ดุลยภาพดุลยพินิจ : การให้และรับมรดก : โดย ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

1.ความหวังดีต่อกันมีอยู่จริงในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในครัวเรือน พ่อแม่หวังดีต่อลูกหลานเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เพียงแต่เลี้ยงดูอบรมสั่งสอน ส่งเสียจนจบการศึกษาสูงสุดเท่าที่จะให้ได้ ยังโอนมรดกหรือให้ของขวัญชิ้นใหญ่ คือ บ้าน ที่ดิน หุ้น และเงินทอง ซึ่งมีมูลค่าสูง ในโอกาสที่เมืองไทยของเรากฎหมายใหม่ว่าด้วยภาษีมรดก และในขณะนี้กระทรวงการคลังยังเตรียมยกร่างภาษีทรัพย์สินและภาษีลาภลอย การถ่ายโอนหรือรับมรดกจึงอยู่ในความสนใจของผู้คนจำนวนมาก จึงขอนำผลวิจัยที่กำลังดำเนินการมาเล่าสู่กันฟังตามสมควร

2.โครงการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ผมกับคณะกำลังค้นคว้าเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สิน การโอนมรดก และนโยบายการคลังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ งานสำรวจข้อมูลดำเนินการเมื่อต้นปี 2560 นี้เอง สุ่มตัวอย่างครัวเรือนจำนวน 1,800 ตัวอย่างจากทุกภูมิภาค แบบสอบถามขอความร่วมมือให้ระบุอาชีพ การศึกษา การมีบุตร รายได้ การถือครองทรัพย์สิน การรับมรดกในห้าปีที่ผ่านมา และบุคคลเตรียมการโอนมรดกให้ลูกหลานอย่างไรในอนาคตอันใกล้ คำถามหนึ่งระบุว่า ห้าปีที่ผ่านมาท่านได้รับมรดกหรือไม่? ประเภทใด? เช่นบ้าน ที่ดิน เงินทอง มีผลการศึกษาที่สามารถเล่าสู่กันฟังดังนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นหัวหน้าครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ อายุโดยเฉลี่ย 46 ปี

ก) ร้อยละ 23 ตอบว่า ได้รับมรดก โดยที่คนชนบทมีโอกาสได้รับมากกว่า (ร้อยละ 26) เปรียบเทียบกับในเมือง (ร้อยละ 21) ที่เป็นเช่นนี้เราสันนิษฐานว่า อัตราการมีบ้านและที่ดินในครัวเรือนชนบทสูงกว่าในเขตเมือง

ข) ประเภทมรดกที่ได้รับ ลำดับแรกคือ ที่ดิน มูลค่ามรดกรับโอน 2 ล้านบาทโดยประมาณ มีจำนวนความถี่ 183 รายจากจำนวนแบบสอบถาม 1,785 ราย รองลงมาคือ มรดกเป็นเงินสด มูลค่าเฉลี่ย 7 แสนบาทจากจำนวน 77 ราย และมรดกเป็นบ้านมูลค่าเฉลี่ยเท่ากับ 1 ล้านบาทโดยประมาณ จำนวน 60 ราย

Advertisement

ค) จากจำนวน 290 รายที่ร่วมมือและระบุว่า “ได้รับมรดก” สรุปว่า ค่าปานกลาง (ค่ามัธยฐาน) ของมรดกเท่ากับ 6 แสนบาทโดยประมาณ นับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ทีเดียวเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ของคนไทยโดยทั่วไป

ง) มรดกขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเกินกว่า 10 ล้านบาทมีจำนวน 8 ราย (จาก 290 รายที่ได้มรดก) และ 1 รายตอบว่าได้มรดกเกินกว่า 50 ล้านบาท

ตามหลักภาษีมรดกของไทย มรดกที่มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านได้รับการยกเว้น คิดกันเล่นๆ โดยอิงกับตัวอย่างนี้แปลว่า จะมีผู้เสียภาษีมรดกเพียงรายเดียวจากจำนวน 1,800 ตัวอย่าง

Advertisement

3.ทีมวิจัยของเราพยายามสืบค้นผลงานวิจัยจากต่างประเทศ เริ่มจากมูลเหตุจูงใจของการให้มรดก นักทฤษฎีให้คำอรรถาธิบายมีแรงจูงใจ 3 ประการในการให้มรดก หนึ่ง ความหวังดีของพ่อแม่ที่ประสงค์จะเห็นลูกหลานเหลน (ผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล) มีโอกาสดีหมายถึงมีทุนรอนสำหรับประกอบอาชีพ ได้รับการศึกษาที่ดี และความเป็นอยู่ดี สอง มรดกเป็นกลยุทธ์เพื่อให้ลูกหลานดูแลในยามชรา ในยามนั้นอาจเจ็บป่วย ไม่แข็งแรง ต้องการความอบอุ่นจากลูกหลาน พ่อแม่จึงต้องสะสมทรัพย์สินเอาไว้ ไม่ใช้จนเกลี้ยงเกลา หากไม่มีลูกหลานโดยตรงก็อาจจะขอร้องให้ญาติพี่น้องดูแลแทน สาม การโอนมรดกเกิดจากความบังเอิญ เช่น อุบัติเหตุหรือไม่คาดคิดมาก่อน เมื่อถึงแก่กรรมทรัพย์สินย่อมจะถ่ายโอนให้คู่ชีวิตบุตรหลานหรือผู้สืบสันดานตามกฎหมาย

