บทส่งท้าย จากไอเอส (IS) ในมาราวี ร่วมกับเครือข่ายไอซิส (ISIS) สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดย : สีดา สอนศรี

จากบทความเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2560 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการโจมตีในเมืองมาราวีของกลุ่ม Maute (มาอูเต) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่ม Abu Sayyaf (อาบูไซยาฟ) ที่ปฏิบัติการในฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 1991 ในการก่อการร้ายลักพาตัว ฆ่าตัดหัว มีฐานอยู่ที่เมือง Jolo (โฮโล) จังหวัดซูลู และมีเครือข่ายอยู่ในรัฐซาบาห์ ของมาเลเซีย รัฐบาลฟิลิปปินส์ถือว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่รัฐบาลจะไม่เจรจาด้วย เพราะมีพฤติกรรมโหดร้าย ละเมิดกฎของศาสนาอิสลาม

กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง หัวรุนแรงที่มุสลิมสายกลางไม่ยอมรับ Abu Sayyaf มีเครือข่ายที่สำคัญอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม BIFF (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters) ปฏิบัติการในปี 2008 มี Ismael Abubakar เป็นผู้นำ อีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่ม Maute ซึ่งมี Abdullah Maute เป็นผู้นำ ทั้ง 2 กลุ่มนี้ต้องการให้เมืองมาราวี ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัด Lanao del Sur เป็นรัฐอิสลาม (Islamic State ซึ่งพวกเขากล่าวว่า Wanna Be Islamic State of Lanao)

เหตุการณ์ในเมืองมาราวีครั้งนี้ เกิดขึ้นเฉพาะเมืองหนึ่งในจังหวัด Lanao del Sur ซึ่งเป็นจังหวัดหนึ่งจาก 22 จังหวัดของเกาะมินดาเนาซึ่งอยู่ทางทางใต้ของฟิลิปปินส์ และจังหวัดที่มีการปฏิบัติการของกลุ่มนี้ นอกจากในเมืองมาราวีแล้ว ยังปฏิบัติการอยู่ที่จังหวัด Maguindanao, Basilan, Sulu และ Tawi-Tawi แต่เมืองที่มีมุสลิมมากที่สุดคือเมืองมาราวี

การโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการโจมตีที่โหดร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ฟิลิปปินส์ เพราะโจมตีก่อนวัน Ramadan 1 วัน ซึ่งชาวมุสลิมกำลังจะถือศีล มุสลิมสายกลางถือว่ามุสลิมฆ่ามุสลิมด้วยกันเองและยอมรับไม่ได้ จังหวัดห่างไกลเหล่านี้ก็เหมือนกับ 4 จังหวัดภาคใต้ของไทยนั่นเอง จังหวัดอื่นๆ อีก 17 จังหวัดก็ไม่มีปัญหา

Advertisement

แต่เมื่อคนไทยมองฟิลิปปินส์มักมองเหมารวมทั้งหมด จึงควรที่จะศึกษาภูมิศาสตร์ของประเทศฟิลิปปินส์ด้วย มองเราและมองเขา อย่ามองแต่เขาอย่างเดียว ฟิลิปปินส์ปกปักรักษาคนของเขาให้ปลอดภัย มากกว่ากลัวนักท่องเที่ยวไม่เข้าประเทศ เพราะเขามีรายได้อื่นทดแทน

จากการต่อสู้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2560 จนถึงขณะนี้ก็เป็นเวลาเดือนกว่าแล้ว จะครบ 60 วัน ในการประกาศกฎอัยการศึกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 section ที่ 18 ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็พยายามอย่างเต็มที่ร่วมกับองค์กรภายในและต่างประเทศเพื่อปราบปรามให้ราบคาบก่อนวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ เพราะวันที่ 24 กรกฎาคม เป็นวันที่ Duterte (ดูแตร์เต) ต้องแถลงการณ์ประจำปี (State of the Nation Address- SONA)

ว่ามีโครงการอะไรหรืองานอะไรที่สำเร็จหรือไม่สำเร็จ และจะแก้ไขปัญหาอย่างไรในอนาคต รวมทั้งแผนที่จะทำในอนาคต ทั้งนโยบายภายในประเทศและนโยบายต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นการแถลงการณ์ที่สำคัญของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ทุกคนตั้งแต่ปี 1946 เป็นต้นมาที่จะต้องทำ และนี่คือความกังวลของ Duterte

ในขณะนี้มีองค์กรภายในประเทศและองค์กรนานาชาติเข้ามาช่วยในมาราวี คือ

1) สหรัฐ ซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าภายใต้สนธิสัญญา 1951 (Mutual Treaty Agreement 1951) ตามข้อตกลง Mutual Defense Board และ Security Engagement Board ที่จะเข้ามาช่วยเหลือฟิลิปปินส์ด้านความมั่นคงเมื่อมีปัญหา และทหารที่สังกัดตามสนธิสัญญานี้เคยเป็นหน่วยรบใน US Pacific Command

