พระพุทธศาสนายังมั่นคง แต่ชาวพุทธเริ่มหมดศรัทธาสถาบันสงฆ์ : โดย ผดุง จิตเจือจุน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนาขึ้นในประเทศอินเดียและเจริญรุ่งเรือง ภายหลังพุทธกาล พระพุทธศาสนาก็ยังยั่งยืนมั่นคงเรื่อยมา จนถึงราว พ.ศ.1255 ก็ถูกศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูรุกราน และยังถูกมุสลิมอาหรับยกทัพเข้ามาบุกทำลายเผาเมืองวลภี และมหาวิทยาลัยวลภี แห่งแรกของพระพุทธศาสนาจนพินาศสิ้น

ต่อมาเมื่อราว พ.ศ.1331-1363 พระพุทธศาสนาเริ่มสั่นคลอน เมื่อศังกราจารย์ นักปราชญ์ของศาสนาฮินดูคนหนึ่ง ได้สร้างหลักคำสอนใหม่ขึ้นมาเพื่อดึงดูดชาวพุทธเข้าศาสนาฮินดู และได้ใช้กุศโลบายเชิดชูพระพุทธเจ้าเป็นปางอวตารของพระนารายณ์เป็นเครื่องล่อใจ จนชาวพุทธหันมานับถือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าไปด้วย เป็นการดูดกลืนชาวพุทธเข้าศาสนาฮินดูได้อย่างแนบเนียน

ในระหว่าง พ.ศ.1350-1400 กองทัพมุสลิมได้รุกรานเข้ามาเผาทำลายมหาวิทยาลัยนาลันทา พระพุทธศาสนาเริ่มอ่อนแอ เมื่อเกิดนิกายตันตระ ถือว่าการเสพกามเป็นข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงพระนิพพาน พระสงฆ์ต่างทิ้งคำสอนของพระพุทธองค์ไปยึดหลักคำสอนของตันตระ และนิกายตันตระได้ไปผสมกลมกลืนไปกับศาสนาฮินดู จนในที่สุดพระสงฆ์ก็ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในศาสนาฮินดู

เมื่อมาถึง พ.ศ.1741-1750 กองทัพมุสลิมเติร์กบุกรุกและเข้าครอบครองดินแดนอินเดีย พระภิกษุสงฆ์องค์ใดไม่ยอมเปลี่ยนศาสนาจากพุทธมาเป็นอิสลาม ก็จะถูกสังหาร มหาวิทยาลัยทุกแห่งถูกเผาทำลายเรียบ และถูกกวาดขนเอาทรัพย์สินไปจนเกลี้ยง นับจากนั้นมาพระพุทธศาสนาต้องสูญสิ้นจากอินเดียไปนานถึง 700 ปี

Advertisement

ครั้นเมื่อถึง พ.ศ.2434 อนาคาริก ธรรมปาละ ชาวลังกานับถือพุทธ และรู้ว่าพระพุทธศาสนาถูกภัยเบียดเบียนต่างๆ จนอ่อนแอและทรุดโทรม จึงได้ตั้งปณิธานที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ได้เดินทางไปประเทศอินเดียและได้ทำการกอบกู้พระพุทธศาสนาที่สูญไปจากอินเดียนานถึง 7 ศตวรรษ ฟื้นฟูกลับขึ้นมารุ่งเรืองใหม่อีกครั้งหนึ่งในอินเดีย

จนมาถึง พ.ศ.2499 พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรือง และมีผู้คนหันมานับถือพระพุทธศาสนากันมากขึ้น เมื่อ ดร.อัมเบดการ์ เกิดในตระกูลวรรณะศูทร สิ้นหวังต่อระบบวรรณะของศาสนาฮินดู จึงได้ตัดสินใจละทิ้งศาสนาฮินดู และนำคนวรรณะศูทรประมาณ 200,000 คน ประกอบพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ เรียกกลุ่มตัวเองว่า “กลุ่มพุทธดาริต” ด้วยเห็นว่าพุทธศาสนาให้ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสการศึกษาแก่คนทุกวรรณะ

