บทสรุป วิพากษ์ วิกฤต ราคา “ยางพารา” ถาวร เสนเนียม

ข้อสังเกตที่ว่าใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีส่วนราชการเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่กันเงินงบประมาณมารับซื้อ “ยางพารา” เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของตน

เหมือนกับเป็นเรื่องธรรมดา

แต่เมื่อ นายถาวร เสนเนียม ออกมาเน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่า “คำสั่ง” นี้ออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ก็ต้องยอมรับว่านี่ไม่ใช่เรื่องธรรมดาเสียแล้ว

Advertisement

เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในฐานะเป็น 1 หัวหน้า คสช. และ 1 อยู่ในฐานะเป็นหัวหน้ารัฐบาล ซึ่งก็คือ “นายกรัฐมนตรี”

ไม่ว่าจะมองจากด้าน “คสช.” ไม่ว่าจะมองจากด้าน “รัฐบาล”

เมื่อคำสั่งของหัวหน้ารัฐบาลไม่มีความหมาย เมื่อคำสั่งของหัวหน้า คสช.ไม่มีความหมาย สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหา

Advertisement

ปัญหานั่นแหละคือเงาสะท้อนแห่งความผิดปกติ

ข้อสังเกตของ นายถาวร เสนเนียม จะเป็นจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่ทั้ง คสช.และรัฐบาลจะต้องออกมายืนยันด้วยข้อมูลที่หนักแน่นและจริงจังยิ่งกว่านี้

เพราะหากเป็นเพียงร้อยละ 5 ก็จะต้องมองไปยังที่เหลืออีกร้อยละ 95

ขณะเดียวกัน การมองเรื่องนี้ว่าเป็นปัญหา จะมองแต่ด้านที่ส่วนราชการส่วนข้างมากคือร้อยละ 95 ไม่ปฏิบัติตาม

คำสั่งของหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นหัวหน้า คสช.เท่านั้น

หากแต่จะต้องมองด้วยว่าเป็นเพราะอะไร

ตั้งแต่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยออกมาประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2558 แล้วว่า “ราคายางพาราจะต้องไปอยู่ที่ 80 บาทต่อ 1 กิโลกรัม ภายใน 1 เดือน”

ปรากฏว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ราคายางก็ทะยานไปไม่ถึง “เป้า”

ไม่เพียงแต่เท่านั้น จากเดือนมกราคม 2558 กระทั่งมาถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ราคายางตามที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ยืนยันก็ยังอยู่ที่ 53 บาท/กก.

ตัวเลขและความเป็นจริงเหล่านี้สะท้อนอะไร

หากประเมินจากความเป็นจริงของคำสั่งอันมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประสานเข้ากับคำประกาศของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

1 ไม่เพียงแต่ไม่มีการปฏิบัติตาม “คำสั่ง”

ขณะเดียวกัน 1 ราคายางพาราแทนที่จะทะยานสูงขึ้นสร้างความพอใจให้กับเกษตรกรชาวสวนยางตรงกันข้าม กลับมีแต่เสื่อมทรุด ตกต่ำ

กระทั่งเฉียดเข้าไปอยู่ที่เกือบ 3 โล 100

กลายเป็นปัญหาทำให้เกษตรกรชาวสวนยางด้านหลักอยู่ในภาคใต้ต่างออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลสนใจและให้ความช่วยเหลืออย่างจริงจัง

ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ยันสงขลา

บรรยากาศละม้ายเหมือนเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์เมื่อเดือนกันยายน 2556 ที่รับรู้กันผ่านกระบวนการ “ชะอวด โมเดล”

ทั้งๆ ที่ตอนนั้นราคายางอยู่ที่ 80 บาท/กก.

เท่ากับยืนยันอย่างเป็นรูปธรรมว่า ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 คสช.ไม่สามารถคืนความสุขให้กับเกษตรกรชาวสวนยางได้ในทางเป็นจริง

คำสั่งและมาตรการแทบไม่มีความหมาย

บทสรุปอันมาจาก นายถาวร เสนเนียม แม้จะเปี่ยมด้วยความเห็นอกเห็นใจ คสช.และรัฐบาลอย่างยิ่ง แต่ก็มากด้วยความละเอียดอ่อน

เท่ากับ “ประจาน” ผลงานและความสำเร็จ ที่ละเอียดอ่อนเป็นอย่างมากก็คือ ปลายหอกพุ่งตรงไปยัง “คำสั่ง” และ “มาตรการ” อันเป็นผลผลิตของ คสช.และของรัฐบาล

เป็นบทสรุปและความเห็นของคนกันเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image