ตามหลักกฎหมาย เขานิยามว่า ถ่ายโอนมรดกต่อเมื่อมีการเสียชีวิต แต่ถ้าพ่อแม่โอนทรัพย์สินให้ขณะยังมีชีวิตเรียกว่า “ของขวัญขณะยังมีชีวิต” (inter vivos gift) ในแต่ละปีมีคนไทยที่เสียชีวิตหลายแสนคน (คำนวณหยาบๆ ว่า อัตราการเสียชีวิตร้อยละ 0.5 จากจำนวน 65 ล้านคน แปลว่าจะมีผู้เสียชีวิต 3.25 แสนคนในแต่ละปี)

อีกทางหนึ่งเราสืบค้นข้อมูลการโอนมรดกเป็นที่ดิน เพราะว่าการโอนต้องจดทะเบียนกับกรมที่ดิน จึงเป็นตัวเลขจริง และเป็น big data อย่างหนึ่ง แถมระบุเป็นรายจังหวัดได้ด้วย (ต้องขอบคุณกรมที่ดินที่เผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชน)

โปรดสังเกตว่า การโอนที่ดินเป็นมรดกหรือของขวัญเกือบ 8 แสนแปลงในแต่ละปี รวมกันเป็นมูลค่าเกือบสี่พันล้านบาท-หมายเหตุ ตัวเลขมูลค่าคำนวณตามราคาประเมิน ซึ่งมักจะต่ำกว่าราคาตลาด

ข้อดีคือยังสามารถแจกแจงเป็นรายจังหวัดได้ก็เพราะว่าที่ดินผูกติดกับพื้นที่ (อบต. เทศบาล หรือ สำนักงานเขต กทม.) ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินเมื่อกรมที่ดินจัดเก็บจะส่งต่อให้กระทรวงมหาดไทย และกระจายลง อบต. และเทศบาลเจ้าของพื้นที่

การโอนมรดกในรูปแบบอื่นคือบ้าน หุ้น และบัญชีเงินฝาก ความจริงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อบ้านเปลี่ยนมือหรือกรรมสิทธิ์ เราจดทะเบียนกับอำเภอหรือสำนักงานเขต สำหรับการโอนบัญชีเงินฝากจากผู้ตายเราติดต่อกับธนาคารที่รับฝากเงิน การโอนหุ้นก็คงทำนองเดียวกัน ดังนั้น ตัวเลขการโอนมรดกมีระบบบันทึกอย่างแน่นอน แต่ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมรดกจะต้องรายงานให้หน่วยงานระดับชาติหรือไม่ ควรจะมีข้อกำหนดให้อำเภอ-ธนาคาร-หรือสำนักทะเบียนหุ้นรายงานไปยังหน่วยงานกลาง

แต่เมื่อกฎหมายมรดกเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วในประเทศไทย ผู้เขียนเชื่อว่า จะต้องพัฒนาเป็นระบบข้อมูลสนเทศการโอนมรดก คาดว่ากรมสรรพากรจะเป็นหน่วยงานหลัก เขามีวิธีการตรวจสอบความแม่นยำของข้อมูลอย่างไร ในฐานะนักวิชาการซึ่งไม่มีหน้าที่เก็บภาษีแต่สนใจที่จะใช้ข้อมูล เพื่อวิเคราะห์วิจัยหรือเป็นบทเรียนสำหรับนักศึกษา ภาษีมรดกหรือการโอนที่ดินนั้นมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ (ตามหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์) หมายถึง เก็บจากมูลค่าทรัพย์สินหรือพูดง่ายๆ จากคนมีสตางค์ ดังนั้นจึงจัดเป็นภาษีก้าวหน้า จริงอยู่ คนจนเมื่อถึงแก่กรรมก็โอนบ้านและที่ดินเช่นเดียวกัน แต่มูลค่าทรัพย์สินต่ำกว่าขั้นต่ำ ดังนั้น ได้รับยกเว้น ภาษีมรดกไม่มีผลบิดเบือนราคาตลาดดังนั้นเข้าหลักการ “ภาษีที่ดี”

โทมัส พิเก็ตตี้ (Thomas Piketty) เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ศึกษาภาษีมรดก การกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำจนช่ำชอง มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก เขาสืบค้นจากทะเบียนผู้ถึงแก่กรรมและการถ่ายโอนมรดก โดยย้อนอดีตไปเกือบร้อยปีในประเทศฝรั่งเศส และร่วมมือกับนักวิจัยท่านอื่นๆ ค้นคว้าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสหรัฐและประเทศโออีซีดี ได้รับการยกย่องอย่างมาก ที่ช่วยขยายพรมแดนความรู้การกระจายรายได้และทรัพย์สินจนมีชื่อเสียงก้องโลก

4.การรับและการโอนมรดกเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติและน่าจะช่วยกันค้นคว้าเชิงลึก อย่างน้อยเราควรจะทราบว่า ในแต่ละปีการโอนมรดกมากน้อยเพียงใด ใครได้รับมรดก โอกาสการรับมรดกคงจะไม่เท่าเทียมกันระหว่างคนรวยคนจน ในมุมมองนักเศรษฐศาสตร์การคลัง ภาษีมรดกเป็นมาตรการลดความเหลื่อมล้ำที่ดี นอกจากนี้ ถ้าหากกันเงินก้อนหนึ่งจากภาษีมรดก เป็นกองทุนช่วยเหลือเด็กยากจน ป้องกันเด็กที่ออกจากโรงเรียนเร็วเกินไป เท่ากับการให้งบประมาณรายจ่ายภาครัฐช่วยเหลือคนจน (pro-poor budgeting)

ถ้าออกแบบตามแนวคิดนี้จะมี 2 พลังในการลดความเหลื่อมล้ำ หนึ่ง เก็บภาษีจากคนรวย สอง นำเงินไปเป็นสวัสดิการช่วยเหลือเด็กยากจนหรือคนที่ด้อยโอกาสในสังคม

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image