ครบถ้วน ทุกเหล่า 3 ปี 70,000 ล้าน งบประมาณอาวุธ

หนึ่งในหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ของพลเมืองโลกเสมือนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

ก็คือประเด็น “การจัดซื้ออาวุธ” รอบใหม่ของรัฐบาล

รัฐบาลที่มีนายทหารระดับสูงจาก 3 เหล่าทัพเป็นแกนนำ

 

Advertisement

11 กรกฎาคม 2560 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ตอบข้อซักถามเรื่อง

โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น แบบ T-50 TH ระยะที่ 2 จำนวน 8 ลำ ของกองทัพอากาศ วงเงิน 8,997 ล้านบาท ผูกพันงบประมาณ 3 ปี ว่า

Advertisement

เรื่องอนุมัติมาตั้งแต่ปี 2558 ขอให้เห็นใจนักบินที่ต้องฝึกบินด้วย เพราะนักบินใช้เครื่องบิน L-39 ซึ่งไอพ่นหมดอายุแล้ว

หากนักบินได้รับการฝึกมาไม่ดีผิดพลาดขึ้นจะเสียมากกว่าเดิม

คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาจัดซื้อจากเกาหลีใต้ ทำให้เห็นว่าเราไม่ได้ผูกมัดกับใคร

ส่วนมีทุจริตหรือไม่ ขอให้ไปตรวจสอบดู

“รัฐบาลไม่ได้นำงบไปกระจุกตัวอยู่เพียง เรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างที่พูดกัน

“ในภาคเกษตรรัฐบาลก็อนุมัติงบ เฉลี่ย 2-3 หมื่นล้านบาทต่อสัปดาห์

“งบของส่วนใด ก็เป็นของส่วนนั้น ไม่มีการนำมาแทนที่กัน”

 

จะมิให้พลเมืองโลกเสมือนวิพากษ์วิจารณ์กระไรได้

เพราะจากการรวบรวมตัวเลขงบประมาณด้านการจัดซื้ออาวุธของหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ระบุว่า

ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอนุมัติงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธไปแล้วกว่า

70,000 ล้านบาท

แยกรายละเอียดได้ดังนี้

1.รถถัง 38 คัน 6,985 ล้านบาท

ครั้งแรกปี 2558 อนุมัติซื้อรถถังแบบ VT-4 จากประเทศจีน 28 คัน วงเงิน 4,985 ล้านบาท

ครั้งที่สอง ปี 2560 อนุมัติซื้อรถถังรุ่นเดียวกันในล็อตที่ 2 จำนวน 10 คัน มูลค่า 2,017 ล้านบาท

เพื่อทดแทนรถถังแบบ OPLOT จากประเทศยูเครนที่ส่งไม่ครบตามสัญญา

นอกจากนี้ ตามแผนงาน ไทยจะต้องซื้อรถถัง VT-4 จากจีน อีก 11 คัน เพื่อให้ครบ 1 กองพัน

คาดว่าจะใช้เงินอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท

 

2.รถเกราะล้อยาง 34 คัน 2,300 ล้านบาท

อนุมัติเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เป็นรถหุ้มเกราะล้อยาง แบบ VN1 จากประเทศจีน

3.เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ 8,083 ล้านบาท

ปี 2559 จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบลำเลียงของกองทัพบกรุ่น Mi-17V5 จำนวน 6 ลำ

ครั้งแรกซื้อ 2 ลำ มูลค่า 1,698 ล้านบาท และครั้งที่สอง 4 ลำ 3,385 ล้านบาท

เพื่อใช้ในหลายภารกิจ ทั้งลำเลียงพลทั่วไป ขนส่งบุคคลหรือสิ่งของ งานธุรการ ใช้เพื่อโดดร่มสู่พื้นที่

ตัวเครื่องจะมีสมรรถนะที่ทนทานต่อกระสุนปืนเล็กจากพื้นดิน

สามารถจัดที่นั่งให้ผู้โดยสารพร้อมสัมภาระได้ 24 นาย หรือบรรทุกผู้โดยสารได้สูงสุด 36 นาย

นอกจากนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลได้อนุมัติให้จัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบบ “แบล๊กฮอว์ก” จำนวน 4 ลำ มูลค่า 3,000 ล้านบาท

หลังรัฐบาลสหรัฐระงับการขายยุทโธปกรณ์ให้ไทยมาเป็นเวลานานจนกระทั่งปีนี้

4.เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง-เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 10 ลำ 6,599 ล้านบาท

ปี 2559 กองทัพเรือจัดเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือ OPV (Off-shore Patrol Vessel) 1 ลำ วงเงิน 5,482 ล้านบาท

เป็นงบประมาณสร้างเรือ 2,832,930,000 บาท และงบประมาณในการจัดหาอาวุธ 2,650 ล้านบาท

ปี 2558 อนุมัติและเดินหน้าสร้างเรือตรวจการณ์ชายฝั่ง 4 ลำ มูลค่า 490 ล้านบาท

และปี 2559 อนุมัติและเดินหน้าต่อเรือตรวจการณ์ชายฝั่งอีก 5 ลำ

วงเงิน 627 ล้านบาท

 

5.เรือดำน้ำ 3 ลำ 36,000 ล้านบาท

ปี 2560 รัฐบาลอนุมัติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำรุ่น S26T จากประเทศจีน 1 ลำ ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวผูกพันที่ต้องจัดซื้อเรือดำน้ำทั้งสิ้น 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี

ระบุว่ามีความจำเป็นที่ต้องซื้อเรือดำน้ำมาใช้เพื่อประโยชน์อันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ หรือการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

ขณะนี้มีการร้องให้ตรวจสอบเรื่องความโปร่งใสในการจัดซื้อในองค์กรตรวจสอบหลายแห่ง

และ

6.กรณีล่าสุดเครื่องบินฝึกนักบินขับไล่ 12 ลำ 12,747 ล้านบาท

ปี 2560 อนุมัติจัดซื้อ 8 ลำ รวมมูลค่า 8,997 ล้านบาท เป็นงบผูกพัน 3 ปี

ก่อนหน้านี้ในปี 2558 จัดซื้อมาแล้วจำนวน 4 ลำ

มูลค่า 3,750 ล้านบาท

สังคมและเจ้าของภาษี สามารถตั้งคำถามได้

รัฐบาลและกองทัพ ผู้ตั้งงบประมาณ

ก็มีสิทธิชี้แจงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image