หนี้สาธารณะของไทย ดูไม่สูงแต่น่าเป็นห่วง : โดย สมหมาย ภาษี

หนี้สาธารณะ 6.268 ล้านล้านบาทปีนี้ของไทยฟังดูแล้วน่ากลัวสำหรับชาวบ้านทั้งหลายเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่น่ากลัวกว่านั้น คือการที่คนที่บริหารประเทศพูดว่าไม่น่ากลัว ขณะนี้แค่ 42.6% ของยอดมูลค่ารายได้ประชาชาติ หรือที่เรียกกันว่า GDP เรายังก่อหนี้ได้อีกถึง 60% ของ GDP จะไปกลัวอะไร ยังกู้เงินมาลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานได้อีกเยอะ

ผู้เขียนเองในฐานะที่เคยทำงานบริหารหนี้สาธารณะของประเทศที่กระทรวงการคลังมานานรวมทั้งเป็นผู้ร่วมร่างระเบียบการก่อหนี้ของประเทศ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะขึ้นมาเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงการคลัง เห็นว่าสถานการณ์ก่อหนี้สาธารณะในประเทศขณะนี้น่าเป็นห่วงมากแล้ว หากตั้งอยู่ในความประมาท ขืนเร่งโครงการปรับโครงสร้างพื้นฐาน โดยเมินผลตอบแทนของโครงการ เช่นในขณะนี้ ยังหวังพึ่งงบประมาณประจำปี หวังพึ่งเอกชนมาร่วมลงทุน และหวังพึ่งการระดมทุนผ่านกองทุนไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ ล้วนเป็นความหวังที่แทบจะลมๆ แล้งๆ แทบทั้งนั้น เลื่อนลอยอย่างไรเดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง

ก่อนอื่นขอให้มาทำความเข้าใจเรื่องหนี้ของประเทศให้ชัดเจนกันก่อน ปกติตัวหนี้ของประเทศมีตัวเทียบให้เห็นเพื่อง่ายต่อการเปรียบเทียบ ตัวนั้นคือรายได้ประชาชาติ ซึ่งปีนี้มีมูลค่าเท่ากับ 14.796 ล้านล้านบาท ซึ่งตัว GDP นี้ เมื่อ 15 ปีที่แล้วของไทยเคยเพิ่มถึงปีละ 5.7% ตอนวิกฤตต้มยำกุ้งติดลบ และหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลดลงมาก แต่ 2 ปีหลังวิกฤตเคยอยู่ที่ 4-5% ได้ไม่กี่ปี ช่วง 5 ปีหลังสุดเพิ่มได้แค่ 2.5-3.5% เท่านั้นเอง และต่อไปก็คงได้ไม่เกินปีละ 3-4% นี่แหละ หนี้สาธารณะก็เพิ่มในอัตราไม่มากสูสีกัน แต่อนาคตจากนี้ไปไม่เกิน 8 ปี มีเค้าลางว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มเร็วมาก ก็เท่ากับว่าเรากำลังบริหารประเทศด้วยความเสี่ยงมากขึ้นทุกขณะ

หนี้ตัวสำคัญๆ ของประเทศที่ต้องสนใจมีอยู่ 3 ตัว ดังนี้

Advertisement

เริ่มจาก ตัวแรก คือ หนี้ครัวเรือน ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ในสัดส่วนถึง 78.6% เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งถือว่าสูงมากประเทศหนึ่ง และขณะนี้เป็นที่เพ่งเล็งมากจากกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย หนี้ตัวนี้ประกอบด้วย เงินกู้ของประชาชนทั่วไปเพื่อการบริโภคหรือเพื่อผ่อนบ้าน หนี้ลีสซิ่งผ่อนรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และการใช้สินเชื่อผ่านบัตรเครดิตและอื่นๆ ที่ลักษณะคล้ายกันรวมทั้งเงินกู้ผ่านบริษัทนาโนไฟแนนซ์ที่จดทะเบียนถูกต้อง อย่าลืมว่าหนี้ครัวเรือน 78.6% ของ GDP นี้ยังไม่นับรวมหนี้นอกระบบอีกมากมายที่รากหญ้าแม่ค้าแม่ขายทั้งหลายกู้กันเป็นประจำ หนี้ตัวนี้ต่างประเทศไม่สนใจเรามากนัก แต่ตัวนี้รัฐบาลต้องสนใจให้มาก เพราะถ้าหนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยติดอันดับสูงมากในกลุ่มอาเซียน ก็แปลว่าประชาชนกำลังแย่มากในเรื่องปากท้อง ถ้ายังแก้ไม่ได้ก็จะเกิดหนี้เสียมาก ลามไปถึงสถาบันการเงินของประเทศได้

