แนวทางการประยุกต์ ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดย : กฤษณ์สัมพันธ์ เมนะสูต

ตอนที่ 3 แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร หน่วยงานหรือองค์กรของรัฐและธุรกิจเอกชน

แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร

เกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรต้องทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือไร่นาสวนผสม โดยทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานไว้ โดยเป็นการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ และจำแนกการใช้พื้นที่ดินเพื่อการเกษตรที่หลากหลายและผสมผสาน โดยเกษตรกรมีการพัฒนาการเกษตรทฤษฎีใหม่เป็น 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นที่ 1 การผลิตเพื่อพออยู่ พอกิน และพอเพียง โดยต้องมีข้าวและอาหารบริโภคอย่างเพียงพอในครัวเรือน บนพื้นฐานของการประหยัด ลดการใช้จ่าย โดยแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วน คือ

Advertisement

ส่วนแรก ประมาณร้อยละ 30 เป็นพื้นที่ขุดสระเก็บกักน้ำ โดยเฉพาะในฤดูฝน

ส่วนที่สอง ประมาณร้อยละ 30 เป็นพื้นที่ปลูกข้าวในฤดูฝน

ส่วนที่สาม ประมาณร้อยละ 30 ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น ไม้ใช้สอย พืชผักสวนครัว สมุนไพร เพื่อเป็นอาหาร หากเหลือจึงนำไปจำหน่าย

Advertisement

ส่วนที่สี่ ประมาณร้อยละ 10 ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์และโรงเรือนอื่นๆ

หัวใจสำคัญที่สุด ต้องมีน้ำ และมีระบบน้ำที่ควบคุมให้มีการหมุนเวียนใช้เพื่อการเกษตรและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

ขั้นที่ 2 การร่วมพลัง ร่วมแรง ร่วมใจในรูปกลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์ เป็นทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าที่มีการรวมกลุ่มที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนบ้าน ชุมชน โดยมีการร่วมมือในการผลิต การหาเมล็ดพันธุ์ การรวบรวมพันธุ์พืช การเพาะปลูก การตลาด การจัดหายุ้งฉาง การสีข้าว การขายผลผลิต การร่วมกันดูแลชุมชน สวัสดิการ การจัดกองทุนหรือการออมหรือสหกรณ์ การบริการสาธารณสุข การศึกษาของเยาวชน และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาต่างๆ

ขั้นที่ 3 การประสานงาน ความร่วมมือและจัดหาแหล่งทุนจากภายนอกชุมชน เป็นทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้าสู่ภายนอกชุมชน เพื่อร่วมมือกับส่วนราชการ องค์การเอกชน ธนาคาร ในด้านเงินทุน การผลิต การตลาด การจัดการ และข่าวสารข้อมูล เพื่อช่วยเหลือในการประกอบอาชีพและการจัดหาเงินทุน

แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐและธุรกิจเอกชน

แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในหน่วยงานหรือองค์กรของรัฐ

1) การบริหารจัดการในภาพรวม

⦁ ผู้บริหารใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกำหนดเป็นวิสัยทัศน์ในการพัฒนาองค์กรหรือหน่วยงานของตนเอง โดยสื่อสารให้คนในองค์กรมีความเข้าใจและพัฒนาร่วมกัน

⦁ เน้นให้คนในองค์กรหรือหน่วยงานนำหลักปรัชญามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการทำงาน ในการดำเนินงานและการประเมินผลการดำเนินงานตามหลักปรัชญา ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่ในการกำกับ การดำเนินงาน และการประเมินผล

⦁ การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การจัดสรรกำลังคนให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพ การสร้างบรรทัดฐานและค่านิยมให้สอดคล้องกับหลักปรัชญา การวางแผนพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีขีดความสามารถตามเป้าประสงค์ขององค์กร การปลูกฝังแนวคิดตามหลักปรัชญา เป็นต้น

2) การประยุกต์ใช้ในแต่ละหลัก ดังนี้

⦁ มีความพอประมาณ อาทิ

การตั้งเป้าหมายในการบริหารงานต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป ไม่สุดโต่ง / การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรหรือหน่วยงานต้องเป็นไปในแนวทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่า โดยใช้หลักความพอประมาณในการลงทุนภาครัฐ / การใช้ทรัพยากรทุกภาคส่วนที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

⦁ ความมีเหตุผล อาทิ

การจัดทำแผนงานและโครงการที่มีความเป็นไปได้ ตามงบประมาณที่มีอยู่หรือคาดว่าจะได้รับ / ใช้งบประมาณตามแผนโดยประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย และมีความคุ้มค่า / มีการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบและมีความยั่งยืน โดยอาศัยหลักวิชาการต่างๆ เป็นต้น