การเข้ามาครั้งนี้ตามข้อตกลง Balikatan ภายใต้ Visiting Force Agreement คือเป็นหน่วย Joint Special Operation Task Force-Philippine (JSOTF-P) ซึ่งเป็นข้อตกลงหลังจากฐานทัพสหรัฐได้ออกไปจากฟิลิปปินส์ในปี 1996 ว่าให้ทหารสหรัฐเข้ามาซ้อมรบและช่วยรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อมีปัญหาการก่อการร้ายจากกลุ่มหัวรุนแรง ตั้งแต่เดือนมกราคม 2002 เป็นต้นมา โดยไม่เข้าไปร่วมรบหรือโจมตีเมื่อมีเหตุการณ์ไม่สงบในฟิลิปปินส์ เพียงแต่ช่วยเหลือทางด้านเทคนิค ด้านสอดแนม ลาดตระเวน ด้านส่งสัญญาณดาวเทียม และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่ฟิลิปปินส์ยังขาดอยู่ โดยร่วมกับกองทัพฟิลิปปินส์ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ที่ Western Mindanao ที่ Zamboanga (WestMinCom) ซึ่งคอยสอดส่องดูแลเหตุร้ายใน Basilan, Jolo และ Tawi-Tawi อยู่แล้ว

ในครั้งนี้กองทัพที่ WestMinCom ด้วยความช่วยเหลือจาก UNDP ก็ได้เข้าไปช่วยในมาราวีด้วย

2)ในส่วนของกลุ่ม MILF (Moro Islamic Liberation Front) ซึ่งเป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ได้ร่วมกับรัฐบาลเบนิกโน อากีโน ร่าง Bangsamoro Law ก็ได้แถลงการณ์ประณามและร่วมกับรัฐบาลในการปราบปรามกลุ่มมาราวีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม เพราะกลุ่มนี้เห็นด้วยกับการพัฒนามุสลิมภาคใต้ แต่กลุ่ม Abu Sayyaf และ Maute ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ ตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

3) ประชาสังคม (CSOs) ได้แก่ Tri-People Peace and Human Rights Movement ซึ่งมีเครือข่าย 50 กลุ่ม ช่วยกันฟื้นฟูและสร้างสันติภาพในมาราวี ด้วยการสร้างที่พักชั่วคราว จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ และฟื้นฟูจิตใจ ในกลุ่มนี้มีทั้งกลุ่มหมอ พยาบาล ครู นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา

4) กลุ่ม SPMUDA International (Southern Philippine Muslim and Non-Muslim Unity and Development Association) ซึ่งรวมกับกลุ่ม MDRRMP (Municipal Disaster Risk Reduction and Management Plan) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อสร้างสันติภาพในมินดาเนา ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ได้ร่วมกันช่วยเหลือในการสร้างศูนย์ฟื้นฟูบริจาคเงินและสิ่งของจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

5) สหรัฐร่วมกับสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ร่วมกันสอดส่องและลาดตระเวนในทะเลซูลู และช่องแคบมะละกา เพราะประเทศเหล่านี้เชื่อว่ากลุ่มก่อการร้ายจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นอน

6) กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนในยุโรปก็ได้เข้ามาช่วยสร้างศูนย์ฟื้นฟู รวมทั้งบริจาคอาหารและยา

7) ประเทศออสเตรเลียได้ส่งเครื่องบิน AP-3C Orion Aircraft เพื่อสอดแนมร่วมกับทหารฟิลิปปินส์

8) ประเทศจีนและญี่ปุ่นได้ส่งสิ่งของมาช่วยเหลือในศูนย์ฟื้นฟู

9) หน่วยงานรัฐบาล กระทรวงโยธาธิการ ได้เข้าไปช่วยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเท่าที่จะทำได้ขณะนี้

10)องค์การทางศาสนา คือ Catholic Bishops’ Conference of the Philippines ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2560 ให้รักษาสันติภาพ ให้ยอมรับความต่างศาสนา และแสดงความเห็นใจต่อชาวมุสลิมในมาราวี

ในขณะนี้กลุ่มแพทย์และพยาบาลได้เข้าไปดำเนินการรักษาผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ได้เข้าไปปฏิบัติงานแล้ว นักศึกษาใน Marawi State University ก็ได้เข้าชั้นเรียนแล้ว