ตัวที่สอง คือ หนี้ต่างประเทศภาคเอกชน ซึ่งปีนี้มียอดอยู่ที่ 106.87 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 3.580 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ของสถาบันการเงินเอกชน เช่น ธนาคารพาณิชย์และอีกส่วนคือหนี้ของบริษัทใหญ่ๆ ภาคเอกชน เช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งหลาย ไม่ว่าในกลุ่มซีพี-กลุ่มช้าง กลุ่ม ปตท. กลุ่มเซ็นทรัล ฯลฯ ปัจจุบันนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเอกชนไทยมีความน่าเชื่อถือดีด้านการเงินดี สามารถไประดมทุนจากต่างประเทศ หนี้ตัวนี้จะถูกจับตามองจากต่างประเทศและจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เช่นกัน

ตัวที่สาม คือ หนี้สาธารณะของภาครัฐ ซึ่งรวมหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ ธนาคารของรัฐ และหน่วยงานรัฐบาล เช่น กองทุนอ้อยและน้ำตาล สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) หนี้ตัวนี้เป็นหนี้อายุไม่น้อยกว่า 1 ปีที่ภาครัฐกู้มาจากต่างประเทศและจากในประเทศ ไม่ว่าจะกู้โดยตรง กู้โดยการออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หรือตั๋วเงินในเงินสกุลใดๆ ก็ตาม รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐ จะนำมาคิดรวมทั้งหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันและที่กู้เอง ส่วนธนาคารของรัฐจะคิดเฉพาะหนี้ที่รัฐบาลค้ำประกันเท่านั้น

Advertisement

หนี้สาธารณะของภาครัฐ (Public Debt) หนี้นี้เป็นตัวสำคัญที่ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้เงินกู้สกุลต่างๆ รวมทั้งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) หรือ IMF และนักลงทุนต่างประเทศทั้งที่เข้ามาร่วมทุนโดยตรงหรือโดยอ้อม เช่น นำเงินเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มาซื้อพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาล หน่วยงานของรัฐและหุ้นกู้ภาคเอกชน เขาเหล่านี้จะต้องจ้องและคอยจับตาดูสถานะหนี้ของเราอยู่ตลอดเวลา

นอกจากหนี้สาธารณะตัวหลัก เขายังเข้าไปดูถึงตัวคล้ายหนี้ภาครัฐ (Contingent Liabilities) อีกด้วย ตัวนี้ก็คือ ตัวที่รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจมีการรับภาระผูกพันแบบหลบๆ ซ่อนๆ พูดภาษาชาวบ้านก็คือ ภรรยาหรือลูกนอกสมรสนั่นเอง เมื่อใดถ้าเขาเห็นว่าเรามีทีท่าว่าจะพองตัวเกิน มีท่าทางโงนเงนไม่ถึงกับต้องล้มหรอกครับเขาก็จะหยุดนำเงินมาลงทุน หรือหยุดให้สินเชื่อยิ่งกว่านั้นที่ลงอยู่แล้วก็จะถูกทยอยถอนออกหรือขายทรัพย์ที่ถืออยู่ออกไป

