ปฏิรูปตำรวจอีกแล้ว โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ในที่สุดเราก็ได้คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจอีกชุดหนึ่ง เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ี มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจขึ้นมีจำนวน 36 คน โดยมี พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อของกรรมการแล้วจะเห็นว่าเป็นนายตำรวจทั้งในและนอกราชการ 15 คน ผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่ใช่ตำรวจ 15 คน ในจำนวนนี้เป็นนายทหาร 2 คน และข้าราชการพลเรือนโดยตำแหน่ง 5 คน

ก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ.2549 ได้เคยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจที่แต่งตั้งโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น และต่อมาในปี พ.ศ.2453 ก็ได้มีคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจอีกคณะหนึ่ง ซึ่งแต่งตั้งโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ตั้งผมให้เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ คณะกรรมการชุดนั้นมีจำนวน 28 คน งานที่คณะกรรมการชุดนั้นทำแม้จะใช้เวลาเพียง 1 ปี แต่ผมก็เห็นว่าเป็นงานที่สมบูรณ์ คณะกรรมการได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือคณะกรรมการได้จัดให้มีการรับฟังความเห็นของตำรวจทั้งประเทศ รวมทั้งนายตำรวจชั้นประทวน (ยศดาบตำรวจ ลงไปจนถึงสิบตำรวจตรี) ด้วย คณะกรรมการได้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ.2547 เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นและข้อยุติเกี่ยวกับการปฏิรูปของคณะกรรมการ นอกจากนั้นยังได้ร่างพระราชบัญญัติ
คณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และได้เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปรากฏว่ายังไม่ทันที่จะได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับสภาก็หมดอายุลงเสียก่อน

Advertisement

คณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจที่ตั้งขึ้นในสมัยของรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะนั้น คุณอภิสิทธิ์ได้ตั้งให้ผมเป็นประธาน และได้อาศัยผลงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจเป็นแนวทาง แต่เนื่องจากรัฐบาลชุดนั้นเป็นรัฐบาลผสม และเห็นได้ชัดว่าหากเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติตำรวจ พ.ศ.2547 และร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจเข้าไปอีก อย่างไรเสียก็คงไม่ทัน เพราะรัฐบาลไปกำหนดเวลาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในหนึ่งปี

เพราะฉะนั้นคณะกรรมการจึงหยิบเฉพาะบางปัญหาที่นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติสามารถแก้ไขได้ เช่นการเพิ่มสัดส่วนของตำแหน่งโดยพิจารณาอาวุโสจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 33.5 ส่วนปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นต้องรอไว้ก่อน

จากรายชื่อของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ตั้งขึ้นครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมนี้ ปรากฏว่ามีผู้ที่เคยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในคณะกรรมการพัฒนางานตำรวจสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะกรรมการปฏิรูประบบงานตำรวจในสมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อยู่หลายคน อาทิ พล.ต.อ.เอก อังศนานนท์ ศาสตราจารย์ ศุภชัย ยาวะประภาษ รองศาสตราจารย์ทศพร จารุจินดา และอาจารย์อมร วานิชวิวัฒน์ เป็นต้น ท่านเหล่านี้จึงน่าจะคุ้นเคยและเข้าใจผลงานของคณะกรรมการทั้งสองคณะอยู่แล้ว ผลงานของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจนั้น กระทรวงยุติธรรมในสมัยนั้นได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นเอกสาร 14 เล่ม แจกจ่ายไปทั่วประเทศ เอกสารแต่ละเล่มว่าด้วยแง่มุมต่างๆ ของการพัฒนาหรือปฏิรูปในทรรศนะของคณะกรรมการอย่างพิสดาร คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจสามารถจะหยิบไปใช้เป็นแนวทางในการพยายามปฏิรูปครั้งใหม่นี้ได้ทันที

Advertisement

ผมเชื่อว่าในคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ตั้งขึ้นครั้งหลังสุดนี้ ย่อมมีกรรมการที่ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิรูปตำรวจเป็นธรรมดา แต่ก็หวังว่าท่านจะทำใจให้เปิดกว้างและแลเห็นว่าประชาชนกำลังเรียกร้องให้มีการปฏิรูป ตำรวจ และหวังด้วยว่ากรรมการที่ไม่เห็นด้วยจะทำหน้าที่ของท่านโดยปราศจากอคติ

อุปสรรคที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเนื่องมาจากการขัดขวางของผู้ไม่เห็นด้วย หรือจากการที่คณะกรรมการมีเวลาจำกัดจนไม่สามารถจะทำงานให้สำเร็จ ภายในระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ย่อมทำให้การปฏิรูปตำรวจล่าช้า เนิ่นนานออกไปอีก และผู้ที่จะต้องรับเคราะห์จากระบบงานตำรวจที่บกพร่องไม่สมบูรณ์ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากเป็นประชาชนนั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image