⦁ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี อาทิ

มีระบบติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการที่ดำเนินการ / มีแผนบริหารหรือลดความเสี่ยงในการดำเนินงาน / มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าประสงค์ให้เกิดความมั่นคง สมดุล และยั่งยืน เป็นต้น

⦁ การมีความรู้ อาทิ

เข้ารับการฝึกอบรมและสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ภายในองค์กร/หน่วยงาน / มีการบูรณาการภารกิจ หรือแผนงาน/โครงการ ทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน/องค์กร / มีการวิจัยและพัฒนาองค์กรตามความจำเป็น เป็นต้น

⦁ การมีคุณธรรม อาทิ

การบริหารงานและการจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความซื่อสัตย์สุจริต การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชน การมีและการใช้กฎระเบียบที่มีความเป็นธรรม ฯลฯ / การบริหารงานและปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล / การเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ยึดผลสัมฤทธิ์เป็นหลัก เป็นต้น

องค์กรหรือหน่วยงานมีการบริหารงานและปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่มีความต่อเนื่อง ผนึกกำลังให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามแผนงานอย่างแท้จริง เป็นต้น

แนวทางการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในภาคธุรกิจเอกชน

1) การประยุกต์ใช้ในภาพรวมของการดำเนินธุรกิจ อาทิ

⦁ ในการบริหารจัดการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นในองค์กรทางธุรกิจเพื่อกำกับการดำเนินงานตามหลักปรัชญา และทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลด้วย

⦁ มุ่งดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์ ผลตอบแทน หรือกำไรในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น

⦁ แสวงหาผลตอบแทนบนพื้นฐานของการแบ่งปันตามความเหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งลูกค้า คู่ค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้บริโภค

⦁ ขยายธุรกิจและการตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีการเรียนรู้การผลิต การตลาด และศึกษาคู่แข่งอย่างถ่องแท้

⦁ ผลิตในสิ่งที่ตนเองถนัดหรือชำนาญ และทำตามกำลังหรือศักยภาพของตนเอง

⦁ มีความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อสังคมและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

2)การประยุกต์ใช้ปรัชญาในแต่ละหลัก
⦁ มีความพอประมาณ อาทิ

มุ่งดำเนินธุรกิจที่หวังผลประโยชน์หรือผลตอบแทนในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น บนพื้นฐานของการแบ่งปันและมุ่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้รับผลประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม / มุ่งบริหารจัดการทั้งการผลิตและการตลาดโดยการพึ่งพาตนเองและหน่วยงานภายนอกที่เป็นพันธมิตรกัน / ขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามความถนัดหรือเชี่ยวชาญของตนเอง เป็นต้น

⦁ ความมีเหตุผล อาทิ

มีระบบงานและการพัฒนาที่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศไทย (ภูมิประเทศของบริเวณนั้น เช่น ดิน น้ำ ป่า เขา ฯลฯ และนิสัยใจคอของผู้คนตลอดจนวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่น) / จัดโครงสร้างองค์กรที่มีความพอเพียงและเรียบง่าย / ไม่ส่งเสริมให้คนในองค์กรมีพฤติกรรมแบบบริโภคนิยมหรือไม่พอเพียง / ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจ / มีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าและประหยัด / มีการวิจัยและพัฒนาธุรกิจของตนเอง เป็นต้น

⦁ การมีภูมิคุ้มกัน อาทิ

ใช้เทคโนโลยีที่เกิดจากภูมิปัญญาภายในธุรกิจของตนเองหรือภายในท้องถิ่น ในการพัฒนาธุรกิจ / พัฒนานวัตกรรมในทุกมิติขององค์กร ไม่ว่าด้านการผลิต การตลาด หรือการบริการที่เกี่ยวข้อง / บริหารความเสี่ยงด้วยการลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การตลาดที่หลากหลาย เป็นต้น

⦁ การมีความรู้ อาทิ

การฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ ให้แก่พนักงาน / การส่งเสริมให้พนักงานรู้ข้อมูลข่าวสาร ด้านการผลิตและการตลาด / การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และการให้บริการของธุรกิจ เป็นต้น

⦁ การมีคุณธรรม อาทิ

ให้อิสระกับพนักงานให้ทำหน้าที่หรือปฏิบัติงานตามศักยภาพของพนักงาน / ดูแลสวัสดิการและค่าจ้างของพนักงานให้มีความเหมาะสมกับการครองชีพ และเป็นธรรม / ส่งเสริมวัฒนธรรมขององค์กรให้มีจริยธรรม คุณธรรม ความอดทน ขยันหมั่นเพียร และความซื่อสัตย์สุจริต เป็นค่านิยมพื้นฐาน

ส่งเสริมและสนับสนุนให้การดำเนินงานของธุรกิจและพนักงานมีความต่อเนื่องและเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของธุรกิจ โดยมีการติดตามและประเมินผลเป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image