ก็พอจะทราบนะครับว่าหนี้สาธารณะของประเทศสำคัญต่อความอยู่รอดของชาติและประชาชนอย่างไร เมื่อตอนเกิดภาวะวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 นั้น หนี้สาธารณะของประเทศก็ไม่ได้สูงมากเท่าไร ไม่ถึง 50% ของ GDP ด้วยซ้ำ แต่ด้วยการบริหารเศรษฐกิจที่เหลวแหลก ทั้งนักการเมืองและข้าราชการรวมทั้งพนักงานของรัฐด้านที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยก็แทบจะเอาตัวไม่รอดจากภาวะล้มละลายนี่เพิ่งผ่านมาแค่ 20 ปี กูรูหลายคนทำท่าจะมีความจำเสื่อมเสียแล้ว

การรับตัวเลขสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP มาเป็นเกณฑ์ที่ 60% โดยไม่รู้ตรรกะพื้นฐานของที่มาของตัวเลขนั้น ย่อมเป็นอันตรายอย่างมาก ทำไมของไทยกำหนดไว้ 60% มีตัวปัจจัยที่ถูกวางเป็นกรอบไว้หลายประการ เช่น มูลค่าและความสามารถการแข่งขันของการส่งออก ความจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าความสามารถในการสั่งสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ความมั่นคงของเงินบาท และที่สำคัญที่สุดความมั่นคงและความเป็นธรรมาภิบาลของการเมืองของไทย ปัจจัยเหล่านี้สำหรับไทยหากตัวใดตัวหนึ่งผันผวนสักครึ่งปี ก็จะเกิดโดมิโนตามกันไปหมด เพราะประเทศไทยเมื่อดูจากสำนักจัดอันดับระดับโลกที่เขาจัดให้เราอยู่ในอันดับแค่กลางๆ เท่านั้น ปัจจัยที่กดอันดับเครดิตของไทยให้อยู่แค่ระดับนี้มานานก็คือความมั่นคงและความเป็นธรรมาภิบาลของการเมืองไทยนั่นเอง พิจารณาให้ถี่ถ้วนและเป็นกลางจริงๆ แล้ว ตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยควรจะดูแลไว้ไม่ให้เกิน 50% ของ GDP จึงจะปลอดภัย

การคาดหวังที่จะพึ่งพานักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนนั้น จะมากน้อยแค่ไหนก็อยู่ที่อันดับเครดิตของประเทศไทยนั่นเองแหละ สมัยนี้เหมือนจะรู้ว่าเครดิตไม่ดี จึงนำของแถมมาเสนอ แบบว่าลดราคาแล้วไม่พอ ยังจัดของแถมดีๆ เช่น ลดภาษีประเภทต่างๆ ให้นักลงทุนจากต่างประเทศจนแทบไม่มีตัวเลขเหลือไว้เป็นรายได้แผ่นดิน การจัดสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเป็นแพคเกจใหญ่ เช่น โครงการเออีซีในเขตภาคตะวันออกที่โหมโฆษณาอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจัดแล้วเขามาลงทุนก็ดี แต่หากเขาสนใจน้อยขึ้นมา รับรองดูไม่จืดแน่ เอกชนนั้นตัวใครตัวมันได้ แต่รัฐบาลที่กู้เงินสร้างหนี้เพิ่มมาลงทุนนั้น หนีไปไหนไม่พ้นต้องรีดภาษีเพิ่มจากประชาชนตาดำๆ อย่างเดียว รีดภาษีเพิ่มแล้วแทนที่จะนำไปใช้พัฒนาด้านศึกษาสาธารณสุขกลับต้องนำเงินไปใช้หนี้ก่อน

ความหวังอีกอย่างที่พยายามเป่าหูให้ฟังดีมากในระยะนี้ คือ การระดมทุนผ่านไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ฟันด์ เรื่องนี้พูดง่ายๆ ให้เข้าใจกันก็คือ การขายแผ่นกระดาษคล้ายๆ พันธบัตรนั่นแหละ แต่ไม่ใช่พันธบัตรเพราะการออกพันธบัตรของรัฐบาลต้องให้รัฐบาลค้ำประกัน ก็จะเพิ่มยอดหนี้สาธารณะ แต่ถ้าออกตราสารเป็นการระดมทุนโดยใช้ทรัพย์สินที่สร้างรายได้ของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจค้ำประกัน ก็ไม่เป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะ แต่ได้เงินมาใช้ลงทุนเหมือนกันทั้งนักลงทุนหรือสถาบันลงทุนจากต่างประเทศหรือจากไทยเราเองก็ได้

