เศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2560 : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

เศรษฐกิจของเราผ่านครึ่งแรกของปี 2560 ไปอย่างทุลักทุเล ท่ามกลางข่าวคราวเศรษฐกิจที่ไม่แจ่มใสเอาเสียเลย เริ่มจากตัวเลขจำนวนผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ที่ทยอยกันปิดกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดกลางและธุรกิจขนาดเล็ก ผู้ที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจครึ่งปีหลังของปี 2559 จะฟื้นตัวก็คงเสียหน้ากันทั่วไป จึงพากันเงียบหมด ไม่ออกมาอธิบายว่าทำไมจึงคาดการณ์ผิดแล้วทำการคาดการณ์ใหม่

ตลาดโฆษณาเป็นเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจที่เราสามารถจับต้องได้ง่ายมากๆ โดยสังเกตจากจำนวนป้ายโฆษณาใหญ่ๆ ที่เคยเห็นระเกะระกะทั่วทั้งกรุงเทพฯ ต่างก็หายไป หลายแห่งเหลือแต่เสาขนาดใหญ่กับโครงสำหรับติดป้ายโฆษณา

โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ โทรทัศน์ทุกช่อง ไม่ว่าจะเป็นช่องดั้งเดิมหรือช่องใหม่ หายไปไหนหมด ผู้ที่เข้าประมูลช่องโทรทัศน์ดิจิทัลไปได้ด้วยราคาสูงพร้อมกับหนังสือรับประกันของธนาคาร น่าจะมีปัญหาการหารายได้จากโฆษณา จะหาเงินมาคืนธนาคารได้อย่างไร

การหดหายของค่าใช้จ่ายในการโฆษณาของบริษัทห้างร้านต่างๆ ทำให้ธุรกิจบันเทิง ธุรกิจสื่อมวลชน ธุรกิจวารสารทุกชนิด และหนังสือหลายประเภทต้องปิดกิจการลงในรอบครึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน จึงคาดการณ์ได้ว่าปีนี้ภาวะเศรษฐกิจก็คงจะซึมๆ แบบเดียวกับปีที่แล้ว อาจจะเห็นการฟื้นตัวชั่วคราวแล้วก็ทรุดกลับลงไปอีก ตำราเศรษฐศาสตร์เรียกว่า cyclical rebound

Advertisement

ครึ่งปีแรก พ.ศ.2560 เป็นครึ่งปีที่รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการหดตัว เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบหลายสิบปีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

การหดตัวของรายรับจากการส่งออกมาจากสาเหตุของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ที่สำคัญคือ เศรษฐกิจของประเทศจีนขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก การชะลอตัวทางเศรษฐกิจทำให้จีนลดการนำเข้าสินค้าประเภทโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ โลหะ ราคาสินแร่ต่างพากันตกลงหมด

การที่สหรัฐอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีในการเจาะน้ำมันใต้พิภพใต้ชั้นหินดินดาน ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเป็นอันมาก ทำให้สหรัฐเปลี่ยนจากเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก คือประมาณวันละ 10-12 ล้านบาร์เรล กลายเป็นผู้ที่ผลิตน้ำมันใช้เอง นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เป็นภาวะน้ำมันล้นตลาด

ประเทศต่างๆ ในกลุ่มโอเปค หรือกลุ่มประเทศส่งออกน้ำมัน นำโดยประเทศซาอุดีอาระเบีย หรือที่เราเคยเรียกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐีน้ำมัน กลับกลายเป็นประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว มีปัญหาในการชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อก็เริ่มในครึ่งแรกของปีนี้

การที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ในตลาดโลกพากันลดลงอย่างมาก ทำให้สินค้าที่เราอาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง น้ำตาล ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม รวมทั้งสินค้าชิ้นส่วนและสินค้าสำเร็จรูปของอุตสาหกรรมพากันลดราคาลงหมด

ขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวในอัตราที่ลดลง มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับลดราคาในอัตราที่มากกว่า ทั้งนี้เพราะความต้องการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนของภาคเอกชน ลดลงจนเกือบจะไม่มี แต่ขณะเดียวกันสินค้าคงเหลือทั้งที่เป็นวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และสินค้าสำเร็จรูป กลับมีปริมาณและมูลค่าจากการสะสมเพิ่มขึ้น ทำให้เงินไปจมอยู่กับสินค้าคงเหลือเป็นจำนวนมาก จนกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางซึ่งเคยอาศัยตลาดเงินทุนระยะสั้น หรือที่เรียกว่า บี/อี หรือ bill of exchange ไม่สามารถไถ่ถอน หรือต่ออายุตั๋วเงินชนิดนี้ได้ ผู้ถือ บี/อี หมดความเชื่อมั่น

ทำให้มีเงินสดคงค้างอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท ความไม่เชื่อมั่นและความวิตกกังวลว่าจะลุกลามไปถึงตลาดหุ้นกู้ในครึ่งหลังของปี 2560 นี้

จากการที่ราคาสินค้าพากันแห่ลง จึงมีผลกระทบต่อรายได้ของครัวเรือนโดยตรง รายได้ของครัวเรือนในช่วงหลังของปี 2559 ลดลง

เมื่อรายได้ของครัวเรือนลดลง ตัวเลขหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนก็เพิ่มขึ้น เมื่อตัวเลขหนี้สินต่อรายได้ของครัวเรือนเพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่ออนาคตของตนก็ลดลง ซึ่งยืนยันได้จากผลของการสำรวจของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยว่า ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่ออนาคตของตนตกต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลที่คาดการณ์ได้

