น้ำตาหลัง 180 วัน โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

จะว่าดราม่า ก็ดราม่า

แต่อยากให้อ่าน เรื่อง “ซู” กับ “เอ” ในคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว “ยุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าว..การค้ามนุษย์ถูกสกัด..แถมมีเงินสะพัดหมื่นล้าน” โดย มุกดา สุวรรณชาติ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับล่าสุด

ซูกับเอ สองผัวเมีย ชาวพม่า

ซู..ทำงานในรีสอร์ตเล็กๆ เป็นคนสวนดูแลต้นไม้ และช่วยนายจ้างแล้วแต่จะเรียกใช้

Advertisement

ซูมีรถจักรยานยนต์มือสองคันหนึ่ง ซื้อในชื่อเจ้าของรีสอร์ต

ส่วน..เอ…เป็นแม่บ้านในรีสอร์ต

ทั้งคู่มีลูกสาวเข้าเรียนโรงเรียนไทย

เมื่อ พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ประกาศ

เพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์โจษขานกันแซดว่า ตำรวจจะจับพวกต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาต หรือมีแต่ไม่ถูกต้อง

นายจ้างเริ่มลอยแพคนงานกันแล้ว

แม้เสียดายคนงาน แต่คิดว่าปลอดภัยไว้ก่อน ดีกว่าถูกจับต้องเสียเงินหลายแสน

คนงานเองก็กลัวติดคุก

ซูยังใจเย็นอยู่สองวัน

แต่เอไม่ยอม เริ่มเก็บข้าวของจำเป็นใส่กระเป๋าผ้าใบโต

ผัวเมียเริ่มทะเลาะกัน

เจ้าของรีสอร์ตก็ไม่แน่ใจว่า ควรทำอย่างไร

สุดท้ายซูเลยบอกขายรถจักรยานยนต์ เป็นของรักของหวงที่สู้อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบซื้อมาในราคา 25,000 บาท ให้ช่างซ่อมมอเตอร์ไซค์ที่รู้จักกันดีไปในราคา 7,000 บาท

ทีวี 32 นิ้ว ก็ต้องขายไปในราคาถูกๆ

ซูกัดฟันทนยอมขายทิ้งไปทุกอย่าง

หนทางข้างหน้าก็มืดมน

เขาจากบ้านมาตั้งแต่วัยรุ่นจะกลับไปทำมาหากินอะไรเลี้ยงลูก

จะไปแย่งพี่น้องทำไร่ก็มีที่ดินแค่กระแบะมือ

ซูร้องไห้อยู่ในอก

แต่ลูกกับเมียกอดกันร้องไห้โฮ

ในวันรุ่งขึ้นต้องเดินทางกลับบ้าน….

มองในเชิงมนุษย์ตัวเล็กๆ นี่ถือเป็นโศกนาฏกรรม ที่เรียกน้ำตาได้

แต่มองในเชิงยุทธศาสตร์ชาติและเกี่ยวพันกับ “ความมั่นคง” แล้ว น้ำตาที่อาบไหลนี้ดูจะไร้ความหมาย

“แรงงานต่างด้าว” คือสิ่งที่ต้องจัดการ

ยิ่งเมื่อมาจัดการในห้วงรัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จ จึงสวิงไปทางเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วย

แต่โชคไม่ดี ความเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ได้มีแต่ด้าน “บวก” หากพ่วงเอาด้านลบมาด้วย

และบังเอิญเรื่องนี้ “ด้านลบ” มีมากเกินคาดหมาย

รัฐบาลก็เลยต้องยอมเสียหน้าใช้ความเบ็ดเสร็จแก้ความเบ็ดเสร็จ เพื่อลดผลกระทบ

โดยซื้อเวลาไปอีก 180 วัน ด้วยหวังว่า ทุกฝ่ายจะปรับตัว รับกฎหมายแรงๆ แบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานชูเป็นคำขวัญ “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน”

ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เมื่อ 180 วันผ่านไปแล้ว ทุกอย่างจะเรียบร้อยตามที่หวังหรือไม่

แต่ก็ได้ยินเสียงเตือนๆ จากหลายฝ่ายว่า เรื่องแรงงานต่างด้าวมันสลับซับซ้อนมากกว่าที่จะจัดการได้ด้วยกฎหมาย “แรงๆ” อย่างเดียว

จำเป็นต้องเปิดกว้าง ฟังเสียง ฟังข้อมูลให้รอบด้าน มากกว่าจะยึดเรื่องความมั่นคงเพียงอย่างเดียว และแน่นอนควรอภิปรายถกเถียงในบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย

จะมาหักคอ ด้วยการออกเป็น “พระราชกำหนด” ไม่เหมาะ เพราะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีอีกหลายด้านที่ไม่ได้คาดหมาย ก่อผลลบรุนแรงอย่างยิ่ง

ซึ่งแม้วันนี้ พ.ร.ก.จะกลายเป็น พ.ร.บ.แล้ว แต่แก้เนื้อหาอะไรไม่ได้

ยังดำรงสภาพแรงและเข้ม “ผิดเป็นจับ ปรับเป็นแสน” อย่างเต็มขั้น

ซึ่งก็เริ่มมีเสียงเตือนๆ ออกมาแล้วว่า หลัง 180 วัน

จะมีน้ำตาไหลพรากจากเหยื่อที่ยังจัดระเบียบไม่เสร็จอีกหลายกลุ่ม

เหยื่อ ของผีสูบเลือดที่ชูป้ายถ้าไม่อยากผิดเป็นจับ และถูกปรับเป็นแสน–ก็จ่ายส่วยหรือเงินใต้โต๊ะมาดีๆ

ระวังและหาทางป้องกัน ผีเหล่านี้ให้ดีๆ ก็แล้วกัน

……………

สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image