รากที่มา วิกฤต พิษ ราคา ‘ยางพารา’ บริหาร จัดการ

ไม่ว่ายุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรี ไม่ว่ายุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ล้วนอยากสร้างผลงาน

โดยเฉพาะปัญหา “ราคา” พืชผลทาง “การเกษตร”

เห็นได้จากการประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2558 วางเป้าหมายที่จะให้ราคายางพาราไปอยู่ที่ 80 บาทต่อกิโลกรัม

อันเป็นเป้าหมายที่ “ชาวสวนยาง” เคยเรียกร้องเมื่อเดือนกันยายน 2556

Advertisement

เห็นได้จากการส่ง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เข้าไปวางระบบกระตุ้นงานการตลาดภายในกระทรวงพาณิชย์หลังเดือนสิงหาคม 2559

แต่ไม่ว่ายุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ไม่ว่ายุค นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ล้วนล้มเหลว

เพราะราคายางพาราไม่เพียงแต่ดำเนินไปอย่างไม่เสถียร หากแต่แนวโน้มอันเด่นชัดอย่างยิ่งคือการลดลงอย่างเป็นอัตราเร่ง

Advertisement

กระทั่งใกล้ 3 โล 100 เป็นลำดับ

แน่นอน วิกฤตอันเนื่องแต่การเสื่อมทรุดลงของราคายางพารา ด้าน 1 มีปัจจัยมาจากการผลิตในลักษณะอนาธิปไตย ขณะเดียวกัน ด้าน 1 มีปัจจัยมาจากตลาดโลก

กระนั้น การผลิตในลักษณะ “อนาธิปไตย” ก็มีมูลเหตุ

ถามว่าในยุค ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจสามารถบริหารจัดการกระทรวงเศรษฐกิจในทางเป็นจริงได้หรือไม่

ตอบได้เลยว่า ไม่ได้

แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จะมีรัฐมนตรีช่วยที่รู้เรื่องยางเป็นอย่างดีแต่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ก็มิอาจกำกับงานกระทรวงพาณิชย์ได้

เช่นเดียวกับในยุคของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์

แม้จะสามารถจัดส่ง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์

ไปนั่งในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แต่มือของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ยื่นไปไม่ถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เพราะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับ คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง

นี่คือปัญหาอันเนื่องแต่การบริหารจัดการอย่างที่ ปีเตอร์ ดรักเกอร์ สรุปอย่างรวบรัดว่าเป็นปัญหาในเรื่อง “แมเนจเมนต์”

แมเนจเมนต์อันเป็นศาสตร์ที่เติบใหญ่ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในห้วงที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั่งอยู่ในฐานะประธานที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีก็อาจจะมองดูกระบวนการทำงานในฐานะรองนายกรัฐมนตรีของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ด้วยความเป็นห่วง

ต่อเมื่อ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามาอยู่ในสถานะแห่งรองนายกรัฐมนตรีลักษณะเดียวกันกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล จึงได้เข้าใจ

เข้าใจไม่เพียงแต่ต่อ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล

หากเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่าในยุคที่นั่งเป็นรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างเดือนมกราคม 2544 กระทั่งเดือนมกราคม 2548 เหตุใดจึงมากด้วยผลงานและความสำเร็จ

ปมเงื่อนอยู่ที่ “แมเนจเมนต์” อยู่ที่ “บริหารจัดการ”

ภายหลังถูกปรับออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2559 ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล สรุปบทเรียนออกมาได้อย่างคมคาย

ผ่านคำว่า “แบ่งแยกแล้วปกครอง”

นี่คือกระบวนการบริหารที่เจ้าอาณานิคมนำไปใช้ในประเทศเมืองขึ้น ไม่ว่าจะโดยชาวอังกฤษ ไม่ว่าจะโดยชาวฝรั่งเศส

ต้นเค้ามาจาก “Devide and Rule”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image