ความเชื่อมั่นของครัวเรือนต่ออนาคตของตนในครึ่งหลังของปี 2560 ก็ยังไม่ดีขึ้น แต่กลับจะทรุดตัวลงอีก ตรงกันข้ามกับความเชื่อมั่นต่ออนาคตของรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ

การที่ความเชื่อมั่นของครัวเรือนตกต่ำลงเรื่อยๆ ก็เป็นที่คาดการณ์ได้ว่า การบริโภคของครัวเรือนจะถูกบีบให้ต่ำลง จากการรายงานของ ธปท.ว่าหนี้สินของครัวเรือนต่อรายได้มีสัดส่วนสูงขึ้น

ความเชื่อมั่นของครัวเรือน อันเป็นผลให้การใช้จ่ายของครัวเรือน ทั้งที่เป็นการใช้จ่ายเพื่อบริโภคและการลงทุนย่อมลดลง เราจึงเห็นการล้มหายตายจากของธุรกิจของครัวเรือน ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งกระทบไปถึงตลาดการเงินดังที่กล่าวมาแล้ว

ขณะเดียวกันสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ จึงไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะธนาคารที่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจบางประเภทก็เริ่มจะมีปัญหา เงินที่ไหลเข้าสู่ธนาคารพาณิชย์จึงไม่หมุนกลับมาสู่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก คงมีแต่ธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินประเภทนี้ได้ เงินฝากที่เหลือในธนาคารพาณิชย์จึงไหลกลับไปที่ธนาคารกลางเป็นจำนวนมาก สถานการณ์อย่างนี้จึงเรียกได้ว่า ระบบเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะ “กับดักสภาพคล่อง” หรือ “liquidity trap” แล้ว กล่าวคือ ผู้คนรู้สึกหดหู่ ไม่มีใครอยากลงทุน เงินไหลกลับเข้าสู่สถาบันการเงิน อัตราเงินเฟ้อลดลงตามต้นทุนการผลิต อัตราส่วนการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมลดลง ไม่สามารถผลิตได้เต็มกำลังการผลิต เพราะขายสินค้าไม่ออก เงินทุนจมอยู่กับสินค้าคงเหลือ จนไม่สามารถชำระหนี้ระยะสั้นได้ ตลาดการเงินระยะสั้นจึงปิดตัวลง

สถานการณ์ดังกล่าวไม่อาจจะพลิกฟื้นได้โดยรวดเร็ว แม้ในตำราจะกล่าวไว้ว่า เมื่อรายจ่ายของภาคครัวเรือนลดลง ภาครัฐบาลก็ควรจะเพิ่มการใช้จ่าย เพื่อทดแทนการลดลงของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ด้วยการเพิ่มการขาดดุลงบประมาณให้มากขึ้น

การเพิ่มการใช้จ่ายของภาครัฐบาลในการจัดซื้อจัดจ้างก็ไม่อาจจะทำได้อย่างรวดเร็ว เพราะจะต้องปฏิบัติอย่างโปร่งใสตามขั้นตอนของระเบียบกฎหมาย ซึ่งบัญญัติเอาไว้เพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของรัฐบาลก็ไม่อาจจะทำอย่างรวดเร็วได้ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน แต่เพิ่มข้อจำกัดอีกว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลนั้นจะสร้างภาวะทางการเงินจนฐานะทางการคลังของประเทศในอนาคตจะรับได้หรือไม่ การตัดสินใจจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ผู้คนโดยทั่วไปไม่แน่ใจเรื่องระดับความคุ้มค่าของการลงทุน และจะกลายเป็นการสร้าง “โครงการช้างเผือก” หรือ “white elephant project” หรือไม่ ก็คือโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ไม่ผ่านขั้นตอนตามด้วยบทกฎหมายที่ป้องกันการลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า และกฎหมายที่ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น โครงการที่ไม่โปร่งใสและไม่มีธรรมาภิบาล

หรือ “good governance” เป็นโครงการที่คลุมเครือ ไม่ตอบคำถามของประชาชนให้ชัดเจน

โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนในโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แต่การใช้อำนาจตามมาตรา 44 อนุมัติโครงการย่อมทำลายความมั่นใจในอนาคตของระบบเศรษฐกิจของคนทั่วไป รวมทั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้ แม้ว่าประเทศจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับจำนวนเดือนของมูลค่าการนำเข้า แต่ก็ประมาทไม่ได้ หากความมั่นใจหดหายไป ทุนสำรองอาจจะหายไปในเวลาอันรวดเร็วได้ สำหรับประเทศที่ภาคการเงินเปิดเสรีและมีขนาดเล็กอย่างประเทศไทย จึงประมาทไม่ได้

เศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2560 จึงเป็นภาวะเศรษฐกิจที่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ของผู้ลงทุน ของครัวเรือน และของสถาบันการเงิน มีความหวั่นไหวอย่างมาก แต่ยังไม่รุนแรง สถานการณ์ต่างๆ จะค่อยๆ ซึม เพราะดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล ทุนสำรองระหว่างประเทศยังเพิ่มขึ้น แม้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นจะลดลงก็ตาม เข้าลักษณะเศรษฐกิจซึมยาวหลายปี ไม่ฟื้นตัวอย่างยั่งยืนง่ายๆ

ขอฟันธงอย่างนี้

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image