ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ : ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น… โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

แฟ้มภาพ

ความสับสนอลหม่านของการแก้ปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวในเมืองไทยยังดำเนินต่อไป แต่เหมือนจะมีทางออกแบบไทยๆ คือการใช้มาตรา 44 ชะลอปัญหาเอาไว้ก่อน

อธิบายง่ายๆ คือ ออกกฎหมายที่เพิ่มโทษการค้ามนุษย์ และการจ้างแรงงานที่ผิดกฎหมายขึ้น ด้วยช่องทางเร่งด่วน คือ พ.ร.ก. (การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560) ไม่ใช่ พ.ร.บ.ที่ต้องมีการถกเถียงอภิปรายในสภา (แม้ว่าสภาในวันนี้จะไม่ใช่สภาที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ยังมีเอ็นจีโอจำนวนหนึ่งอยู่ในนั้นที่น่าจะพอสะท้อนปัญหาได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งระบบกรรมาธิการต่างๆ ที่ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนในระดับหนึ่ง)

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการเพิ่มโทษแก่แรงงานต่างด้าวเถื่อน โดยเฉพาะกับนายจ้าง และมีการเพิ่มค่าธรรมเนียมในการลงทะเบียนรวมทั้งต่ออายุแรงงาน

โดยภาพรวมคงไม่มีใครคิดว่าเรื่องการเข้มงวดกวดขันและจัดระบบแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในหน้าข่าวคือการทยอยกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวจำนวนมหาศาล (ย้ำว่ามหาศาล) จนสร้างแรงสะเทือนให้เกิดการต้องตอบคำถามของรัฐบาลไทย และเกิดการประกาศใช้มาตรา 44 งดเว้นการใช้กฎหมายยาแรงนี้ชั่วคราว (ขยายเวลาการบังคับใช้)

Advertisement

สิ่งที่น่าสังเกตคือ ลักษณะโอละพ่อ หรืออิหลักอิเหลื่อแบบนี้ของรัฐบาลไทยไม่ได้ส่งผลดีในระยะสั้นและยาวใดๆ ทั้งนั้น จะมีการกลับลำทางกฎหมายและนโยบายอีกครั้งหรือไม่อันนี้ก็ตอบได้ยาก แต่ถ้ายังจำได้ ตอนที่รัฐบาลนี้ยึดอำนาจใหม่ๆ ก็เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้มาหนึ่งรอบแล้ว จนรัฐบาลต้องผ่อนปรนกับมาตรการแรงงานต่างด้าวที่ชายแดนเมื่อสามปีก่อน

เรื่องต่อมา การพยายามแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวในรอบนี้ ดูไม่ใช่เรื่องของแรงกดดันภายในประเทศที่จะผลักดันแรงงานออกจากประเทศ กล่าวคือ ไม่ได้เกิดจากการเคลื่อนไหวและวาทกรรมชาตินิยมของแรงงานในประเทศ หรือความเร่งด่วนจากนโยบายความมั่นคงและความเสื่อมโทรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจนจะต้องมีการปิดชายแดนแต่อย่างใด

ส่วนหนึ่งของแรงกดดันก็คือ ระบบ “การทูตเชิงรุกและรูปธรรม” จากสหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกที่ใช้ระบบโลกบาลแบบใหม่ ในรูปแบบของการผลักดันการยกระดับมาตรฐานแรงงานของผู้คนในแต่ละประเทศให้ได้มาตรฐานเดียวกัน ทั้ง TIP Report ของสหรัฐ (Trafficking in Persons Report) และ IUU ของสหภาพยุโรป (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) การทำประมงที่ผิดกฎหมาย และไม่ลงทะเบียน)

Advertisement

ใครจะโวยวายว่านี่คือระบบจักรวรรดินิยมใหม่หรืออย่างไร แต่อย่างน้อยประเทศเหล่านั้นเขาก็มีสิทธิที่จะตั้งมาตรฐานสินค้าเข้าประเทศเขา ถ้าเราไม่ผ่านเราก็จะเสียสิทธิในการเข้าไปแข่งขันกับประเทศเขา ที่สำคัญการตั้งมาตรฐานที่คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นในการผลิตสินค้า โดยเฉพาะเน้นที่คุณภาพชีวิตของแรงงานนั้นมักจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนของประเทศที่ตั้งมาตรฐานเป็นอย่างดี