นับได้ว่า ดร.อัมเบดการ์เป็นผู้ฟื้นพุทธศาสนาขึ้นมาต่อจาก อนาคาริก ธรรมปาละ คนอินเดียต่างพากันยกย่องและนับถือท่านราวเทพเจ้าองค์หนึ่งของอินเดีย ที่ช่วยปลดแอกวรรณะศูทรจากการถูกกดขี่มาหลายพันปีและเป็นบุคคลยิ่งใหญ่ รองจากท่านมหาตมะ คานธี มหาบุรุษของประเทศอินเดีย

Advertisement

ครั้นต่อมา เมื่อพระพุทธศาสนาได้เข้ามาประเทศไทย สมัยสุโขทัย รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วัดวาอารามเจริญรุ่งเรือง จนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา เรื่อยมาจนถึงในราชวงศ์จักรี วัตรปฏิบัติพระสงฆ์เริ่มหย่อนยาน ไม่เคร่งครัดวินัย พระสงฆ์เริ่มจับเงินทองและสะสมทรัพย์สินกัน

พอมาถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นพระสงฆ์ประพฤติปฏิบัติย่อหย่อนในวินัยจึงตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นมา และมีวินัยข้อหนึ่งซึ่งเข้มงวดมากเป็นพิเศษ คือการไม่จับหรือแตะต้องเงินทอง ด้วยทรงเห็นว่าการสะสมเงินทองนั้นเป็นโทษแก่สมณเพศอย่างยิ่ง

พระพุทธองค์ตรัสก่อนจะปลงสังขารว่า พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน ก็ต่อเมื่อสาวกของพระองค์ได้ศึกษาธรรมจนแตกฉาน เป็นพหูสูตปฏิบัติตามคำสอน มีความสามารถในการถ่ายทอดสอนคนอื่นได้ ซึ่งพระสาวกของพระองค์จะช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ท่ามกลางความศรัทธาของประชาชนได้

แต่ในปัจจุบันนี้ มีพระสงฆ์ส่วนน้อยที่ได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ แต่พระสงฆ์ส่วนใหญ่วัตรปฏิบัติย่อหย่อนในพระวินัย หลงติดในลาภยศ สรรเสริญ ความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทอง มีชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ละเลยการศึกษา ละเลยการออกให้การศึกษาและช่วยเหลือชาวบ้านตามชุมชน

ย้อนไปราว พ.ศ.2490 สมัยที่ผู้เขียนยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ตื่นเช้าขึ้นมาจะเห็นพระสงฆ์หลายรูปอุ้มบาตรเดินกันมาอย่างสงบและเป็นแถว โปรดสัตว์ให้ชาวบ้านได้ตักบาตร แม้จะเป็นงานศพ งานทำบุญบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานพิธีอื่นๆ พระสงฆ์จะเดินเท้ามาที่บ้านเจ้าภาพเองโดยไม่รบกวนเป็นภาระกับเจ้าภาพงาน สมัยก่อนชาวบ้านจึงศรัทธาพระสงฆ์มาก จะออกมาพบพูดคุยให้ความรู้กับชาวบ้าน เป็นผู้นำในการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในท้องถิ่น สร้างถนนเข้าหมู่บ้าน ขุดบ่อ สระน้ำ และสร้างศาลาที่พักริมทาง ฯลฯ

แต่สถาบันสงฆ์ในปัจจุบันนั้น พระไพศาล วิสาโล ได้บรรยายเรื่อง “พระพุทธศาสนาไทยในอนาคต” ไว้ว่า สถาบันสงฆ์ตอนนี้ขาดความเข้มแข็ง 3 อย่าง คือ 1.ขาดความเข้มแข็งทางด้านจริยธรรม ยังมีพระบิณฑบาตอยู่กับที่ เมื่อพระสงฆ์ทำผิด ก็จะช่วยปกปิดช่วยเหลือกัน 2.ขาดความเข้มแข็งทางด้านสติปัญญา พระส่วนมากไม่สามารถนำพาญาติโยมไปสู่สิ่งดีงามได้ และไม่สามารถตอบปัญหาชีวิตชาวบ้านได้ และ 3.ความอ่อนแอทางด้านจิตวิญญาณ พระส่วนใหญ่ตกอยู่ภายใต้ระบบบริโภคนิยม มีการไล่ล่าสมณศักดิ์ หรือหารถประจำตำแหน่ง

