ไทยพบพม่า : รัฐประหารของเน วิน กับการลุกฮือของประชาชนครั้งแรกในพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

เช้าตรู่ของวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) เกิดเสียงอึกทึกขึ้นที่ตรอกปยีตองซุ (Pyidaungzu Lane) นอกเขตดาวน์ทาวน์ในย่างกุ้ง เวลาประมาณตีสอง ทหารชั้นผู้น้อยจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปในบ้านพักของนายกรัฐมนตรีอู นุ และควบคุมตัวนายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับรัฐมนตรีที่ภักดีต่ออู นุอีก 5 คนไปควบคุมตัวไว้ที่บ้านพักหลังหนึ่งในเขตมินกะลาดง ทางตอนเหนือของย่างกุ้ง ในห้วงเวลานั้น อู นุเชื่อว่าเกิดความไม่ชอบมาพากลบางอย่างขึ้นในย่างกุ้ง อู นุคาดว่าอาจเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยพยายามยึดอำนาจจากนายพลเน วิน ในอัตชีวประวัติของตน อู นุเล่าอย่างออกรสชาติว่าเขาเชื่อมั่นว่าเน วินจะต้องมาช่วยเหลือเขาและต้องกำราบนายทหารชั้นผู้น้อยที่คิดทรยศต่อสหภาพพม่าได้อย่างแน่นอน

เมื่อมีคนมาแจ้งให้ทราบว่ามีคนระดับสูงในรัฐบาลต้องการพบตัว อู นุยังเชื่อมั่นว่าต้องเป็นนายพลเน วิน แต่เมื่อลงไปด้านล่างก็พบกับประธานาธิบดีวิน หม่อง (Win Maung) ซึ่งนำข่าวร้ายมาแจ้งว่า “นายพลเน วินได้ทำรัฐประหารและยึดอำนาจไว้ได้หมดแล้ว” ในเวลา 08.50 น. ของเช้าวันเดียวกันนั้น เน วินประกาศตามสถานีวิทยุทั่วประเทศว่าตนและกองทัพได้ยึดอำนาจไว้แล้ว โดยให้เหตุผลเพียงว่ากองทัพจำเป็นต้องปฏิวัติเพื่อ “ความปลอดภัยของสหภาพพม่าเนื่องจากสถานการณ์ในสหภาพพม่าย่ำแย่ลงเรื่อยๆ” สถานการณ์ย่ำแย่ที่เน วินกล่าวถึงคือการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังของชนกลุ่มน้อย ที่ส่วนใหญ่เรียกร้องการแยกตัวเป็นอิสระจากการปกครองของรัฐบาลพม่า และการสู้รบกับกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์พม่า

สถานการณ์ในคืนวันที่ 2 และตลอดวันที่ 3 มีนาคม สงบเงียบราวไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ในคืนเดียวกับที่อู นุและรัฐมนตรีอีกหลายคนโดนจับ เน วินก็ได้สั่งให้ทหารอีกบางส่วนนำกำลังไปควบคุมตัวเจ้าฉ่วยแต้ก เจ้าฟ้าแห่งเมืองยองห้วย และอดีตประธานาธิบดีคนแรกของพม่าหลังได้รับเอกราช ระหว่างที่กองทัพนำคนเข้าควบคุมตัวเจ้าฉ่วยแต้กนั้น ปรากฏว่าเกิดการปะทะกันระหว่างคนที่คุ้มกันของเจ้าฉ่วยแต้กกับกองทัพฝั่งพม่า เป็นเหตุให้เจ้าจายหมี (Sao Sai Myee) พระโอรสของเจ้าฉ่วยแต้ก ที่มีพระชันษาเพียง 17 ปีสิ้นพระชนม์ จากปากคำของเจ้าจายช้าง (Sao Sai Tzang) พระเชษฐา เจ้าจายหมีถูกยิงเข้าที่พระเศียรในระยะประชิด มิได้สิ้นพระชนม์จากการถูกยิงจากระยะไกลแต่อย่างใด นอกจากนี้ กองทัพยังได้ควบคุมตัวเจ้าฟ้าฉานอีก 1 พระองค์ ได้แก่ เจ้าจาแสง (Sao Kya Seng) ไปด้วย หลังจากนี้ไม่มีใครเคยเห็นทั้งเจ้าฉ่วยแต้ก และเจ้าจาแสงอีก สันนิษฐานกันว่าเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ทรงถูกทรมานและสิ้นพระชนม์ในที่ควบคุมตัวนั้นเอง

นักศึกษาหลายร้อยคนตั้งขบวนหน้าอาคารสโมสรนักศึกษาและเดินขบวนเพื่อต่อต้านรัฐบาลของเน วิน, 7 กรกฎาคม 1962 (ภาพจาก Facebook ของ Aungmyint Oo)

