ได้หรือไม่ได้อย่างไร เป็นเรื่องของเรา โดย : เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

วันก่อนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปรารภถึงการเลือกตั้งว่า หลังจากพระราชพิธีสำคัญของชาติไปแล้ว (คือพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร) น่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน

การปรารภของผู้นำประเทศเรื่องการเมืองการเลือกตั้ง เป็นสัญญาณที่ดีในบรรยาการที่เริ่มคลี่คลายจากเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตย หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง และผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทยอยประกาศใช้

การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีช่องทางมาหลายช่องทาง ซึ่งทุกช่องทางมีกำหนดให้ผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง “โดยตรงและลับ”

ส่วนการจะได้มาซึ่งตัวผู้แทนราษฎรวันนี้ เป็นเรื่องที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ (จากการแต่งตั้ง) กำหนดออกเป็นร่างพระราชบัญญัติ หรือกฎหมาย ว่าจะมีวิธีการอย่างไร

Advertisement

ประการสำคัญของประชาธิปไตย แม้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ฯลฯ

เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จึงเป็นเรื่องที่ปวงชนชาวไทยคือผู้ที่กำหนดการปกครองด้วยตัวเองตามอำนาจที่มี

ประเทศในระบอบประชาธิปไตย การปกครองประกอบด้วย อำนาจนิติบัญญัติ คืออำนาจในการออกกฎหมายมาใช้บังคับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อำนาจบริหาร คืออำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ที่นำภาษีของประชาชนมาใช้บริหาร และอำนาจตุลาการ คือการตัดสินอรรถคดีตามกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ออก และผู้บริหารคือผู้บังคับใช้กับประชาชนให้เป็นไปตามบทบัญญัตินั้น หากไม่กระทำตามต้องส่งให้ฝ่ายตุลาการพิจารณาพิพากษาให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ

Advertisement

หมุนเวียนอย่างนี้ โดยไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่าย

ขณะเดียวกัน การได้มาซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ระบบการเลือกตั้งของประชาชนมีหลายวิธี ที่สำคัญคือประชาชนทุกคนที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายบัญญัติจะมีเสียงเท่ากันคือ 1 คน ต่อ 1 เสียง

ผลการเลือกตั้งคือ ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก จึงได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของประชาชนที่จะไปบัญญัติกฎหมาย แก้ไขกฎหมาย และยกเลิกกฎหมาย

ส่วนผู้บริหาร เกิดขึ้นได้จากสองสามกรณี คือเกิดจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรวมตัวกันเป็นเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ โดยผู้นำรัฐบาล คือนายกรัฐมนตรีอาจได้มาจากการเลือกของผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก

ส่วนอีกระบบหนึ่ง คือการเลือกตั้งผู้นำเป็นประธานาธิบดีโดยตรง ด้วยเสียงข้างมากเช่นกัน

ด้วยเหตุที่ต้องใช้เสียงข้างมากหาผู้นำประเทศ จึงเกิดการรวมตัวของผู้ได้รับเลือกตั้งจัดตั้งพรรคการเมือง ซึ่งควรเป็นอิสระ ใครจะเป็นสมาชิกพรรคไหน ใครจะเข้าจะออกอย่างไรควรเป็นอิสระ

แต่เพราะไม่ว่าผู้เลือกตั้ง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ฝักใฝ่ในการเมือง ยังเป็นปุถุชนมีรัก โลภ โกรธ หลงทั้งสิ้น ดังนั้น รัฐจึงพยายามกำหนดกฎเกณฑ์ให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล ที่เป็นคนดีและมีธรรมาภิบาล เหมือนดั่งใจคิด เหมือนดั่งใจหวัง

ลงเรือแป๊ะลองตามใจแป๊ะสักครั้ง ส่วนจะได้ตามใจแป๊ะหรือไม่ เป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของแป๊ะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image