‘ความรุนแรง’ในสังคมไทย โดย ปราปต์ บุนปาน

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ลงพื้นที่-แถลงข่าวคดีฆ่ายกครัว 8 ศพ ที่จ.กระบี่ เมื่อ16ก.ค.2560

การลอบสังหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลอบสังหารทางการเมืองในประเทศไทย นั้นเป็นประเด็นที่ถูกศึกษาในเชิงวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง

ครั้งหนึ่ง “เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน” นักวิชาการอาวุโสผู้ล่วงลับ เคยเสนอว่าปรากฏการณ์มือปืนปลิดชีวิตนักการเมืองและผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในทศวรรษ 1980 อาจแสดงให้เห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ที่มีความสำคัญมากขึ้นของการเมืองในระบบรัฐสภา

พูดอีกอย่างคือการลอบสังหารนักการเมืองและหัวคะแนนผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ได้กลายมาเป็นดัชนี้บ่งชี้ “ความก้าวหน้า” ของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในประเทศไทย

จากการศึกษาของ “ประจักษ์ ก้องกีรติ” (อาทิ บทความ “ฆาตกรรมกับความถดถอยในสยาม: จากมือปืนรับจ้างถึงคนในเครื่องแบบ” ในเว็บไซต์เกียวโตรีวิว) ธุรกิจมือปืนรับจ้าง/ลอบสังหารนั้นเกิดขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมของภาคเศรษฐกิจนอกกฎหมาย ตั้งแต่การพนัน การค้ายาเสพติด ค้าประเวณี เรื่อยไปจนถึงการรับจ้างทวงหนี้ ค้าของเถื่อน หรือไล่ที่ดิน

Advertisement

เมื่อการเลือกตั้งทวีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ ธุรกิจลอบสังหารจึงค่อยๆ คืบคลานเคลื่อนตัวไปเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางการเมืองในระบบรัฐสภา

คล้ายกับว่าความรุนแรงและการลอบสังหารทางการเมืองจะเบ่งบาน “ล้อ” ไปกับการผงาดขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองของกลุ่มธุรกิจระดับชาติและท้องถิ่น (ที่เรียกกันว่าระบบ “ธนกิจการเมือง”) ตลอดจนการสั่งสมอิทธิพลบารมีของนักการเมืองผู้มีลักษณะเป็น “เจ้าพ่อ” ท้องถิ่น

การพยายามปฏิรูปความสัมพันธ์ทางอำนาจเช่นนั้นผ่านเครื่องมืออย่าง “รัฐธรรมนูญปี 2540” ก็ยังมิอาจขจัดปัญหาความรุนแรงทางการเมืองให้หมดสิ้นไปเสียทีเดียว

Advertisement

นอกจากนั้น ประจักษ์ยังเสนอเพิ่มเติมอีกว่าการเมืองไทยที่คลี่คลายเปลี่ยนแปลงรูปแบบหลังรัฐประหาร 2549 ได้เผยให้เราเห็นอีกด้านของความรุนแรงอันน่าสะพรึงกลัวในสังคม ที่แสดงตัว (แทรกซึม) ผ่านความขัดแย้งบนท้องถนนและการใช้กำลังความรุนแรงนานาชนิด ซึ่งขยายตัวไปไกลกว่าการลอบสังหารชนชั้นนำท้องถิ่นเป็นรายบุคคล

ความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงอันเรื้อรังระลอกดังกล่าวนำมาสู่ความสูญเสีย-บาดเจ็บ-ล้มตายของประชาชนจำนวนมหาศาล

ถึงแม้ว่า “คดีฆ่ายกครัว 8 ศพ” ที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นล่าสุด อาจไม่ได้มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

แต่น่าสนใจว่าในยุครัฐบาลทหารที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น มีความพยายามจะควบคุมธุรกิจนอกระบบหลายชนิด รวมถึงกลุ่มแก๊งผู้มีอิทธิพลต่างๆ

ทว่า คดีฆาตกรรมหมู่อันสะเทือนขวัญก็ยังสามารถสอดแทรกถือกำเนิดขึ้นมาได้ ในสภาพการณ์ที่ภาครัฐมีการบังคับใช้อำนาจอย่างเข้มแข็งจริงจัง

นี่อาจแสดงให้เห็นถึง “เชื้อมูลความรุนแรง” ที่แฝงฝังอยู่ในแทบทุกส่วนของสังคมไทย ก่อนจะเผยร่างงอกเงยออกมาผ่านลักษณะอันแตกต่างหลากหลาย ตามแต่บริบททางสังคม-การเมือง ซึ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

……………

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image