หลังรัฐประหารของเน วิน น่าสนใจว่านักศึกษาในพม่ายอมรับว่ารัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งชอบธรรม อาจเป็นเพราะเน วินมีภาพลักษณ์ของการเป็นผู้นำที่ดีและเด็ดขาด อีกทั้งยังเป็นที่นิยมของชาวพม่าระหว่างที่เขาเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้นำในรัฐบาลรักษาการระหว่าง ค.ศ.1958-1960 (พ.ศ.2501-2503) สโมสรนักศึกษาทั้งของมหาวิทยาลัยย่างกุ้งและภาคีนักศึกษาทั่วประเทศก็พร้อมใจกันรับรองรัฐบาลสภาปฏิวัติของเน วิน แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน นักศึกษาเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลต้องการเข้ามาแทรกแซงการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมากจนเกินไป และยังประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดในหอพักของนักศึกษา ทำให้นักศึกษารู้สึกว่าตนอยู่ในค่ายทหารมากกว่าในรั้วมหาวิทยาลัย

Advertisement

ข่าวลือมักพูดถึงทัศนคติที่ไม่ค่อยดีนักของเน วินที่มีต่อนักศึกษาว่าเป็นเพราะเขาเรียนไม่จบนั่นเอง การแทรกแซงการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น การไล่อธิการบดีคนเก่าออกและนำคนของสภาปฏิวัติมานั่งเก้าอี้แทน การควบคุมตรวจสอบมหาวิทยาลัยอย่างเข้มงวด การยุบสภามหาวิทยาลัยทั้งในย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ และนโยบายสอดส่องพฤติกรรมของนักศึกษา ตลอดจนควบคุมไม่ให้อาจารย์หัวก้าวหน้ามีบทบาทมากเกินไปในมหาวิทยาลัยเกิดขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะขบวนการต่อต้านรัฐบาล

ความเข้มงวดและกฎเกณฑ์ที่จำกัดเสรีภาพของนักศึกษาสร้างความไม่พอใจให้นักศึกษาและคณาจารย์ทั่วทั้งมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในช่วงเวลานี้เมื่อ 55 ปีก่อน ในช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 1962 นักศึกษาหลายร้อยคนรวมตัวกัน ณ อาคารสโมสรนักศึกษา ภายในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และเดินขบวนออกไปนอกมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้เน วินลาออก และรีบคืนประชาธิปไตยให้กับชาวพม่าโดยเร็วที่สุด แม้จะเป็นการประท้วงโดยสงบ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมกลับถูกปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมโดยตำรวจปราบจลาจลและทหาร ความรุนแรงเริ่มต้นขึ้นเมื่อตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาเข้าสู่กลุ่มผู้ประท้วง แต่ถูกผู้ชุมนุมปาก้อนหินใส่ ในเวลาเดียวกัน ทหารพร้อมอาวุธครบมือก็บุกเข้าไปในอาคารสโมสรนักศึกษา และกราดยิงกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง เป็นเหตุให้มีนักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้งเสียชีวิตกว่า 100 คน

ตำรวจปราบจลาจลยิงแก๊สน้ำตาใส่นักศึกษาที่เดินขบวนประท้วงภายในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง

เช้าวันต่อมา กองทัพใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดโดยการระเบิดทำลายอาคารสโมสรนักศึกษาทั้งหมด เช่นเดียวกับอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหลายแห่งที่จะถูกเน วินสั่งให้ทำลาย โดยเฉพาะอาคารที่ทำการรัฐบาลอาณานิคม (Government House) สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลที่โอ่อ่าสวยงาม ที่ถูกสั่งให้ระเบิดทิ้งในปี 1985 (พ.ศ.2528) การกระทำที่อาจเรียกว่า “เกินกว่าเหตุ” ของเน วินสร้างความขมขื่นให้กับนักศึกษาพม่าเป็นอย่างมาก หลังพม่าได้รับเอกราช พลังของนักศึกษาลดลงไปมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นพลังที่กดดันรัฐบาลอังกฤษ และได้สร้างฮีโร่นักชาตินิยมขึ้นมาหลายคน อย่างออง ซาน, นุ และอีกหลายๆ คน แต่การปราบปรามนักศึกษาอย่างรุนแรงของเน วินไปกระตุ้นจิตวิญญาณของนักศึกษาพม่าขึ้นมาอีกครั้ง และแม้ในยุคต่อมา รัฐบาลทหารจะพยายามเซ็นเซอร์ข้อเขียนและความคิดต่อต้านรัฐบาลและกองทัพอย่างเข้มข้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้จิตวิญญาณต่อต้านการปฏิวัติและระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในพม่าน้อยลงเลย

Advertisement

หลังความรุนแรงผ่านไป รัฐบาลสภาปฏิวัติสั่งปิดมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง 4 เดือน และทำทุกวิถีทางเพื่อลดบทบาทของนักศึกษา ผ่านหลักสูตรและการเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำ และไม่สนับสนุนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ใดๆ ในระบบการศึกษาทั้งในระดับต้นและระดับสูง แต่ถึงกระนั้น จิตวิญญาณของนักศึกษายังคงอยู่ประวัติศาสตร์บอกเล่าเกี่ยวกับออง ซาน บทบาทของนักศึกษาตั้งแต่ยุคอาณานิคม และการปราบปรามนักศึกษาในปี 1962 ยังถูกถ่ายทอดลงมาจากรุ่นสู่รุ่น จิตวิญญาณเสรีและบทบาทของนักศึกษาเพื่อจรรโลงสังคมจะเกิดขึ้นอีกครั้งในการประท้วงรัฐบาลเผด็จการครั้งใหญ่ในปี 1988

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image