งานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง : โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

รัฐบาลเดินหน้าในการทำให้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณนอกเหนือจากงบประมาณปกติจำนวน 2,500 ล้านบาท (จากงบประมาณกลางปีจำนวน 190,000 ล้านบาท) ให้ 27 มหาวิทยาลัยนำไปใช้ในการวิจัยและสร้างนวัตกรรมแบ่งเป็น 1,500 ล้านบาท สำหรับ 5 กลุ่มมหาวิทยาลัย (ที่ได้ข้อสรุปจากการหารือร่วมกันระหว่างตัวแทนรัฐบาลและที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ในการผลิตบัณฑิตและการทำวิจัยที่ 27 มหาวิทยาลัยจะร่วมมือกันดำเนินการตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0) เพื่อสร้างศูนย์กลางนวัตกรรมและร่วมมือกันทำวิจัยกลุ่มละ 300 ล้านบาท ดังนี้

กลุ่มอาหารและเกษตร มีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นแม่ข่าย
กลุ่มสังคมผู้สูงวัย มีมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแม่ข่าย
กลุ่มสมาร์ทซิตี้ มีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นแม่ข่าย
กลุ่มพลังงาน มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแม่ข่าย
กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นแม่ข่าย

สำหรับงบประมาณอีกส่วนหนึ่งจำนวน 1,000 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 500 ล้านบาท สำหรับการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) และ 500 ล้านบาท ในส่วนของวิศวกรรมชีวการแพทย์ (ไบโอเมด) โดยมอบให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยมหิดลตามลำดับ เพื่อเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ

ในอดีตสถาบันการศึกษาไทยมักจะแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันการศึกษาหรือองค์กรวิจัยต่างประเทศ โดยมีความร่วมมือกันในลักษณะต่างๆ อาทิ เปิดสอนหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตร่วมกัน แลกเปลี่ยนอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา ทำการวิจัย ตลอดจนจัดตั้งหน่วยงานร่วมกัน การจัดตั้งกลุ่มมหาวิทยาลัยดังกล่าวข้างต้น น่าจะเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการในลักษณะเครือข่ายขนาดใหญ่ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศด้วยกัน มีกรอบการดำเนินการที่ชัดเจน และที่สำคัญคือมีตัวแทนรัฐบาลร่วมในการเจรจาหารือในการจัดตั้งด้วย และตอกย้ำความตั้งใจในการดำเนินการของรัฐบาลด้วยการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนอย่างเต็มที่

Advertisement

โดยถือเป็นสิ่งจูงใจที่มหาวิทยาลัยจะได้ทำงานร่วมกัน มุ่งเป้าสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง นำงานวิจัยสู่การตลาดสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์

โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นโครงการตัวอย่างที่เริ่มจากวางนโยบายและสานต่อดำเนินการต่อเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดความมั่นใจที่จะร่วมมือกันทำให้โครงการบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย แต่เป็นธรรมชาติของการวิจัยซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ผลสำเร็จอาจจะมีสัดส่วนไม่สูงมากนัก จึงขอเสนอข้อคิดเห็นที่อาจจะช่วยทำให้ผลสำเร็จเพิ่มมากขึ้นใน 2 ส่วนคือ หน่วยงานวิจัยและงานวิจัย

หน่วยงานวิจัย ควรพิจารณาองค์กรที่มีศักยภาพในการวิจัยเข้าร่วมเครือข่ายเพิ่มเติม โดยอาจจะเป็นในช่วงแรกนี้หรือในระยะต่อไปก็ได้ ดังนี้

Advertisement

– นอกเหนือจาก 27 มหาวิทยาลัย ยังมีสถาบันการศึกษาอีกส่วนหนึ่งคือ กลุ่มสถาบันราชภัฏและราชมงคล ซึ่งงานวิจัยถือเป็นภารกิจหลักเช่นเดียวกัน

– องค์กรภาครัฐและเอกชน ที่งานวิจัยไม่ใช่ภารกิจหลักแต่มีหน่วยงานวิจัยที่มีศักยภาพอาทิเช่น บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น โดยในกรณีของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำผลการวิจัยไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ เริ่มจากโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิจัยพัฒนาจนเกิดเป็นองค์ความรู้ สามารถผลิตได้ทั้งผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ที่ผ่านมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานระดับสากล

และถึงแม้จะได้รับการพิจารณาให้อยู่ในแผนโครงการเมืองสมุนไพรแล้วก็คงจะนำเข้าร่วมเครือข่ายได้

งานวิจัย น่าจะมีการพิจารณาขยายกรอบการดำเนินงานในส่วนต่างๆ คือ

– เพิ่มหัวข้อวิจัยในส่วนของพลังงานและภาวะโลกร้อนให้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายประเทศในโลกให้ความสนใจ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในประเทศ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศจะส่งผลถึงการผลิต ซึ่งในภาวการณ์ปัจจุบันมีการแข่งขันสูงจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตให้มากที่สุด โดยไม่กระทบถึงคุณภาพของผลผลิต รวมถึงการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่ควรมีการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตที่หลากหลาย การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงมีต้นทุนต่ำสุดแต่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเกินสมควร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตคงจะมีศักยภาพ ที่จะทำการวิจัยจนได้องค์ความรู้ที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินได้โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

– การดำเนินการวิจัยในโครงการต่างๆ ควรมีมาตรการติดตามผลการดำเนินการที่เข้มข้นกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เนื่องจากโลกปัจจุบันเวลาเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ในการแข่งขัน ผลการดำเนินงานน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพิจารณาให้ความสนับสนุนงบประมาณในระยะต่อไป

– รัฐบาลควรนำองค์ความรู้หรือชิ้นงานที่ได้จากการวิจัยไปใช้ในงานหรือดำเนินการต่อไปในเชิงพาณิชย์ โดยอาจจะให้สถาบันการศึกษาและองค์กรวิจัยต่างๆ ส่งผลงานวิจัย (ที่ดำเนินการจนได้องค์ความรู้หรือชิ้นงานแล้ว) ที่ถือว่าดีที่สุด 5 หรือ 10 อันดับแรก มาให้รัฐบาลพิจารณา และเมื่อคัดกรองแล้วเร่งนำไปดำเนินการต่อไปในเชิงพาณิชย์ เช่น เครื่องจักรกลการเกษตรประเภทต่างๆ รถไฟฟ้า รถโดยสารใช้เชื้อเพลิง NGV ซึ่งเป็นผลงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และขยายตลาดให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในระดับภูมิภาค ในกรณีของผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นต้น

ความร่วมมือทางวิชาการยุคใหม่ ควรเป็นความร่วมมือในทุกมิติทั้งกับหน่วยงานการศึกษาด้วยกัน หรือองค์กรลักษณะอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงบุคคลที่ได้รับการยกย่องในเชิงวิชาการลักษณะต่างๆ ซึ่งจะทำให้ได้องค์ความรู้ที่สมบูรณ์เหมาะสมเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้าตามที่มุ่งหวัง

รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image