การปราบปรามยังมีอยู่ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งรัฐบาลต้องระแวดระวังเพื่อความปลอดภัยของประชาชน Duterte เปรียบเหตุการณ์ครั้งนี้เหมือนกับที่ฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุโยลันดา คือไม่มีอะไรเหลืออยู่ในเมืองเลย ที่สำคัญยังได้เตรียมงบประมาณสำหรับฟื้นฟูหลังเหตุการณ์นี้แล้ว 2 หมื่นล้านเปโซ สำหรับ Duterte เองแล้วเขาจะอยู่ในมินดาเนาจนกว่าเหตุการณ์จะเรียบร้อย

การก่อการร้ายทั่วโลกไม่มีวันจบสิ้นลงไปได้ ขึ้นอยู่กับประเทศไหนจะมีวิธีป้องกันเข้มแข็งมากน้อยเพียงใด ประเทศไทยก็มีสิทธิจะเกิดขึ้นได้หรืออาจจะเกิดขึ้นแล้ว สำหรับสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เขายอมรับว่าอาจมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศของเขา ทั้ง 3 ประเทศจึงได้ร่วมมือกับสหรัฐ ซึ่งมียุทโธปกรณ์ที่ดีที่สุด เพื่อช่วยเหลือเรื่องการข่าวต่างๆ และป้องกันไว้ล่วงหน้า ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงประมาทไม่ได้ เพราะกลุ่มก่อการร้ายมีเครือข่ายทุกประเทศ อาจมาในรูปองค์กรการกุศล เพื่อฟอกเงินในการซื้ออาวุธ หรืออาจจะค้าขายยาเสพติด เพื่อนำเงินมาฝึกอบรมเยาวชนให้เป็นฐานกำลังต่อไป Duterte จึงได้กล่าวว่า เขาต้องป้องกันเด็กก่อน เพราะจะถูกใช้เป็นเครื่องมือของอุดมการณ์มุสลิมหัวรุนแรง มาถึงคำถามว่า การปราบกลุ่มก่อการร้ายจะสิ้นสุดไหม คำตอบก็คือ ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมีเครือข่ายทั่วโลก มักจะเข้าไปปฏิบัติการในประเทศที่มีปัญหากับกลุ่มส่วนน้อยมุสลิมในประเทศนั้นๆ ถ้าดูตามแนวคิด Rational Choice แล้ว พวกนี้กระทำเพราะ

1) ความคับข้องใจในอดีต และไม่ต้องการรวมกับกลุ่มส่วนใหญ่ของประเทศ จะแยกตัวเองออกมาอยู่เฉพาะกลุ่มของตนเอง

2) สภาพภูมิศาสตร์ที่ติดต่อกัน ทำให้กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านี้มักจะปฏิบัติการกับเครือข่ายที่อยู่ใกล้เคียง เช่น ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์ติดต่อกันได้สะดวก

3) ปัญหาภายในประเทศนั้นๆ เช่น ในฟิลิปปินส์ พวกเขาเป็นชนกลุ่มน้อย แต่ต้องการดินแดนบรรพบุรุษคืนทั้งหมด

4) ความละโมบ ต้องการเงินเพื่อสร้างเครือข่ายเพื่อให้บรรลุอุดมการณ์

ผู้เขียนอยากย้ำว่า กลุ่ม MNLF, MILF คือ กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ซึ่งได้ตกลงกับรัฐบาล และได้ร่าง Bangsamoro Law เสร็จแล้ว ขณะนี้ในรัฐสภา ส่วน Abu Sayyaf และ Maute และกลุ่มเครือข่ายของกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มก่อการร้ายที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ระบุไว้ใน Bangsamoro Law จึงแยกตัวออกมาจาก MNLF และ MILF ด้วยการปฏิบัติการเหี้ยมโหด ซึ่งรัฐบาลจะไม่ยอมเจรจาด้วย กลุ่มนี้ต้องการให้จังหวัดมีเฉพาะมุสลิมเท่านั้นและต้องการเป็น Islamic State

ที่สำคัญพวกเขาต้องการทวงดินแดนบรรพบุรุษคืน และได้ร่วมกับกลุ่มภายนอกภูมิภาค คือ ISIS ที่มีอุดมการณ์เดียวกัน การกระทำของกลุ่ม Maute ครั้งนี้ ถูกประณามจากชาวฟิลิปปินส์เป็นอันมาก ทั้งมุสลิมและคริสเตียน โดยเฉพาะชาวมุสลิมสายกลางรู้สึกขมขื่นกับการกระทำกับชาวมุสลิมด้วยกันในมาราวี

เหตุการณ์ครั้งนี้มีโอกาสที่จะลุกลามไปในประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะได้สร้างเครือข่ายในทุกประเทศแล้ว ทุกประเทศในภูมิภาคนี้จึงควรระแวดระวังให้มาก อย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งได้ระแวดระวังทั้งทางบกและทางทะเลแล้วในขณะนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image