แรงงาน ต่างด้าว ยืนหยัด หรือ ‘ดื้อรั้น’ เส้นแบ่ง บางยิ่ง

พระราชกำหนดว่าด้วยแรงงานต่างด้าวที่แปรเป็นพระราชบัญญัติเรียบร้อยไปแล้วกำลังสร้างปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อในทางการเมือง นั่นก็คือ ฉันทามติ “ร่วม”

มิได้เป็นฉันทามติร่วมระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานกับแรงงาน “ต่างด้าว”มิได้เป็นฉันทามติร่วมระหว่างรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานกับ 1 ผู้ประกอบการ และ 1 นักวิชาการซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในกระบวนการแรงงาน

หากแต่เป็นระหว่าง “ผู้ประกอบการ” กับนักวิชาการทางด้าน “แรงงาน”

หากใครอ่านการแถลงจากสภาองค์กรนายจ้างผู้ประกอบการค้าอุตสาหกรรมไทยอันเป็นตัวแทน 9 องค์กรภาคีเครือข่ายนายจ้าง

Advertisement

และติดตามการจัดอภิปรายในทางวิชาการนับแต่ปรากฏกฎหมาย “แรงงานต่างด้าว” ออกมา

ก็ประจักษ์ในบทสรุปอันจะกลายเป็นฉันทามติ “ร่วม” ระหว่าง นายจ้าง แรงงานและนักวิชาการแรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

หากกล่าวตามสำนวนอันสอดคล้องกับยุคสมัยแห่งการปรองดอง สมานฉันท์ กฎหมายว่าด้วยแรงงานต่างด้าวจึงกลายเป็นพลังอันทรงความหมาย

Advertisement

เพียงแต่มิได้เป็นไปตาม “จุด” ที่รัฐบาลต้องการ

ตรงกันข้าม นายจ้าง แรงงานไทย และนักวิชาการทางด้านแรงงาน ต่างมีความเห็นไปในทางตรงกันข้ามกับรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน

นั่นก็คือ องค์กร “นายจ้าง” ต้องการให้แก้ไขกฎหมาย

ไม่ว่าจะในเรื่องประเด็นของค่าปรับ ไม่ว่าจะในประเด็นว่าด้วยอาชีพสงวน ไม่ว่าจะในประเด็นในการกำหนดลักษณะความผิดและบทลงโทษที่เป็นคดีอาญา

ทางด้าน “วิชาการ” อาจไม่รุกคืบถึงขนาดนั้น

กระนั้น หากสดับรับฟังข้อสังเกตของนักวิชาการ ไม่ว่าจะมาจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ว่าจะมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ล้วนมีความเห็นตรงกันว่าไม่ว่าจะมองผ่านพระราชกำหนด ไม่ว่าจะมองผ่านพระราชบัญญัติ

ล้วนคาดหมายว่าไม่เพียงไม่สามารถแก้ปัญหา แต่อาจสร้างปัญหาใหม่

สิ่งที่หลายคนรอคอยก็คือ หากเมื่อใดที่คำสั่งหัวหน้า คสช.อาศัยอำนาจของมาตรา 44 หมดบทบาท นั่นแหละคือจุดเริ่มของปัญหา

ถามว่าปัญหาสะท้อนอะไร

สะท้อนไม่เพียงแต่ในจุดที่กระทรวงแรงงานขาดความเข้าใจต่อปัญหาและความเป็นจริงของแรงงานต่างด้าวอย่างเพียงพอ

หากแม้กระทั่ง “สนช.” เองก็เช่นเดียวกัน

การผ่านพระราชกำหนดเป็นพระราชบัญญัติ อาจเพื่อต้องการยืนยันในเจตจำนงที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์

แต่เท่ากับมองข้าม “ปม” และประเด็นอันวางเอาไว้

ปฏิกิริยาของแรงงานไม่ว่าจะเป็นพม่า ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา ไม่ว่าจะเป็นลาว เป็นปฏิกิริยาอย่างเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นหลังประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 แต่รุนแรงมากกว่า

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 อาจเป็นแรงสะเทือนจาก “ข่าวลือ” และความเข้าใจผิด แต่หลังตราพระราชกำหนด และหลังยกระดับพระราชกำหนดขึ้นเป็นพระราชบัญญัติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นของจริง

มีจุดต่างอย่างแน่นอนระหว่างลักษณะของ “การยืนหยัด” กับลักษณะของ “ความดื้อรั้น” เป็นจุดต่างซึ่งมีเส้นบางๆ คั่นอยู่

หากขาดความเข้าใจอย่างเพียงพอ

การยืนหยัดก็อาจกลายเป็นความดื้อรั้น และความดื้อรั้นนั้นเองก็จะถูกแปรเป็นปัจจัยในการเพิ่มและขยายปัญหา

แทนที่จะจบ กลับไม่จบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image