แต่…แต่โปรดฟังก่อนครับ ทรัพย์สินที่จะนำมาค้ำแผ่นกระดาษนั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่สามารถก่อให้เกิดรายได้ในระยะยาวที่สูงพอควร อย่างที่พยายามปั้นกันอยู่ขณะนี้ คือทางด่วนต่างๆ ใน กทม.แต่ก็ไม่ได้ทุกสาย และจะได้กองทุนมาไม่มาก เพราะการทางพิเศษ ได้ให้สัมปทานแก่เอกชนไปบางส่วนแล้ว ที่พอจะหาสินทรัพย์มาปั้นเป็นกองทุนฟิวเจอร์ฟันด์ เพิ่มสักกองก็คงจะยาก เพราะหาทรัพย์สินใหญ่ๆ ที่เข้าสเปกก็ไม่ค่อยมีแล้ว

ขอพูดถึงหนี้สาธารณะของประเทศญี่ปุ่นหน่อย นอกจากคนญี่ปุ่นเป็นพลเมืองชั้นเยี่ยม มีระเบียบวินัยสูง มีคุณธรรมสูง มีความรักชาติเยี่ยมแล้วยังมีทรัพย์สินทั้งในประเทศและต่างประเทศมหาศาล ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ในสัดส่วนที่สูงมาก เมื่อ 25 ปีที่แล้วก็สูงเกิน 100% ของ GDP อยู่แล้ว แต่ประเทศเขาก็มั่นคง เศรษฐกิจก็ดีตลอด ผู้เขียนเองไปกู้เงินจากญี่ปุ่นบ่อยในครั้งนั้น คิดว่าทำไมญี่ปุ่นทำได้ของไทยทำบ้างสัก 70-80% ของ GDP จะไม่ได้เชียวหรือ แต่เมื่อเสาะหาความรู้มากเข้า ก็รู้ว่าประเทศญี่ปุ่นเขาผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหนักมากมายแทบทุกอย่าง รัฐกู้เงินประเทศเขาเอง นำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานสารพัดอย่างในประเทศ แทบไม่ต้องไปนำเข้าสินค้าทุนจากที่ไหนเลย ก็เป็นประเภทเรือล่มในหนองทองจะไปไหน ดังนั้น เขาก็สามารถตั้งเพดานการก่อหนี้สาธารณะไว้สูงได้

แค่นั้นเรายังรู้อาวุธลับของญี่ปุ่นไม่หมดในตอนนั้น ตอนเกษียณราชการจึงได้เรียนรู้ว่า ญี่ปุ่นทำอย่างไรก็ได้ มีหนี้สาธารณะเกิน 150% ของ GDP ก็ไม่มีปัญหา เพราะประเทศญี่ปุ่นนั้นเขามีทรัพย์สินทั่วโลก (รวมทั้งเงินให้ประเทศอื่นกู้) และมีกิจการที่ก่อรายได้ให้บริษัทญี่ปุ่นทั่วทุกประเทศ เมื่อรวมทั้งหมดแล้วเรียกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือที่เรียกว่า GNP ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารโลกในปี 2559 มีมูลค่าถึง 5.106 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในปีเดียวกัน มีมูลค่าเพียง 4.939 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ กล่าวคือมีมูลค่าของ GNP มากกว่ามูลค่า GDP ถึง 3.38%

และที่รับประกันได้คือ ทรัพย์สินในต่างประเทศของญี่ปุ่นนั้นสามารถก่อให้เกิดรายได้ส่งเข้าประเทศแน่นอนทุกปี ผิดกับของไทยบางบริษัททำรายได้ในต่างประเทศได้พอควร แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่า ได้แล้วไปซุกอยู่ในต่างแดนที่ไหนเท่าใดบ้าง

สมหมาย ภาษี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image