สัญญาประชาคมก็คือสัญญาประชาคม (ฮ่าๆ) : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

สัญญาประชาคมก็คือสัญญาประชาคม (ฮ่าๆ)

หากมองกันอย่างระมัดระวังถึงที่สุดต่อรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ คสช. การคลอดร่างแรกของสัญญาประชาคมออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้นไม่มีอะไรมากไปกว่าวิธีคิดแบบ “เอ็มโอยูนิยม” ดังที่ทำๆ ในช่วงที่ผ่านมาในรอบสามปี

นั่นก็คือ แทนที่จะใช้วิธีเซ็นเอ็มโอยูกับแกนนำทีละคน ทีละกลุ่ม ก็พยายามสร้าง “อภิมหาเอ็มโอยู”
ขึ้นมาสักฉบับหนึ่งเพื่อให้ทุกคนทุกฝ่ายได้เซ็น
ร่วมกัน

ทีนี้ไอ้เอ็มโอยูของทหารสมัยนี้มันไม่ใช่เอ็มโอยูแบบที่ชาวบ้านร้านตลาดเข้าใจกัน กล่าวคือ เอ็มโอยู หรือ Memorandum of Understanding นั้นมันมักจะต้องมาจากการตกลงปลงใจของทั้งสองฝ่ายคู่สัญญา ที่มีศักดิ์และศรีเท่าๆ กันในการบรรลุข้อตกลงและพันธสัญญาร่วมกัน

Advertisement

ไม่ใช่การบังคับอย่างไม่มีทางเลือก หรือมีทางเลือกน้อย หรือต้องลงชื่อท่ามกลางการขู่เข็ญแบบ
อ้อมๆ ว่าถ้าไม่ลงชื่อจะโดนใช้อำนาจมากกว่านี้

ที่ไม่น่าไว้วางใจที่สุดก็คือเรื่องการนำเอาการบังคับใช้สัญญาประชาคมของกองทัพเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการยืดเวลาการเลือกตั้งและการเปิดให้เกิดเสรีภาพทางการเมืองออกไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะการใช้เป็นข้ออ้างกับต่างชาติว่า ความล่าช้าของโรดแมปที่เต็มไปด้วยทิศทาง เป้าหมาย และคำสัญญานั้นสามารถเกิดขึ้นได้ เพราะโรดแมปก็คือโรดแมป หมายความว่า โรดแมปถูกทำให้เห็นว่ามีแต่เลื่อนได้เรื่อยๆ ตามเงื่อนไขร้อยแปด ซึ่งการที่ประชาชนยอมรับสัญญาประชาคมที่ไม่มีเงื่อนเวลาให้เกิดการเลือกตั้งนั้นก็อาจเป็นอีกเงื่อนไขที่ทำให้การเลือกตั้งนั้นยังสามารถเลื่อนออกไปได้

จนถึงวันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดของโรดแมปในมุมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนเสียงข้างมากที่ถูกพรากอำนาจอธิปไตยไปจากการทำรัฐประหารนั้นก็คือการกำหนดวันเลือกตั้ง ในขณะที่ในสายตาของผู้ที่กุมอำนาจนั้น เหตุผลร้อยแปดที่นำมาอ้างก็คือความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและการวางกฎหมายลูกให้เสร็จทั้งสิบฉบับ และการดึงเวลาให้ยาวนานที่สุดตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญจะให้กรอบเวลาไว้ได้

Advertisement

ลองมาพิจารณาสัญญาประชาคมใหม่ 10 ประการนี้ ซึ่งข้อสำคัญจริงๆ ก็คือข้อหนึ่ง เพราะข้อที่เหลือก็คงไม่ได้สร้างปัญหาและความแตกแยกอะไรให้กับสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว

“ข้อหนึ่ง คนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนพึงมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในกรอบของกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชน ยอมรับความแตกต่างทางความคิด และส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหา โดยใช้กลไกระบบรัฐสภา”

สิ่งที่สำคัญก็คือ แม้ว่ากองทัพในฐานะผู้ที่อ้างว่าได้รวบรวมและจัดทำร่างสัญญาประชาคมฉบับดังกล่าวนี้ได้ให้ความสำคัญกับ “คำสำคัญ” มากมายในระบอบประชาธิปไตย เช่น สิทธิเสรีภาพ การเลือกตั้ง หรือกลไกระบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในร่างฯ

