ปัญหา เศรษฐกิจ จาก แรงงาน “ต่างด้าว” ประเด็น การเมือง

ไม่ว่ากรณีของ “รถกระบะ” ไม่ว่ากรณีของ “แรงงานต่างด้าว” ไม่ว่ากรณีของการจัดระบบโซเชียลมีเดีย อย่างที่เรียกว่า “โอทีที”

มากด้วยความละเอียดอ่อน มากด้วยความอ่อนไหว

เรื่องของรถกระบะเพราะสัมพันธ์กับวัฒนธรรมและวิถีชาวบ้าน เรื่องของแรงงานต่างด้าวอาจสัมพันธ์กับธุรกิจ

ผู้ประกอบการ เรื่องของโอทีทีอาจสัมพันธ์กับคลื่นความถี่

Advertisement

แต่เมื่อโยงไปแล้วก็คือเรื่องในทาง “เศรษฐกิจ”

เพียงแต่เศรษฐกิจของรถกระบะเป็นเศรษฐกิจระดับพื้นฐานในชนบท เพียงแต่เศรษฐกิจของแรงงานต่างด้าวเป็นเศรษฐกิจของธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก เพียงแต่เศรษฐกิจโอทีทีเป็นเรื่องของเทคโนโลยี

เมื่อแตะเข้าไปสัมผัสจึงก่อผลสะเทือน รุนแรง ล้ำลึก กว้างไกล

ถามว่าเมื่อมีพระราชกำหนดว่าด้วย “แรงงานต่างด้าว” เป็นบรรดาแรงงานพม่า แรงงานกัมพูชา แรงงานลาวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ

ต้องเดินทางกลับบ้านกันเรือนหมื่น เรือนแสน

อาจใช่ แต่มีมากกว่านั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เองก็รู้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเองก็รู้

แต่ “แรงงานต่างด้าว” จะทำอย่างไรได้ นอกจากกลับบ้าน

ตรงกันข้าม คนที่ออกมาโวยวายเสียงดังกลับเป็น หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย

3 องค์กรนี้ถือว่าเป็น “สดมภ์” หลัก

หากไม่อยู่ในฐานะเป็น “สดมภ์” ในทางเป็นจริง คสช.คงไม่ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ภายใต้มาตรา 44 มาเพื่อชะลอการบังคับใช้ตามพระราชกำหนด

เพราะต้องรับฟังเสียงจากเศรษฐกิจภาคเอกชน

จากนี้ลองสาวลึกลงไปในกระสวนอันก่อรูปขึ้นมาของปัญหารถกระบะ ของแรงงานต่างด้าวและของคลื่นความถี่อย่างที่เรียกว่าโอทีที

จุดเริ่มต้น คือ เรื่องของเศรษฐกิจ เทคโนโลยี

บางเรื่องอาจจำกัดกรอบเพียงในประเทศ แต่หลายเรื่องกลับเป็นเรื่องของธุรกิจข้ามชาติ และบางเรื่องดำรงอยู่อย่างที่เรียกว่า “ไร้พรมแดน”

หากไม่เข้าใจในความเป็นจริงของสิ่งเหล่านี้ก็อาจพลาด

เมื่อพลาดก็จะกลายเป็นปัญหาในระดับ “อาเซียน” เมื่อพลาดก็อาจจะกลายเป็นปัญหาในระดับโลก

เรื่องก็จะไปถึง “องค์การการค้าโลก”

ที่คิดจะกำกับและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จก็ไม่อาจทำได้ เพราะมิได้มีต้นตออยู่ในพื้นที่ของเราเองหากแต่สัมพันธ์กับคลื่นและการไหลเวียนของเทคโนโลยีระดับโลก

จึงต้องทำความเข้าใจ จึงต้องมีการเรียนรู้

หากไม่เรียนรู้ก็จะทำอย่างขาดการพิจารณาถึงผลดี ผลเสียตามความเป็นจริง หากแต่พิจารณาจากความรู้สึกมากกว่าข้อมูลอย่างที่ดำรงอยู่

เป็น “บทเรียน” แน่นอน แต่ “ความสูญเสีย” ประเมินไม่ได้

แท้จริงแล้ว เศรษฐกิจคือมูลฐานของสรรพสิ่งภายในสังคม หากไม่ดำเนินไปตามความเป็นจริงมูลฐานนี้ก็จะส่งผลสะเทือน

กลายเป็นปัญหาในทาง “การเมือง”

เป็นการเมืองที่จำเป็นต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจอย่างตระหนักในความสัมพันธ์ยึดโยงตามเรื่องราวอันเป็นจริงอย่างรอบด้าน

หากไม่รู้ หากไม่เข้าใจก็ “อันตราย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image