ฐานะ เกียรติภูมิ พรรค และนักการเมือง แตกแยก อ่อนแอ

3ปีภายใต้ยุค คสช. ภายใต้การบริหารจัดการโดยทหารที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้นำ สะท้อนให้เห็นอะไร

“คำถาม” นี้มี “คำตอบ” แตกกระจาย

แตกกระจายไปตามแต่ละ “มุมมอง” ที่ไม่เหมือนกัน แตกกระจายไปตามแต่ละ “ประโยชน์” ที่ไม่เหมือนกัน

ไม่ว่าจะมาจาก “พรรคเพื่อไทย” ไม่ว่าจะมาจาก “พรรคประชาธิปัตย์”

Advertisement

กระนั้น ก็มีลักษณะ “ร่วม” ประการหนึ่งซึ่งยากที่ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะปัดปฏิเสธได้ก็คือ สถานะและเกียรติภูมิของพรรคการเมืองและของนักการเมือง

เสื่อมทรุด และตกต่ำ

อย่าว่าแต่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เลย แม้กระทั่งพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยเองก็ยากที่จะปฏิเสธ

เรื่องนี้สามารถเข้าใจได้

ลองไปนำเอา “เทป” เก่าของคำปราศรัยบนเวที ไม่ว่าจะจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ว่าจะจาก กปปส.มาเปิด

ก็จะประจักษ์แจ้ง

เป้าหมายในการปราศรัย ในการ ดิสเครดิตของบรรดานักพูดเหล่านี้ล้วนมีเป้าหมายเดียว นั่นก็คือพรรคการเมือง นั่นก็คือนักการเมือง

แม้กระทั่ง “นักพูด” ของ กปปส.ซึ่งเป็น “นักการเมือง” ก็เถอะ

เพียงแต่เขารู้สึกว่าพรรคการเมืองที่เขาประณามมิใช่พรรคของเขา และนักการเมืองที่เขาประณามมิใช่พวกเดียวกันกับเขา

เป็นพรรคไทยรักไทย เป็นพรรคพลังประชาชน เป็นพรรคเพื่อไทย

ปัจจัยนี้เองที่ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ล้วนอาศัยมาเป็นกระดานหกทะยานไปสู่ความสำเร็จ

ไม่เชื่อลองไปถาม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ก็ได้

ความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมือง ความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง ความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่ต่างขั้วต่างสีกันต่างหากคือ “เหยื่อ”

เป็นเหยื่อให้รัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เวิร์ก

เป็นเหยื่อให้รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 นำมา “ต่อยอด” และดำรงจุดมุ่งหมายในการครองอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน

ยาวนานร่วม 20 ปี และแทบไม่มีกำหนด

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญ ไม่ว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญล้วนมี “เป้าหมาย” อันเด่นชัดอยู่ที่พรรคการเมือง อยู่ที่นักการเมือง

ไม่เว้นแม้กระทั่งกลุ่มคนที่เคยก่อตั้ง “พรรคการเมืองใหม่”

ไม่เว้นแม้กระทั่งแกนนำ กปปส.ที่ต่างทยอยกันหวนกลับไปยัง “พรรคประชาธิปัตย์” อันเป็นพื้นที่เก่าของตน

อย่าคิดว่าจะมีแต่ “พรรคเพื่อไทย” หรือ “นปช.”

ความขัดแย้ง แตกแยก ของพรรคการเมือง ของนักการเมืองและในหมู่ประชาชนต่างหากที่ได้กลายเป็นภักษาหารอันเอมโอช

เป็น “เหยื่อ” ให้กับขบวนการ “รัฐประหาร”

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ล้วนอ่านเกมอันบัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” ตรงกัน

นั่นก็คือ ไม่ต้องการให้มี “พรรคการเมือง” ที่แข็งแกร่ง มั่นคง

นั่นก็คือ ไม่ต้องการให้มีความคิด

โดยพื้นฐานอันมี “ลักษณะร่วม” ระหว่างพรรคการเมืองและระหว่างนักการเมือง

เพราะรากฐานแห่ง “อำนาจ” มาจากความอ่อนแอของ “พรรคการเมือง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image