ปัจจัย การเมือง สหรัฐ สหภาพยุโรป กระทบ เศรษฐกิจ

แถลงจาก นายเกลน ที.เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ภายหลังการเข้าพบ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรณีเยือนสหรัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 

แจ่มชัด

แจ่มชัดว่า 1 คำเชิญจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐยังคงอยู่ ขณะเดียวกัน 1 ยังไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนว่าจะเป็นตอนใด

เหตุผล คือ “กำหนดเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะไปเยือนสหรัฐยังไม่มีวันและเวลาที่แน่นอน”

Advertisement

เหตุผล คือ “ทั้งเจ้าหน้าที่ไทยและสหรัฐพยายามหาวันเวลาที่เหมาะสมอยู่ แต่ผู้นำทั้ง 2 มีภารกิจมาก”

ความแจ่มชัดจาก “ทูตสหรัฐ” จึงดำรงอยู่อย่าง “คลุมเครือ”

คลุมเครือเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับไทยภายหลังสถานการณ์รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

Advertisement

คลุมเครือเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างอียูกับไทย

ความจริง ความสัมพันธ์อันถือว่ามีปัญหาซึ่งดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องจากเดือนพฤษภาคม 2557 กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2560

อาจเหมือนกับไม่มีปัญหา

เพราะการไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับสหรัฐก็ไม่มีอะไรสะดุดหรือขาดตอน ความร่วมมือทางการทหารอย่างเช่น “คอบบร้า โกลด์” ก็ยังซ้อมรบกันมา 3 ปีแล้ว

มิหนำซ้ำ ในห้วงหลังยังมีจีนเข้ามาด้วย

ขณะเดียวกัน การไปมาหาสู่ระหว่างไทยกับประเทศในสหภาพยุโรปก็ไม่มีอะไรสะดุดหรือขาดตอน เพียงแต่มีปัญหาบ้างก็ตรงที่โครงการบางโครงการอย่างเช่นการเจรจาและลงนามในเรื่องเขตการค้าเสรีอาจต้องชะงักพักเรื่อง

เช่นเดียวกับการแสดงออกผ่านการจัดอันดับในเรื่อง “ค้ามนุษย์” จากสหรัฐยังเป็นเทียร์ 2 ต้องเฝ้าระวัง

เช่นเดียวกับการแสดงออกผ่านการจัดอันดับในเรื่อง “ประมง” จากอียูยังเป็น “ใบเหลือง”

เป็นเทียร์ 2 จากเมื่อปี 2557 เป็นใบเหลืองจากเมื่อปี 2557 ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ถามว่าประเทศไทยแสดงความสนใจและแสดงความรับผิดชอบในเรื่องของเทียร์ ในเรื่องของไอยูยูหรือไม่และอย่างไร

ตอบได้เลยว่า สนใจเป็นอย่างมาก

หากไม่สนใจก็คงไม่มีการตราพระราชกำหนดในเรื่อง “แรงงานต่างด้าว” หากไม่สนใจก็คงไม่มีการนำเรื่องของ พล.ท.มนัส คงแป้น ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล

ความสนใจเหล่านี้สะท้อนอะไร

สะท้อนให้เห็นว่า ท่าทีที่เมินเฉย มึนตึง อันมาจากสหรัฐ อันมาจากสหภาพยุโรป มีความสำคัญเป็นอย่างสูง

ไม่เพียงแต่ในเรื่องทาง “การเมือง” หากในเรื่องทาง “เศรษฐกิจ”

เห็นได้จากความพยายามของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในหลายๆ เรื่องเพื่อสร้างความคืบหน้าในเรื่องทางเศรษฐกิจ กลับต้องกลายเป็นยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก ทุ่มเงินไปมากกว่า 900,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้

ทุนจากภาคเอกชนกลับไหลไป “ต่างประเทศ”

บังเอิญที่เงื่อนไขจากไม่ว่าสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าสหภาพยุโรป มีอย่างเดียวเท่านั้น คือ คืนความปกติให้กับประเทศด้วยการเลือกตั้ง

เพื่อให้ได้ “รัฐบาล” ตามระบบ “ประชาธิปไตย”

ตรงนี้เท่ากับยืนยันว่า “การเมือง” ต่างหากคือปัจจัยสำคัญ “การเลือกตั้ง” ต่างหากคือสิ่งที่ต่างประเทศเรียกร้องต้องการและอยากเห็น

หากไม่ปลดล็อก “การเมือง” ย่อมทำให้ “เศรษฐกิจ” เหนื่อย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image