ภายใต้แรงกดดันของมาตรฐานโลกที่เน้นเรื่องการดูแลชีวิตคนที่ร่วมผลิตสินค้า ไม่ใช่ดูแต่เครื่องจักร และคุณภาพวัตถุดิบอื่นๆ นี้เอง ที่ทำให้ประเทศไทยมักจะหนาวๆ ร้อนๆ และสอบตก

สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ก่อนหน้าที่จะมีการออก พ.ร.ก.บริหารแรงงานต่างด้าว และภาพคลื่นแรงงานอพยพกลับบ้าน จนทำให้กิจการของไทยสะดุด สิ่งที่เกิดใกล้ๆ กันก็คือ การประกาศผล TIP Report (รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ประจำปี 2560) ของสหรัฐที่คงสถานะว่าประเทศไทยยังมีสถานะเป็น “กลุ่มสองเฝ้าระวัง” เป็นปีที่สอง

ขณะที่รัฐบาลไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป รวมทั้งจะร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ที่ให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง รัฐบาลไทยอ้างว่าการที่สหรัฐอเมริกาคงสถานะประเทศไทยที่ “เทียร์ 2 เฝ้าระวัง” นั้น ไม่สะท้อนและไม่สอดคล้องต่อความพยายามอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมทั้งความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ทางการไทยได้สร้างขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบ การดำเนินคดีผู้กระทำผิดและเจ้าหน้าที่ผู้ทุจริต การป้องกันผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อ การคุ้มครองเหยื่อและพยาน และการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ

ขณะที่รายงานฉบับแปลภาษาไทยของสหรัฐอเมริกายังไม่ออก (ติดตามได้จากเว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐ) ขออนุญาตนำประเด็นในรายงานฉบับดังกล่าวมาอภิปรายในบางประเด็น

กล่าวคือ ถ้าพิจารณาสารที่สำคัญของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐในการส่งถึงรัฐบาลไทยนั้นจะพบว่าสหรัฐนั้นไม่ได้ให้คะแนนรัฐบาลไทยจาก “ความพยายาม” แบบที่รัฐบาลไทยพยายามชี้แจง แต่สหรัฐอเมริกาพยายามตรวจสอบรัฐบาลไทยผ่าน “ผลงาน”

พูดง่ายๆ คือ ไปสัญญา ไปออดอ้อนรัฐบาลเขาแบบเดียวกับที่ทำกับประชาชนไทยไม่ได้หรอกครับ ต้องโชว์ผลงาน ทีนี้จะมองว่าสหรัฐนั้นให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาลไทยแค่ไหนก็ต้องเถียงกันไป เพราะสหรัฐเขาใช้เงื่อนไขสองข้อหลักเป็นอย่างน้อยในการประเมินผลงาน (ย้ำว่าเขาไม่ได้ประเมินความพยายาม) หนึ่งคือ เขาจะมาตรวจในช่วงมกราคมถึงมีนาคม และสองเขาก็นับตัวเลขกรณีที่จับได้หรือไม่

ทีนี้เลขกรณีคดีการค้ามนุษย์ต่างๆ มันลดลง แต่ปัญหาที่เขาพบนั้นมันก็มากขึ้น เขาเลยยังไม่เลื่อนสถานะเราขึ้น ซึ่งถ้าจะมองในแง่ดีอีกอย่างคือ เขาอาจจะเห็นใจในความพยายามนั้นแหละครับ เขาถึงไม่เอาเราลงไปที่ขั้นสาม (ก็บุญแล้ว)

ใช่ว่าทางสหรัฐในฐานะผู้ประเมินจะไม่เห็นว่ามีการพยายามแก้ไขกฎหมายมากมายและการจัดการดำเนินคดีผู้กระทำผิด แต่เงื่อนไขที่สำคัญที่ไทยสอบตกอีกประการหนึ่งก็คือการคอร์รัปชั่น และการที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการการค้ามนุษย์นี่แหละครับ

ในแง่นี้ผมคิดว่า ความซับซ้อนของปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาที่มันจะสร้างความยากลำบากให้กับประเทศไทยมันอยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะว่ารัฐนั้นสามารถจัดการเพิ่มโทษให้กับแรงงานและนายจ้างเท่าไหร่ก็ได้ เพราะรัฐออกกฎหมายเอง แต่จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาประสิทธิภาพของรัฐที่จะต้องมีมิติของการถูกตรวจสอบได้

