ปฏิรูปตำรวจ : หัวโตหางยาว : โดย วสิษฐ เดชกุญชร

ปฏิรูปตำรวจ : หัวโตหางยาว

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านไป นายวรยุทธ สังหลัง ผู้ใหญ่บ้านเขางาม ตำบลบ้านกลาง อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และสมาชิกในครอบครัวอีก 7 คนถูกฆ่าตายที่บ้านของตน เพราะเป็นเหตุอุกฉกรรจ์ที่สะเทือนขวัญผู้คนทั้งในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงอย่างรุนแรง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ สั่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ลงไปกำกับดูแลการสืบสวนและจับกุมด้วยตนเอง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะได้เดินทางลงไปสืบสวนด้วยตนเอง จนในที่สุดสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้คือนายซูริก์ฟัต บ้านนบวงศ์สกุล คนบ้านและตำบลเดียวกันกับนายวรยุทธ สังหลัง

ผลการสืบสวนและสอบสวน ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายวิวาทกันด้วยเรื่องโฉนดที่ดินที่นายวรยุทธนำไปขายฝากกับนายซูริก์ฟัต และนายซูริก์ฟัตนำไปจำนองต่อกับธนาคาร ต่อมาเมื่อนายวรยุทธนำเงินไปขอไถ่ถอนคืน นายซูริก์ฟัตไม่มีโฉนดให้ นายวรยุทธจึงฟ้องศาล ในขณะเดียวกันทั้งสองก็วิวาทจนถึงกับขู่จะฆ่ากันและกัน จนในที่สุดนายวรยุทธก็ถูกนายซูริก์ฟัตยิงตายทั้งครอบครัว

เมื่อปรากฏว่าจับกุมผู้ต้องหาและพวกได้แล้ว นายกรัฐมนตรีก็แสดงความชื่นชมว่าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความสามารถและทำงานแบบ “มืออาชีพ”

Advertisement

อาจจะเป็นเพราะนายกรัฐมนตรีเคยเป็นแต่ทหาร จึงไม่คุ้นเคยกับการทำงานของตำรวจ และจึงไม่รู้หรือนึกไม่ถึงว่าเมื่อเกิดคดีอุกฉกรรจ์ขึ้น เป็นหน้าที่รับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้นอยู่แล้วที่จะต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนและจับกุม โดยไม่จำเป็นจะต้องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะแห่กันลงไปกำกับควบคุม ในกรณีของนายซูริก์ฟัตนั้น ผู้ที่จะรู้ดีที่สุดก็คือตำรวจเจ้าของท้องที่ คือผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกระบี่ และผู้กำกับการตำรวจภูธรอำเภออ่าวลึก

ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ใครไปกำกับดูแลอีก

สิ่งสำคัญที่สุดที่ตำรวจท้องที่ขาดแคลนและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติควรให้การสนับสนุนคืองบประมาณ และ/หรือเครื่องอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ ที่แม้ไม่มีคดีนายซูริก์ฟัตก็ขาดแคลนไม่เพียงพออยู่แล้ว การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะเดินทางลงไปกำกับดูแลการสืบสวนสอบสวนด้วยตนเองนั้น ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณลงไปอีกโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินของทางราชการ หรือค่าเบี้ยเลี้ยง-ค่าที่พักสำหรับตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเองและเจ้าหน้าที่ที่ติดตามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติลงไปด้วย

Advertisement

กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคดีนายซูริก์ฟัตนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการบริหารราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ จะเห็นว่าเมื่อใดมีคดีเด่นคดีดัง เมื่อนั้นผู้บังคับบัญชาระดับสูง เช่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะต้องเดินทางลงไปกำกับดูแลคดีเสมอ ในกรณีคดีนายซูริก์ฟัตนั้น ถึงกับต้องตั้ง พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวน ทั้งๆ ที่ผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ก็ต้องมีความรู้ความสามารถพอที่จะเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนได้อยู่แล้ว

การที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจสามารถลงไปก้าวก่ายกับการทำงานของตำรวจในภาคและจังหวัดเช่นนี้ ผิดหลักการบริหารงานบุคคลในการปฏิรูปตำรวจที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จึงสมควรที่คณะกรรมการจะหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาพิจารณาด้วย เพื่อว่าต่อไปข้างหน้า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ไม่มีลักษณะพิกลพิการหัวโตและหางลีบอย่างที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

วสิษฐ เดชกุญชร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image