แต่คำว่า “เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และยอมรับผลการเลือกตั้ง” นั้น จะต้องผ่านสิ่งที่เรียกว่า “ความร่วมมือกันในการสร้างบรรยากาศของความสามัคคีปรองดอง” และ ให้คนไทย “พึงมีความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” รวมทั้ง “ใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้อง เหมาะสม ในกรอบกฎหมาย”

เงื่อนไขเหล่านี้ที่กองทัพระบุมานั้นไม่ใช่เงื่อนไขที่ประชาชนสามารถตัดสินได้เองแต่อย่างใด เป็นเงื่อนไขที่กองทัพ พันธมิตรของกองทัพ และเนติบริกร-รัฐศาสตร์บริการ จะเป็นผู้ประเมินและแถลงเท่านั้น
และเงื่อนไขเหล่านี้ใช่ไหม ที่เป็นเงื่อนไขที่กองทัพเข้ายึดอำนาจในครั้งนี้

สัญญาประชาคมในรอบนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรที่จะทำให้เกิด “สัญญา” ตามเพลงสุดฮิต “เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน” ของกองทัพที่จะถอยออกจากการเมือง

ลองดูคู่เทียบเคียงที่สำคัญและเป็นธรรมที่สุดในการพิจารณาประเด็นนี้ นั่นก็คือ “คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23” สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในการปฏิบัติข้อแรกได้ระบุว่า “ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็ว หลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่างๆ ซึ่งอยู่ในสภาพยืดเยื้ออันเป็นความประสงค์ของฝ่ายตรงข้าม การจะเอาชนะดังกล่าวได้โดยรวดเร็วจะต้องกลับเป็นการรุกทางการเมือง ซึ่งได้แก่การปฏิบัติทั้งสิ้นที่ส่งผลให้ประชาชนสำนึกว่าแผ่นดินนี้เป็นของตนที่จะต้องปกป้องรักษา ประชาชนมีส่วนในการเป็นเจ้าของการปกครอง และได้ผลประโยชน์ตลอดระยะเวลาของการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ งานการเมืองเป็นสิ่งชี้ขาด งานการทหารจะต้องสนับสนุนและส่งเสริมให้บรรลุภารกิจงานการเมืองเป็นสำคัญ”

จะเห็นท่วงทำนอง (tone) ที่แตกต่างที่สุดของสองชิ้นนี้ คำสั่งที่นำไปสู่การปรองดองทางการเมืองเมื่อเกือบสี่สิบปีก่อนนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการเมืองนำการทหาร แล้วสัญญาประชาคมในวันนี้คือแค่การทหารนำการเมืองเท่านั้น

แต่รวมถึงท่วงทำนองหรือท่าทีสำคัญว่า ในยุคพลเอกเปรมนั้น ทหารเห็นแล้วว่าในชัยชนะนั้นจะต้องมีประชาชนอยู่ด้วย แต่ในสัญญาประชาคมในร่างล่าสุดนี้ลักษณะเป็นแบบทัณฑ์บนนักเรียนและการ “โทษเหยื่อ” หรือ blaming the victims ในความหมายที่ไม่เห็นลักษณะความเร่งด่วนของปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นแต่อย่างใด การเลือกตั้งจะมาถึงเมื่อประชาชนนั้นถูกประเมินว่ามีความเข้าใจประชาธิปไตยที่ถูกต้องแล้ว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่

ประการแรก ในการศึกษาความเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในแบบพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในระยะยาวนั้น นักวิชาการสมัยใหม่ได้พิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ประชาธิปไตยในสังคมตะวันตกนั้นเกิดจากการที่คนมีอำนาจนั้นเผชิญหน้ากับคนจนถึงขั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามปฏิวัติใช้กำลัง ดังนั้น หนทางเลือกที่พวกชนชั้นนำจะรอดก็คือการปรองดองในสามแบบ

หนึ่งคือ การเพิ่มโครงการสวัสดิการต่างๆ ให้คนยากจน

สองคือ การเพิ่มอำนาจให้คนยากจนโดยการเปิดให้มีการเลือกตั้ง หรือสถาบันตัวแทนของคนเหล่านั้น