จะเห็นว่าในรายงานนั้น ไม่ใช่แค่สหรัฐอเมริกามานั่งเต้าข้อมูลเอง แต่เขาให้น้ำหนักของข้อมูลจากการตรวจสอบของเขาเอง จากข้อมูลราชการและจากข้อมูลของเอ็นจีโอทั้งในและนอกประเทศที่ทำงาน ขณะที่เมื่อรัฐบาลไทยรับรู้ปัญหานั้นอาจจะไม่ให้ความสำคัญกับ ข้อมูลอื่นๆ นอกจากข้อมูลของรัฐเอง

คำถามก็คือ ภายใต้ระบบรัฐราชการแบบที่เป็นอยู่นี้จะมีการตรวจสอบประเมินได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการค้ามนุษย์ เพราะกระบวนการเช่นนี้ในความเป็นจริงเป็นกระบวนการที่ไม่ได้เกิดจากการหลบเลี่ยงกฎหมายแบบง่ายๆ

แต่เป็นกระบวนการที่คนใช้กฎหมายเองมีส่วนรู้เห็นเป็นใจมาโดยตลอด

ในรายงานฉบับนี้หลายกรณีที่ทำให้เราเชื่อได้ว่า ความพยายามในการจัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้นยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่สหรัฐอยากให้เป็น (ถ้าเราไม่แคร์ก็เรื่องหนึ่ง) เช่นการพูดในทำนองว่า คดีมีมากมาย แต่จับเจ้าหน้าที่ไม่ได้มากนัก และที่ดำเนินคดีมีไม่กี่ราย ที่หลุดมีมาก ซึ่งมันค้านกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น
ระบอบเผด็จการมันก็มีปัญหาแบบนี้แหละครับ เที่ยวไปตรวจสอบคนอื่นหมด ตัวเองใครจะมาตรวจสอบถ้าไม่ใช่ต่างประเทศ

พูดแบบนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยจะดีกว่า เพราะประชาธิปไตยที่ไร้คุณภาพก็ทำให้คนกำหนด นโยบายและระบบราชการนั้นรวมตัวกันหนีการตรวจสอบจากประชาชนได้เช่นกัน

การแก้ปัญหาจึงควรจะคิดถึงระบบการตรวจสอบที่เป็นกลางและได้รับการเชื่อถือศรัทธาและมีส่วนร่วมกับประชาชนด้วย อย่างในกรณีแรงงานนี้ ก็ควรจะเริ่มคิดทำอะไรมากขึ้นกว่าจะไปเน้นแต่การเพิ่มโทษกับนายจ้าง และแอบเพิ่มต้นทุนให้กับนายจ้างในการลงทะเบียนเข้าไปอีก

จุดแข็งของการจ้างแรงงานต่างด้าวคือราคาถูกกว่าแรงงานไทย ดังนั้นยิ่งเพิ่มต้นทุนในการเข้าระบบ นายจ้างย่อมจะพิจารณาว่าเขาจะเลี่ยงกฎหมายแล้วจ่ายให้เจ้าหน้าที่ดีกว่าไหม เรื่องราวของการคำนวณอย่างมีเหตุผลแบบง่ายๆ เช่นนี้จึงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เกิดการแสวงหาค่าเช่าของเจ้าหน้าที่รัฐจากเงินนอกระบบอยู่เป็นประจำ เริ่มตั้งแต่อำนวยความสะดวกเล็กๆ น้อยๆ นั่นแหละครับ

ดังที่สหรัฐอเมริกาได้กล่าวไว้ในรายงานแหละครับว่า ต่อให้พยายามแค่ไหน การคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่นั่นแหละที่ขัดขวางความพยายามของรัฐเอง

อีกเงื่อนไขหนึ่งที่น่าสนใจแต่เราไม่ให้ความสนใจในสื่อไทยก็คือ สหรัฐใช้ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งว่าคุณภาพชีวิตของแรงงานนั้นดีไหม ผ่านการพิจารณาว่าแรงงานต่างด้าวนั้นไม่มีสิทธิรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงาน

ขณะที่ในเมืองไทยนั้น รัฐบาลไทยเน้นนำเสนอความพยายามผ่านการเปลี่ยนกฎหมายและการเพิ่มโทษ แต่สหรัฐและอีกหลายประเทศในโลกนั้นให้ความสำคัญกับการ “เพิ่มอำนาจต่อรอง” ให้กับแรงงานและความมั่นคงในความเป็นมนุษย์มากกว่าการเพิ่มโทษและการควบคุมเพื่อความมั่นคงของรัฐ (จะว่าไปรัฐไทยนั้น “หมกมุ่น” กับการพยายามควบคุมคนต่างด้าวมาตั้งแต่อดีต จะเห็นได้จากการพัฒนาระบบบัตรสีต่างๆ มาตั้งหลายสิบปี ยิ่งทำก็ยิ่งปวดหัวนั่นแหละครับ ยิ่งทำก็มีช่องให้ทุจริตตามมาด้วย)

