นโยบายครบเครื่องเรื่องบุหรี่ โดย : มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด

ทุกครั้งที่สูบบุหรี่ จะมีสารพิษพ่นออกมาถึง 69 ชนิด การสูบบุหรี่จึงจัดเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Disease : NCD) เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง

จากการประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อมทางการแพทย์ มูลค่าการสูญเสียผลิตภาพจากการขาดงานของผู้ป่วยและผู้ดูแล และมูลค่าการสูญเสียผลิตภาพจากการตายก่อนวัยอันควร พบว่า มีค่าใช้จ่ายทั้งหมดเท่ากับ 74.88 พันล้านบาท (เฉลี่ย 29.39 บาทต่อบุหรี่ 1 ซอง) คิดเป็นร้อยละ 0.78 ของ GDP หรือเท่ากับร้อยละ 18.19 ของงบประมาณทางด้านสาธารณสุขในปี พ.ศ.2552

จึงไม่น่าแปลกใจว่าในบรรดานโยบายสาธารณะของไทย นโยบายลดการบริโภคยาสูบนับเป็นนโยบายที่ “ครบเครื่อง” มากที่สุดในด้านของการใช้เครื่องมือนโยบายคือ มีทั้งเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Instrument) ซึ่งได้แก่ภาษีสรรพสามิต มีทั้งเครื่องมือทางสังคม คือ มีกลุ่มรณรงค์มีการใช้สื่อประเภทต่างๆ โดยเฉพาะการผลักดันของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

และมีมาตรการทางกฎหมายผ่านนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่และป้องกันผู้สูบบุหรี่รายใหม่ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการบังคับใช้มาตรการต่างๆ เกี่ยวกับการลดควันบุหรี่มือสองเพื่อปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่

Advertisement

ผลที่ประจักษ์ได้ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติก็คือ แนวโน้มการสูบบุหรี่ของคนไทยมีแนวโน้มลดลง สัดส่วนผู้หญิงที่สูบบุหรี่ต่ำกว่าผู้ชายมากและลดลงเร็วกว่ามาก ทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มการสูบบุหรี่ลดลง แต่ในกลุ่มเยาวชนมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ สัดส่วนผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำลดลงอย่างต่อเนื่อง คนไทยสูบบุหรี่เร็วขึ้น คนไทยสูบบุหรี่ 11 มวนต่อวันและทุกกลุ่มสูบปริมาณต่อวันมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจนว่ามีที่มาจากนโยบายอะไรการศึกษาผลของนโยบายที่ผ่านมามักเป็นการศึกษานโยบายในแต่ละเรื่องในเชิงพรรณนา ไม่สามารถนำนโยบายหลายๆ ประเภทมาเปรียบเทียบความมีประสิทธิผล

ล่าสุดงานวิจัยของ ผศ.ดร.วรลักษณ์ หิมะกลัส ที่ฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นผู้สนับสนุน ได้นำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐมาทำการวิเคราะห์ประสิทธิผลทางนโยบาย 4 ประเภท และได้มีการทบทวนข้อมูลอย่างรอบด้านได้ผลที่น่าสนใจ 3 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

ประเด็นแรก ในด้านประสิทธิผล พบว่านโยบายที่ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่มีจำนวนลดลงถึง 19% ได้แก่ การกำหนดคำเตือนบนซองบุหรี่ และจำนวนบุหรี่ที่สูบลดลงถึง 1.6 มวนต่อคน/วัน (สำหรับผู้ที่สูบประจำและพยายามจะเลิก) สำหรับนโยบายที่มีประสิทธิผล ได้แก่ นโยบายภาษีที่ทำให้บุหรี่ขึ้นราคาจะมีผลทำให้ผู้สูบประจำลดลง 24% และทำให้จำนวนบุหรี่ที่สูบลดลง 1.1 มวนต่อคนต่อวัน การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะลดจำนวนผู้สูบลง 27% และลดจำนวนบุหรี่ที่สูบลง 0.4 มวนต่อวันต่อคน (มวนต่อคนต่อวัน) ซึ่งหากใช้จำนวนประชากรที่สำนักงานสถิติคำนวณจะทำให้ลดจำนวนบุหรี่ที่สูบลงได้ 4 ล้านมวนต่อวัน หรือ 2 แสนซองต่อวัน)

