คดี จำนำข้าว บทบาท ของ เพื่อไทย ท่าที จาก คสช.

ทำไมเสียงเตือนอันมาจาก คสช.กรณีวันที่ 25 สิงหาคม จึงพุ่งไปยัง “มวลชน” และที่แวดล้อมอยู่กับพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นด้านหลัก

1 เพราะพรรคการเมืองกับ “มวลชน” ย่อมสัมพันธ์กัน

ไม่ว่าจะมองบทบาทและความหมายของ “พรรคการเมือง” ด้วยสายตาหมิ่นหยามเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ในความสัมพันธ์ระหว่างพรรคกับมวลชนได้อย่างเด็ดขาด

ยิ่งเป็นพรรคเพื่อไทยยิ่งมองข้ามไม่ได้เลย

Advertisement

เหตุผล 1 เพราะพรรคเพื่อไทยคือความต่อเนื่องและสัมพันธ์ ยึดโยงอยู่กับพรรคพลังประชาชนและพรรคไทยรักไทย

พรรคเพื่อไทยคือ “อวตาร” ของ 2 พรรคนั้น

ขณะเดียวกันเหตุผล 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างสูงเพราะว่าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 พรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในปี 2550 พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2544 และต่อเนื่องมายังปี 2548

Advertisement

นี่คือ ฐานอันแข็งแกร่งยิ่งของ “เพื่อไทย”

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ คสช.ไม่ยอม “ปลดล็อก” คำสั่งและประกาศเพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมตามปกติ

ตอบได้เลยว่า เพราะ “กลัว”

จึงจำเป็นต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ว่าห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ตามมาด้วยห้ามประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค

นั่นก็คือ ยุติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา

ความจริง จากเดือนพฤษภาคม 2557 ถึงเดือนพฤษภาคม 2558 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 ถึงเดือนพฤษภาคม 2560

พรรคการเมืองต่างก็พับเพียบเรียบร้อย

แต่พอล่วงมาถึงเดือนกรกฎาคมและประสบเข้ากับสถานการณ์อ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะดำรงอยู่ในลักษณะงอก่องอขิง

จึงต้องมีเสียง “ป้องปราม” มาจาก “คสช.”

หากดูจากความสัมพันธ์ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กับ พรรคเพื่อไทย คงยากเป็นอย่างยิ่งที่จะกดให้พรรคเพื่อไทยไม่มีอารมณ์และความรู้สึกใดๆ

แม้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มิได้เป็น “หัวหน้าพรรค”

แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เป็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และสไลด์เข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีก็จากชัยชนะของพรรคในเดือนกรกฎาคม 2554

เป็นชัยชนะจากการชู “นโยบาย” ว่าด้วย “จำนำข้าว”

พรรคเพื่อไทยก็เช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย จุดเด่นคือการแปรนามธรรมแห่งนโยบายกลายเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ

“จำนำข้าว” จึงผ่าน ครม. ผ่านรัฐสภา ตาม “รัฐธรรมนูญ”

เรื่องนี้แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี แต่พรรคเพื่อไทยย่อมยากที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบได้

ตรงนี้แหละที่จะส่งผลต่อ “ต่อมสำนึก” ภายในพรรคเพื่อไทย

คำถามอยู่ที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะแสดงออกอย่างไรจึงไม่ขัดต่อความกังวลของ คสช.เท่านั้น

จากเดือนกรกฎาคมกระทั่งถึงวันที่ 25 สิงหาคม อุณหภูมิทางการเมืองจึงร้อนแรงและมากด้วยความแหลมคมอย่างเป็นพิเศษ

ทดสอบความอดทนของ “คสช.”

ทดสอบวุฒิภาวะในทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มวลชนที่แวดล้อมอยู่โดยรอบพรรคเพื่อไทย

จึงต้องติดตามด้วยความระทึกในดวงใจเป็นพิเศษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image