ใกล้เลือกตั้ง การเมือง อนาคต คมชัด แจ่มแจ้ง

และแล้วคดีฟ้องร้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ อันเนื่องมาจากนโยบายจำนำข้าวก็มาถึงนัดที่ 16 ซึ่งเป็นนัดสุดท้าย

คดีนี้ นส.ยิ่งลักษณ์ถูกกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายจำนำข้าว ทำให้เกิดความเสียหายและมีการทุจริต โดยไม่ได้ฟังคำทัดทานจาก ป.ป.ช. จึงฟ้องว่าปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยืนหยัดต่อสู้คดี ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชน และไม่เคยนิ่งนอนใจกับข่าวการทุจริต เนื่องจากได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบหลายชุด

ส่วนความเสียหายที่มีการกล่าวหาก็มีข้อแก้ต่าง

Advertisement

ล่าสุดทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ทำหนังสือส่งศาลขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยบางประเด็น

เป็นประเด็นที่เกี่ยวกับคดี

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แกนนำพรรคเพื่อไทย แจกแจงการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ฟังว่า คดีโครงการรับจำนำข้าวตั้งแต่ปี 2558 อัยการเพิ่มเติมพยานบุคคล พยานหลักฐานจำนวนมาก ซึ่งไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.

Advertisement

เช่น รายงานผลการตรวจสอบปริมาณ และคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ชุดของ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รายงานคณะกรรมการความรับผิดทางละเมิดโดยคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งของกระทรวงการคลัง หรือสำนวนคดีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ของนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งไม่อยู่ในสำนวนการไต่สวนคดีในชั้น ป.ป.ช.

จำเลยจึงโต้แย้งคัดค้าน

ทั้งนี้ ศาลได้ใช้มาตรา 5 วรรค 1 ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญารับเอกสารเหล่านั้น และรับนายจิรชัย มูลทองโร่ย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าวเข้ามาเป็นพยาน

ในการตัดสินคดี ถ้าพยานหลักฐานเหล่านั้นเข้ามาในคดีได้ ศาลก็ใช้หลักฐานเหล่านั้นในการพิจารณาคดีได้

ฉะนั้นเมื่อจำเลยยื่นคัดค้านมาตรา 5 วรรค 1 ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2560 หรือไม่ ตามมาตรา 212 วรรค 1 แห่งรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ศาลฎีกาส่งความเห็นของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

ในระหว่างนี้ศาลฎีกาพิจารณาคดีต่อไปได้ แต่ต้องรอการพิพากษาไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยมาตรา 5 วรรค 1 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ถ้าวินิจฉัยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็นัดวินิจฉัยพยานหลักฐานต่างๆ ที่อัยการขอเพิ่มเติมได้ แต่ถ้าบอกขัดรัฐธรรมนูญศาลต้องกลับไปดูว่า การที่ศาลรับพยานหลักฐานเหล่านี้เข้ามาทำไม่ได้

เพราะฉะนั้นต้องตัดพยานหลักฐานเหล่านี้ออก นำมาพิจารณาคดีไม่ได้

เป็นเนื้อความที่นายพงษ์เทพพยายามอธิบาย

อย่างไรก็ตาม ผลการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดสุดท้ายเห็นว่า การพิจารณาคดีนี้ ศาลได้ให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวนเพิ่มเติม

โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม 21 ครั้ง ไต่สวนพยาน 15 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 10 นัด

จำเลยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติม 51 ครั้ง ไต่สวนพยาน 30 ปาก ใช้เวลาไต่สวน 16 นัด

อันเป็นการให้โอกาสคู่ความทั้งสองฝ่ายนำพยานมาให้ศาลไต่สวนอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมแก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอันเป็นหลักการสำคัญของระบบไต่สวน

ตามคำร้องของจำเลยพร้อมด้วยเหตุผลที่ยกขึ้นอ้างนั้นยังไม่เข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ศาลจะต้องส่งความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย

จึงให้ยกคำร้องของจำเลย

พร้อมกันนี้ศาลได้นัดให้จำเลยแถลงปิดคดีในวันที่ 1 สิงหาคม และนัดฟังคำตัดสินคดีในวันที่ 25 สิงหาคม

