จะเอ่ยถ้อยความใด คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

 

“ประชามติจะผ่านไหม”-“การเมืองจะเป็นอย่างไร”

คำถามเบ้อเร่อที่ต่อให้ขึ้นชื่อว่าเซียนแค่ไหนก็ยากจะตอบแบบทำให้ทุกคนเชื่อได้

ยิ่งในประเทศที่ต่างคนต่างความคิด หนักหนาด้วยการยึดทรรศนะตัวเอง หมิ่นแคลนทรรศนะคนอื่น อย่างที่เป็นกันอยู่ทุกวันนี้

Advertisement

ใครจะไปเชื่อใคร ด้วยทุกคนต่างเชื่อในทางที่ตัวเองอยากจะเชื่อไปเรียบร้อยแล้ว

เลิกคิดถึงคำถามยากๆ แบบนั้นมาดูว่าแต่ละฝ่ายกำลังทำอะไรกันดีกว่า

ฝ่ายหนึ่งกำลังร่างรัฐธรรมนูญที่จะ “ลดสัดส่วนของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” และ “เพิ่มสัดส่วนของนักการเมืองจากการแต่งตั้ง” ใน “โครงสร้างอำนาจควบคุมประเทศ”

Advertisement

ลดบทบาทของ “พรรคการเมือง” เพิ่มโอกาสให้ “กลุ่มคนบางพวก” ขึ้นมาปกครองประเทศ

จาก “ส.ส.สัดส่วนผสม” ที่ทำให้ “พรรคใหญ่กลายเป็นพรรคเล็ก” และ “พรรคเล็กขยับขึ้นมาเป็นพรรคขนาดกลาง” ด้วยเป้าหมายจะต้องเป็น “รัฐบาลผสมที่ไร้เสถียรภาพ” ที่ถูกควบคุมเข้มข้นจาก “องค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ที่ผู้เสวยวาสนาจะมาจากการแต่งตั้งที่แทบไม่เห็นการยึดโยงกับประชาชน

ถึงวันนี้เลยมาถึง “วุฒิสภาจากการแต่งตั้งทั้งหมด” และยังไม่รู้ว่าจะให้อำนาจเลยเถิดไปถึงไหน

สภาพการถูกผลักดันให้เป็นเช่นนี้

ขณะที่ฝ่ายคัดค้านไม่เห็นด้วย ทำได้แค่แสดงความคิดเห็นไปวันๆ ต่อต้านอะไรไม่ได้ เพราะแค่ต้องจัดการกับเรื่องราวที่ประเดประดังมากระแทกกระทั้นกับชีวิตส่วนตัวก็แทบจะหายใจทั่วท้องกันได้ลำบาก สติปัญญาที่จะแบ่งบันมาสู้เพื่อส่วนรวมยากที่จะจัดสรร

บางคนอาจจะคิดว่าถึงที่สุดแล้ว เมื่อได้เวลาที่จะต้องลง “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” กัน กลไกของพรรคการเมืองจะทำงานเต็มที่

แต่หากมองถึงการเตรียมการทำประชามติที่ลงแรง ระดมกำลังกันเต็มที่จัดเตรียมในนามกองกำลังรักษาดินแดนไปประจำหน่วยเลือกตั้ง ชนิดไม่มีทางที่นักการเมืองคนไหนจะมาแทรกแซงความคิดของประชาชนแถวหน้าหน่วยได้

จะเห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อยอย่างยิ่งที่นักการเมืองจะเข้าไปยุ่มย่ามกับการลงคะแนนของประชาชนได้

และหากบางคนยังมีความหวังว่า ก่อนที่จะลงประชามติ เครือข่ายการเมืองที่แต่ละพรรคจัดสร้างไว้ยาวนาน น่าจะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าต้องทำอย่างไรบ้าง ในการควบคุมทิศทางความคิดของประชาชน

ถ้าคิดอย่างนั้นคงต้องตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบกันหน่อยว่า “บุคคลที่เป็นเครือข่าย เป็นมือเป็นไม้ของพรรคการเมือง หรือนักการเมืองคือใคร”

แน่นอนคำตอบคือ “หัวคะแนน” แต่หากติดตามการเมืองอย่างพินิจพิเคราะห์ให้รู้โครงสร้างของเครือข่ายพรรคการเมือง ย่อมรู้ว่า “หัวคะแนน” เป็นคนกลุ่มเดียวกับ “ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น”

พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งคือ พรรคที่รวบรวม “ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น” ไว้เป็นเครือข่ายทำงานในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

ในหลายพื้นที่ “นักการเมือง” เป็น “คนเดียวกัน” หรือเป็น “ลูกหลาน” เป็น “มือไม้ใกล้ตัว” ของ “ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น”

ย้อนกลับมาดูปฏิบัติการใหญ่ที่เริ่มต้นไปวันที่ 4 มีนาคม โดยเป็นการผนึกกำลังกันระหว่าง “กองทัพ-ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง” และ “ข้าราชการทุกหมู่เหล่า”

เป็น “ปฏิบัติการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นทั่วประเทศครั้งใหญ่อย่างหนักหน่วงจริงจัง”

มีการประกาศออกมาแล้วว่า รายชื่ออยู่ในมือฝ่ายปราบปรามเรียบร้อย และหากประชาชนคนไหนพบเบาะแสว่าที่มีรายชื่อต้องปราบปรามนั้นยังไม่หมดไม่สิ้นให้แจ้งเพิ่มเติมมา

“การเมืองจะเป็นอย่างไร”-“ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” จะออกมาแบบไหน

เป็นคำถามเบ้อเร่อที่ยากจะตอบได้

หากแต่ว่า “นักการเมืองจำพวกรอคอยเสวยวาสนาจากการแต่งตั้ง” ยิ่งนับวันยิ่งแสดงออกอย่างคึกคักในท่วงทำนอง “ดีครับผม เหมาะสมครับนาย ได้ทุกอย่างครับท่าน ตามนั้นเลยครับ”

ส่วนอีกฝ่ายน่ะหรือ

อื่ม!!! อื่ม!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image