้น โดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับเลย

ในยุโรปตะวันตกหลายประเทศ ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ไพรมารีโหวต (ซึ่งมักเกิดขึ้นในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20) กรรมการพรรคในท้องถิ่นเป็นผู้เสนอชื่อผู้สมัครให้กรรมการบริหารพิจารณา ซึ่งส่วนใหญ่ก็รับตามนั้น เพราะกรรมการท้องถิ่นย่อมเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของผู้เลือกตั้งได้ดีกว่า

แสดงว่าการสรรหาผู้สมัครมีวิธีอื่นๆ นอกจากการออกเสียงในไพรมารีอีกหลายอย่าง จนถึงทุกวันนี้ก็มีการใช้การจัดประชุมพรรค แล้วให้ผู้สมัครแต่ละรายพูดหาเสียง เสร็จแล้วผู้เข้าประชุมลงคะแนนเลือกเอา 2 คนไปลงสมัคร หรือส่งให้แก่กรรมการบริหารเลือกอีกทีหนึ่งก็มี (ซึ่งในกรณีที่เป็นการประชุมเปิด-คือสมาชิกทุกพรรคการเมืองเข้าได้พร้อมกัน-บางครั้งทั้งสองคนที่ได้รับเลือกให้ลงสมัครกลับเป็นคนจากพรรคเดียวกัน)

หากมองไพรมารีโหวตว่าเป็นกลวิธีที่พรรคการเมืองควรใช้ เพื่อเอาชนะในการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว นั่นก็เป็นเรื่องของพรรคการเมือง เขาจะจัดหรือไม่จัด หรือจัดอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา

แต่คุณค่าของการคัดสรรผู้สมัครแบบเปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมีมากกว่านั้น ที่สำคัญคือทำให้นักการเมืองต้องฝังตัวลงไปในท้องถิ่นอันเป็นเขตเลือกตั้งของเขา จึงทำให้เป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นได้ดีขึ้น นโยบายหาเสียงของเขาย่อมสะท้อนความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซ้ำตัวเขาเองยังมีฐานความชอบธรรมที่เป็นอิสระจากกรรมการบริหารพรรค ทำให้สามารถต่อรองกับพรรคเพื่อผลักดันนโยบายที่ตอบสนองต่อท้องถิ่นได้ดีขึ้น

กระบวนการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงเป็นภาระของรัฐไปด้วย แต่รัฐจะรับภาระนั้นแค่ไหน และอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิดให้รอบคอบ และเปิดให้มีการถกเถียงอภิปรายกันในวงกว้าง

ไพรมารีโหวตเป็นหนึ่งในบรรดามาตรการต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แม้แต่ตัวไพรมารีเองก็มีหลายอย่าง เช่น อย่างปิด-อย่างเปิด อย่างกึ่งปิด-อย่างกึ่งเปิด แต่ละอย่างมีข้อจำกัดในตัวเอง และในทางปฏิบัติ ทำแล้วอาจไม่เกิดประโยชน์ในกรณีไทย เช่นอย่างปิด-คือเฉพาะสมาชิกพรรคเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนน-ก็เท่ากับให้โอกาสพรรคใหญ่มากกว่าพรรคเล็ก ซึ่งมีสมาชิกในแต่ละเขตเลือกตั้งจำนวนน้อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเลือกผู้สมัครคนใด ก็ไม่เป็นฐานคะแนนเสียงที่ใหญ่พอจะได้รับเลือก

และถ้าเชื่อว่าเจ้าพ่อของพรรคใหญ่ใช้บารมีของเครือข่ายอุปถัมภ์ในการเอาชนะในการเลือกตั้งได้ ถ้าอย่างนั้นเจ้าพ่อก็ยังใช้บารมีเพื่อเอาคนของตัวเป็นผู้สมัครในไพรมารีโหวตจนได้ ไม่ช่วยให้ประชาชนมีอำนาจในการควบคุมนักการเมืองเพิ่มขึ้นตรงไหน

กระบวนการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งมีความสำคัญต่อการเมืองไทยแน่ รัฐควรมีบทบาทแค่ไหน อย่างไร จึงจะบรรลุจุดประสงค์ทางการเมืองที่ต้องการ และเหมาะสมกับความเป็นจริงทางการเมืองของไทย ยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ควรจะออกมาในรูปกฎหมายบังคับ หรือออกมาในรูปกฎหมายที่วางเงื่อนไขให้กระบวนการคัดสรรที่เปิดกว้างได้เปรียบ เป็นเรื่องที่คนไทยต้องคิดกันเองให้ดี ในบรรยากาศที่สามารถคิดและแสดงออกได้อย่างเสรี ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องเกิดขึ้นในประเทศไทยจนได้แน่ ไม่ในวันใดก็วันหนึ่ง

ในส่วน สนช. จะออกกฎหมายอะไรและอย่างไรก็เป็นอำนาจของเขาในช่วงนี้ ถึงอย่างไร กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่มีวันจะถูกบังคับใช้อย่างยั่งยืนอยู่แล้ว เพราะดังที่กล่าวแล้วว่า มันไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมไทย

ที่ไม่สอดคล้องก็เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้รู้จักประเทศไทยในปัจจุบันเลย เอ่ยอะไรออกมาทีก็ล้วนเป็นประเทศไทยเมื่อเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้วทั้งนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image