ทิศทาง การเมือง ของ ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิใช่ ‘เปรม โมเดล’

ความโน้มเอียง 1 ของบรรดาคอการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ มองเส้นทางไปสู่นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ค่อนข้างสดใส

ใช้สำนวนก็ต้องว่า “ฉลุย”

“กฎเกณฑ์ต่างๆ ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรต่างปูทางให้นายกรัฐมนตรีคนนอกต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น”

เป็นสรุปอย่างรวบรัดจาก นายสุขุม นวลสกุล

Advertisement

“นักการเมืองควรหันมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากเป็นนายกฯ คนนอกผมหวังและอยากเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลตามโมเดลที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยทำไว้ คือ ดึงคนมีความรู้มาช่วยงาน อย่าเลือกแต่ทหารทั้งหมด”

เป็นการมองโลกในแง่ดีจาก นายพิชัย รัตตกุล

คำถามก็คือ หากนี่คือ “เส้นทาง” ที่กำหนดไว้แล้วโดย “รัฐธรรมนูญ” เส้นทางนี้เป็นการเดินไปในแบบที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคยทำและประสบความสำเร็จอย่างนั้นหรือ

Advertisement

ในความเป็นจริงนายกรัฐมนตรี “คนนอก” ก่อนหน้า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างน้อยก็มี 2 คนเป็นตัวอย่าง

1 คือ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร

มาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2519 แล้วก็ต้องถูกโค่นจากรัฐประหารในเดือนตุลาคม 2520

1 คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

การเป็นนายกรัฐมนตรีหนแรกของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ มาจากรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม 2520

จากนั้นก็ผลักดัน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521”

หลังการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 2522 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

คำถามก็คือ แล้วเส้นทาง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นอย่างไร

ต้องยอมรับว่า “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ แสดงบทบาทมีต้นเค้ามาจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521”

โดยเฉพาะการเปิดทางโล่งให้กับนายกรัฐมนตรี “คนนอก”

โดยเฉพาะการกำหนดให้วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

นายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

เมื่อวางพื้นฐานเอาไว้อย่างนี้จึงไม่แปลกที่ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2522 รัฐสภาจะเลือก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

แต่ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็อยู่ได้ไม่นาน

ปลายปีแรงสะเทือนจากวิกฤตน้ำมันโลกส่งผลให้เกิดความไม่พอใจอย่างกว้างขวาง ในที่สุดบรรดาสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็แปรเปลี่ยน

หันไปร่วมมือกับ ส.ส.จากพรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ผลก็คือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ถูกบีบให้ลาออกแล้วรัฐสภาก็เลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เข้ามาแทนที่

“เปรมโมเดล” จึงเริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม 2523

จากนี้จึงเห็นได้อย่างเด่นชัดว่า เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มิได้ดำเนินไปในแบบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อย่างที่มองกัน

หากเป็นเส้นทางในแบบ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์

แม้บรรดานัก “ร่าง” รัฐธรรมนูญต่างหวังว่าช่องโหว่รอยว่างจาก “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521” อาจอุดไว้เรียบร้อยแล้วใน “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560”

แต่กระนั้นก็สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องตามไปดู

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image