ประเด็นที่สอง เป็นเรื่องพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชน การศึกษาพบว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนที่แม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่ก็ลดลงในอัตราต่ำกว่ากลุ่มอื่นๆ และยังมีแนวโน้มเริ่มสูบเร็วขึ้นโดยอายุต่ำสุดอยู่ที่ 6 ปี กลุ่มอายุน้อยจะมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ หมายความว่า การขึ้นราคาบุหรี่มีผลกระทบต่อการเสพน้อยกว่ากลุ่มนี้ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกว่าครึ่งของเยาวชนอายุ 15-24 ปี ซื้อบุหรี่ในลักษณะแบ่งขาย เยาวชนยังเป็นกลุ่มที่พยายามเลิกบุหรี่น้อยที่สุด และเป็นกลุ่มที่เห็นการส่งเสริมการขายบุหรี่ผ่านอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์มากกว่ากลุ่มอื่น

ประเด็นที่สาม การศึกษาพบว่า ผู้เสพติดบุหรี่คือผู้ที่ตอบว่าสูบเป็นประจำนั้น มักเป็นชาย มีจำนวนเป็น 16 เท่าของผู้หญิง มักมีการศึกษาไม่มาก ทำงานใช้แรงงานเป็นหลัก และมักดื่มแอลกอฮอล์ กลุ่มนี้จึงน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ นอกจากกลุ่มเยาวชน

ทั้งนี้จากผลการศึกษา งานวิจัยฉบับนี้ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้

(1) ปรับปรุงและพัฒนารูปแบบในส่วนของภาพคำเตือนให้มีจำนวนที่มากขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อไม่ให้นักสูบรู้สึกชินกับภาพเดิมๆ จนทำให้ไม่รู้สึกถึงพิษภัยของบุหรี่

(2) ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายหลัก เช่น กลุ่มเยาวชน กลุ่มวัยแรงงาน หรือกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองหรือชนบท

(3) การพัฒนาช่องทางและรูปแบบในการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ให้มีความทันสมัยและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ต่างๆ และสื่อโทรทัศน์ และมีการปรับปรุงรูปแบบการรณรงค์ให้เข้ากับยุคสมัย

(4) เพิ่มการเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายและการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นแหล่งที่กลุ่มวัยรุ่นสามารถเข้าถึงได้ง่ายและส่งผลให้เกิดนักสูบหน้าใหม่และอาจส่งให้กลุ่มนักสูบหน้าใหม่เหล่านี้พัฒนาเป็นนักสูบที่สูบบุหรี่เป็นประจำมากขึ้น

(5) เพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อกำหนดเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ และใช้มาตรการทางสังคมในการกดดันผู้สูบบุหรี่ในที่สาธารณะมากขึ้น

(6) ปรับอัตราภาษีผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาสูบรวมถึงสารเสพติดอื่นๆ ที่ทดแทนบุหรี่ได้

(7) การเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้นโยบาย โดยเฉพาะมาตรการการห้ามแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนๆ หรือขายเป็นซองเล็ก

(8) ฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่มีความสำคัญต่อการวิเคราะห์ถึงผลการดำเนินนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ ดังนั้นควรมีการปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และมีการจัดเก็บในเชิงลึกและบูรณาการหลายๆ ศาสตร์มากขึ้นทุกๆ 5 ปี

และมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการบริโภคยาสูบ เช่น ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อสร้างชุดของข้อคำถามที่เหมาะสมและสามารถนำไปใช้เพื่อการวิเคราะห์หรือวิจัยได้ลึกซึ้งมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image