สามคือ เลือกที่จะปราบปรามต่อไป

พัฒนาการประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการผสมผสานของสองทางเลือกแรก ขณะที่การปล่อยให้การล่าช้าในสองทางเลือกแรกยาวนานต่อไปด้วยการปราบปรามนั้นก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์การเมืองตึงเครียดมากไปอีก และอาจจะเกิดการเปลี่ยนผ่านที่กว้างไกลไปกว่าประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏในหลายประเทศมาแล้ว

ประการที่สอง ในการศึกษาการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในระยะสั้น คือให้ความสำคัญกับการออกแบบสถาบันทางการเมือง โดยเฉพาะระบบรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งนั้น เงื่อนไขสำคัญที่ผ่านการถกเถียงกันของนักรัฐศาสตร์ก็ไม่ใช่ “ความเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง” ของประชาชน แต่เป็นเรื่องของความเต็มใจในการจะเข้าร่วมกระบวนการ “แบ่งปันอำนาจ” ของผู้นำในแต่ละฝ่าย และการออกแบบระบบแบ่งปันอำนาจของฝักฝ่ายต่างๆ ในสังคม (designing a power sharing regime)

ผลการวิจัยในระดับโลก พบว่าระบบการแบ่งปันอำนาจจะเกิดขึ้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากความชาญฉลาดของนักวิชาการในการออกแบบระบบเลือกตั้งที่ซับซ้อนเท่ากับ “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างกติกาในการอยู่ร่วมกัน”

เรื่องสำคัญจึงอยู่ที่ การที่ประชาชนนั้นรู้สึกเป็นเจ้าของกฎกติการ่วมกันให้ได้เสียก่อน การเป็นเจ้าของกฎกติกานั้นจะเป็นเงื่อนไขสำคัญในการจรรโลงประชาธิปไตย หรือทำให้ประชาธิปไตยนั้นเป็น “กฎกติกาเดียวในสังคม”

การมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกติกาประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เท่ากับการเซ็นเอ็มโอยูกับทหาร หรือยอมรับสัญญาประชาคมที่ทหารเป็นกองเลขาฯในแบบที่กำลังทำกันอยู่
อย่างไรก็ตาม การสร้างระบอบการแบ่งปันอำนาจนั้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ยังถกเถียงกันไม่รู้จบในทางรัฐศาสตร์

แนวคิดหลักนั้นมาจากการพยายามออกแบบระบอบประชาธิปไตยในแบบที่ไปให้ไกลกว่าการปกครองแบบเสียงข้างมาก ในกรณีที่สังคมที่ปกครองด้วยเสียงข้างมากนั้นเกิดปัญหา เพราะว่าเสียงข้างน้อยนั้นไม่ยอม ทำไมเสียงข้างน้อยนั้นไม่ยอม ก็เพราะว่าเสียงข้างน้อยนั้นเป็นเสียงข้างน้อยในสังคมที่เกิดความแตกแยกอย่างร้าวลึก โดยทั่วไปมักจะเป็นการแบ่งแยกในลักษณะทางชาติพันธุ์ หรือทางศาสนา (นักมานุษยวิทยาอาจจะบอกว่า เป็นไปได้ที่ปัญหาชาติพันธุ์ที่มองว่าร้าวลึกนั้นเป็นเรื่องที่มีพลวัตและละเอียดอ่อนซับซ้อน ในอีกความหมายหนึ่งคือ อัตลักษณ์ของชาติพันธุ์นั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงได้มากกว่าที่เราคิด)

บทเรียนที่เราเรียนรู้จากข้อถกเถียงในเรื่องการสร้างสถาบันทางการเมืองแบบแบ่งปันอำนาจในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งนั้นก็คือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าระบบการเลือกตั้งที่ซับซ้อน มีโควต้าให้กับเสียงข้างน้อย ก็จะทำให้เกิดความปรองดอง เพราะทุกฝ่ายมีที่นั่งในรัฐบาลและในอำนาจรัฐ

ในขณะที่บางกลุ่มเชื่อว่า ยิ่งเปิดพื้นที่ให้เสียงข้างน้อยมีอำนาจโดยบังคับไว้ในกฎหมายในลักษณะที่ค้านกับเสียงข้างมากนั้น ก็จะยิ่งสืบสานโครงสร้างของความขัดแย้งให้ดำรงอยู่ต่อไป