ไม่นับเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่เรายังไม่ได้สร้างความประทับใจให้กับสหรัฐก็คือการคัดแยกเหยื่อของการค้ามนุษย์ออกจากผู้ที่อยู่ในสถานะเปราะบางต่างๆ ในความหมายง่ายๆ ก็คือ เราพยายามแก้ไขปัญหาแต่เพิ่มปัญหามากขึ้น เช่น ไล่จับการค้ามนุษย์โดยจับกุมทุกคนที่ผิดกฎหมาย แล้วยิ่งทำให้คนที่ผิดกฎหมายทั้งหมดถูกนำไปทิ้ง ถูกส่งกลับ ถูกผลักดันกลับประเทศแบบทิ้งๆ ขว้างๆ สุดท้ายเป้าหมายที่เขาต้องการคือการยกระดับความเป็นมนุษย์ ก็ถูกตีความว่าเป็นเรื่องการเคารพกฎหมายและความมั่นคง

ยิ่งมีเรื่องราวที่คนเหล่านี้พลัดที่อยู่ กลับไปก็ไม่มีอนาคต กลับมาก็ผิดกฎหมาย พวกเขาก็ต้องดิ้นรนเอาตัวรอด เมื่อเอาตัวรอดก็ต้องข้องเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ที่เลวร้ายขึ้น (อธิบายง่ายๆ คือ การจัดหา การขนส่ง การส่งต่อ การจัดให้อยู่อาศัยหรือการรับไว้ซึ่งบุคคลด้วยวิธีการขู่เข็ญ หรือด้วยการใช้กำลัง หรือด้วยการบีบบังคับในรูปแบบอื่นใด ด้วยการลักพาตัว ด้วยการฉ้อโกง ด้วยการหลอกลวงด้วยการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือด้วยการใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้ามนุษย์โดยมิชอบ หรือมีการให้ หรือรับเงิน หรือผลประโยชน์เพื่อให้ได้มาซึ่งความยินยอมของบุคคลผู้มีอำนาจ ควบคุมบุคคลอื่นเพื่อความมุ่งประสงค์ในการแสวงประโยชน์ การแสวงประโยชน์อย่างน้อยที่สุด ให้รวมถึงการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีของบุคคลอื่นหรือการแสวงประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การเอาคนลงเป็นทาสหรือการ
กระทำอื่นเสมือนการเอาคนลงเป็นทาส การทำให้ตกอยู่ใต้บังคับ หรือการตัดอวัยวะออกจากร่างกาย การหลอกโดยไม่เต็มใจ-ซึ่งกินความกว้างไปในทุกเรื่อง) ปัญหาก็ยิ่งเลวร้ายไปอีก

มันก็จะวนกลับมาสู่การประเมินในปีต่อไป คือเขาคงไม่ได้ดูง่ายๆ ว่าเราผลักดันคนผิดกฎหมายออกนอกประเทศไปได้กี่คน แต่ถ้ากรณีที่เจอในปีหน้ามันยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม เพราะกฎหมายมันเข้มงวดขึ้น แต่การจับกุมการคอร์รัปชั่นจากเจ้าหน้าที่ยังไม่เป็นที่พอใจ ปัญหาก็จะซับซ้อนขึ้น เหยื่อในกระบวนการก็จะยิ่งโดนกระทำมากขึ้นเพราะระบบมันจะเลวร้ายขึ้น ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูดี แต่ถ่างห่างจากความเป็นจริงที่ทับถมเอาไว้

เมื่อความต้องการแรงงานมีมาก กฎระเบียบหนาแน่น เศรษฐกิจไม่ดี ถ้าจ้างแพงคนก็ไม่ซื้อสินค้าและบริการ ความซับซ้อนของปัญหาย่อมจะมีมากขึ้น และสถานะของการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ก็จะดีขึ้นมาได้ยาก

ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็อยู่ที่นั่น หากไม่พยายามเข้าใจสารที่คนตั้งโจทย์เขาพยายามบอกเรา

ส่วนจะไม่ทำซะเลยก็เอาที่สบายใจครับ ของแบบนี้เตือนกันไม่ค่อยจะได้ หากมองว่าคำแนะนำต่างๆ นั้นเป็นเรื่องทางการเมือง หรือเป็นพวกไม่หวังดีต่อชาติบ้านเมืองไปเสียทั้งหมด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image