นับนิ้วคำนวณดูแล้ว เหลืออีก 35 วัน คดีนี้ก็จะมีข้อยุติ

ย้อนกลับไปก่อนเหตุการณ์การพิจารณาคดีนัดสุดท้ายได้บังเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองบ่อยขึ้น

หนึ่ง การปรากฏข่าวอดีต ส.ส.หลายสิบคนร่วมงานสังสรรค์ พร้อมๆ กับกระแสการเลือกตั้งวิธีใหม่ที่มองว่า พรรคใหญ่จะได้จำนวน ส.ส.น้อยลง

พรรคใหญ่ในที่นี้ยังคงเป็นพรรคเพื่อไทยอยู่

หนึ่ง ความเคลื่อนไหวของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทยที่นำอดีต ส.ส.ของพรรคไปเยือนจีน ถูกกระพือว่าเป็นการ “ทดลองงาน” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่

บางกระแสมองมุมร้ายว่าเป็นการ ชูขึ้นมาเป็นเป้าให้โจมตี

หนึ่ง การที่ สนช. ผลักดัน พ.ร.ป.วิธีการพิจารณาคดีนักการเมือง ที่แซงโค้งเข้าป้ายก่อนกฎหมายลูก 4 ฉบับซึ่งมีความสำคัญต่อการเลือกตั้ง

พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวมีสาระดำเนินคดีนักการเมืองแบบ ไม่มีอายุความ และเดินหน้าพิจารณาคดีได้โดยไม่สนว่าจำเลยจะอยู่หรือหนี

หนึ่ง การล้างไพ่ กกต.ใหม่ทั้งชุด และการคลอดร่างสัญญาประชาคมฉบับ คสช. ออกมา

รวมทั้งการที่ กกต. ประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส.ว่าจะมีขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2561 และสรรหา ส.ว.ให้เสร็จสิ้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ทั้งๆ ที่ กกต.ชุดนี้ยังมีอนาคตมืดสลัว

ยังอยู่ในบทบัญญัติใน พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ที่กำหนดให้เซตซีโร่

จึงไม่แปลกที่เมื่อ กกต.ออกข่าวเรื่องเลือกตั้ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงแสดงความสงสัย เพราะร่างกฎหมายลูกยังไม่ออกมาสักฉบับ

ไม่ทราบว่า กกต.กำหนดวันเลือกตั้งขึ้นมาด้วยเจตนาอะไร

น่าสังเกตว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งทางคดี ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และทางองค์กรอิสระ ที่เหมือนจะเป็นคนละเรื่อง

แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน

ความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมือง และฝ่ายกุมอำนาจในปัจจุบันยังคงสาละวนกับการวางกำลังในช่วงเลือกตั้งและหลังเลือกตั้ง

ทั้งนี้เพราะผลของทุกสรรพสิ่งที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลต่อไปยังพรรคการเมืองและนักการเมือง

ผลจากปัจจุบันจะส่งผลต่ออนาคต

การเมืองในอนาคต การเมืองหลังการเลือกตั้ง

และดูเหมือนว่า ยิ่งกาลเวลาลุล่วงไปตามโรดแมป ขยับเข้าใกล้กำหนดวันเลือกตั้งมากเท่าใด ความคมชัดและแจ่มแจ๋วในการเมืองก็เริ่มปรากกฏ

ปรากฏออกมาในหลายมิติไปพร้อมๆ กัน

อย่างน้อยข้อสังเกตของ นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยคาดคำนวณทางเดินของนักการเมืองและพรรคการเมืองในสถานการณ์ยึดอำนาจก็เริ่มชัด

นายเสกสรรค์เคยมองว่าในสถานการณ์เยี่ยงนี้ นักการเมืองและพรรคการเมืองเลือกทางเดินได้ 2 ทาง

หนึ่ง คือ สู้กับฝ่ายคุมอำนาจด้วยสิ่งที่ดีกว่า กับอีกหนึ่ง คือ ยอมร่วมเป็นพวก และกลายเป็นผู้สนับสนุน

จากเหตุการณ์ในวันนี้ ดูเหมือนนักการเมืองเริ่มเลือกกันแล้ว

เลือกที่จะยอมมากกว่าสู้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image