บ้านเราไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนขนาดนี้กระมัง อาจจะออกแบบระบบที่ซับซ้อนและมีที่ให้เสียงข้างน้อย เพราะเชื่อว่าเสียงข้างน้อยนั้น “ถูกและดี” กว่าเสียงข้างมากที่ขาดความรู้ความเข้าใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ระบบที่เสียงข้างมากรู้สึกว่าตนนั้นเสียเปรียบไม่ใช่ระบบหลังอาณานิคมหรือระบบแบ่งปันอำนาจเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย แต่มีลักษณะระบบเปลี่ยนผ่านแบบสืบสานอำนาจในสมัยอาณานิคมเสียมากกว่า และระบบดังกล่าวนั้นจะทำงานได้เพียงแค่การซื้อเวลาของความขัดแย้งไปอีกระยะหนึ่งเท่านั้นเอง

ประการที่สาม วิธีคิดเรื่องของสัญญาประชาคมนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ หากพิจารณาจากมุมมองทฤษฎีสังคมการเมือง ทั้งนี้ เพราะประเด็นท้าทายสำคัญที่กองทัพคิดว่าสัญญาประชาคมนั้นดูจะมีความกิ๊บเก๋ในการใช้ หรืออาจจะคิดว่าสัญญาประชาคมนั้นคือสิ่งที่ประชาชนตั้งสัตย์สาบานและสัญญาว่าจะอยู่ร่วมกัน และที่สำคัญที่เข้าทางกองทัพก็คือ ในเงื่อนไขของสัญญาประชาคมนั้นก็คือเรื่องของการทำตามสัญญานั้น ในความหมายของการมอบอำนาจให้องค์อธิปัตย์ (อย่าลืมว่าผู้นำกองทัพอย่างพลเอกประวิตรเคยชอบให้สัมภาษณ์กับนักข่าวเสมอๆว่า ใครคือองค์อธิปัตย์)

สัญญาประชาคมในความหมายของทฤษฎีการเมืองก็คือการมอบอำนาจและการยอมรับผู้ปกครอง ยอมรับกฎหมาย นั่นก็คือยอมรับการปกครองของ คสช. ซึ่งก็คือกองทัพ

สิ่งที่กองทัพอาจนึกไม่ถึงก็คือ ทฤษฎีสัญญาประชาคมนั้นไม่เคยให้ประโยชน์กับผู้ปกครอง “แต่ฝ่ายเดียว” เพราะโดยรากฐานทฤษฎีสัญญาประชาคมในสังคมสมัยใหม่นั้นก็คือทฤษฎีของการพัฒนาการปกครองที่ก้าวออกจากการปกครองแบบเทวสิทธิ์มาสู่การใช้เหตุใช้ผล และมาสู่การคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ถูกปกครองเป็นหลัก

ดังนั้น สัญญาประชาคมในแง่การปกครองนั้น หากรัฐบาลนั้นทำตามสัญญาไม่ได้ ประชาชนก็ถือว่าเป็นสิทธิโดยธรรมชาติของพวกเขาที่จะเรียกคืนความไว้วางใจรัฐบาล หรือต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพของพวกเขา
หรือแม้กระทั่งการลุกฮือขึ้นเพื่อนำสังคมกลับสู่ภาวะธรรมชาติ เพื่อทำลายข้ออ้างที่ว่าผู้ปกครองของเขานั้นเป็นผู้ที่นำมาซึ่งความสงบเรียบร้อย หากความสงบเรียบร้อยนั้นขัดกับผลประโยชน์ของพวกเขา
ตราบใดที่สัญญาประชาคมนั้นไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเท่าเทียมกัน นั่นก็คือ เป็นพันธสัญญาระหว่างประชาชนทุกกลุ่มที่จะยอมอยู่ใต้อำนาจรัฐ

และขณะเดียวกันก็ต้องเป็นพันธสัญญาของรัฐที่จะต้องทำตามข้อเรียกร้องและสัญญาที่เคยให้กับประชาชน
เกรงว่าสัญญาประชาคมฉบับนี้ ในที่สุดจะกลายเป็นเรื่อง “สัญญาประชาคมก็คือสัญญาประชาคม” อีหรอบเดียวกับ “โรดแมปก็คือโรดแมป” นั่นแหละครับ

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image