ทั้ง 3 อย่างคือสาเหตุการเสื่อมศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันสงฆ์ และหันตัวเองไปพึ่งพาโชค ดวงชะตา เทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนลืมหลักกรรมที่ไม่เอาการกระทำของตนเองเป็นหลัก ยามพระพุทธศาสนาถูกกระทบกระเทือน ประชาชนก็นิ่งเฉยไม่ช่วยกันปกป้อง กอปรกับชาวพุทธใจกว้างกับศาสนาอื่น จนลืมหลักการตนเอง เลยถูกกลืนเข้าศาสนาเขาไปในที่สุด

นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่ความอ่อนแอจนพระพุทธศาสนาเริ่มขาดความมั่นคงลงไปเรื่อยๆ

การจะดึงประชาชนชาวพุทธที่เสื่อมศรัทธาต่อสถาบันสงฆ์ในปัจจุบัน กลับมาศรัทธาเข้าวัดและพระสงฆ์ดังเดิม ขึ้นอยู่กับความประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ ซึ่งจะช่วยดำรงสถาบันพุทธศาสนาได้อยู่อย่างมั่นคง จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปพระสงฆ์อย่างเร่งด่วน ให้มีวัตรปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์

ที่ทรงมุ่งหมายให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาธรรมจนแตกฉาน เป็นพหูสูตปฏิบัติตามคำสอน มีความสามารถในการถ่ายทอดสอนคนอื่นได้ และเป็นแบบอย่างที่ดีงามให้ประชาชนศรัทธายึดเป็นที่พึ่งได้

รวมทั้งวัตรปฏิบัติไม่ให้ย่อหย่อนในพระวินัย ไม่หลงติดในลาภยศ สรรเสริญ ความร่ำรวยในทรัพย์สินเงินทอง ไม่ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ ความเป็นอยู่ของพระต้องสมถะ สันโดษ ภายในกุฏิต้องไม่ใช่เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต สะสมสิ่งของอุปโภค บริโภค เกินฐานะความจำเป็นของสมณเพศ

การที่มีหมู่บ้านถือศีล 5, การให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจลาไปปฏิบัติธรรม, การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน, การจัดอบรมธรรมะภาคฤดูร้อนแก่เยาวชน นักเรียน นักศึกษา หรือการเผยแผ่พระธรรมตามสื่อต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ดี ควรกระทำต่อเนื่องกันทุกปี และขยายเครือข่ายไปทั่วทั้งประเทศ

แต่กิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวที่ได้กระทำไปนั้น จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับการปฏิรูปสถาบันสงฆ์ด้วย แต่ตราบใดสถาบันสงฆ์ยังเป็นอยู่แบบเดิม ไม่มีการปฏิรูป พระสงฆ์เดินซื้อหวย บิณฑบาตเวียนเทียน ดื่มเหล้า มั่วสีกา เสพเมถุน วิ่งเต้นสมณศักดิ์หารถประจำตำแหน่งกันอยู่

ตราบนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่รณรงค์ส่งเสริม ชักจูง อบรม ธรรมะ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ประชาชนที่ทางรัฐและภาคเอกชนร่วมกันทำมาทุกปีก็จะสูญเปล่า เมื่อเขาเหล่านั้นยังเห็นภาพที่ย้อนแย้งกับความเป็นจริง พระสงฆ์มีความประพฤติปฏิบัติไม่เปลี่ยนแปลง ประชาชนก็คงเริ่มหมดศรัทธาสถาบันสงฆ์ ที่ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีงามให้ศรัทธา ทำให้ประชาชนขาดหลักยึดเป็นที่พึ่งได้ พระพุทธศาสนาจะถูกกระทบกระเทือนจนอ่อนแอลง

และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้คนจะประพฤติตนผิดศีลธรรม มัวเมาอบายมุข เยาวชนเสเพล นำไปสู่สังคมของประเทศล่มสลายในที่สุด

ผดุง จิตเจือจุน
วุฒิอาสาธนาคารสมอง จังหวัดสมุทรปราการ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image