ปัญหาโลกร้อน : โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ดูเหมือนว่าปัญหา “โลกร้อน” เป็นปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกยอมรับว่าเป็นปัญหาของชาวโลก ทุกคนทุกประเทศทุกสังคมต้องร่วมมือกันแก้ไขหรือถ้าแก้ไขกลับมาอย่างเดิมไม่ได้ก็ให้ปัญหาเช่นว่านี้ชะลอตัว ให้ช้าลงกว่าที่เคยมีมา กล่าวคือ อุณหภูมิของโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น 0.5 องศาเซลเซียส เทียบกับโลกเมื่อ 100 ปีที่แล้ว
สำหรับคนกรุงเทพฯที่อายุ 60 ปีขึ้นไป คงจะเห็นได้ชัดว่ากรุงเทพฯร้อนขึ้นเป็นอย่างมาก เพราะคนกรุงเทพฯเพิ่งจะมีเครื่องปรับอากาศนอนเมื่อประมาณ 30-40 ปีมานี้เอง เมื่อก่อนคนกรุงเทพฯก็นอนหลับได้โดยไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีเพียงพัดลมติดเพดานสำหรับห้องรับแขกและพัดลมตั้งพื้นหรือตั้งโต๊ะสำหรับใช้ในห้อง

สมัยก่อนจะไปงานพระบรมรูปทรงม้าหรืองานฉลองรัฐธรรมนูญที่สวนลุมพินี ซึ่งเป็นงานใหญ่ทั้ง 2 งานที่จัดขึ้นในเดือนธันวาคม ก็ต้องสวมเสื้อกันหนาวกันแล้ว หน้าร้อนก็ไปพักผ่อนที่ท้องสนามหลวงเพื่อไปชมการประกวดว่าวบ้าง ไปคอยเชียร์การแข่งต่อสู้กันระหว่างว่าว “ปักเป้า” กับ “จุฬา” แต่เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่ไม่รู้จักเสียแล้ว เห็นแต่ “จุฬาท่าผยอง” ในหนังสือแบบเรียน ก.เอ๋ย ก.ไก่ เท่านั้น ถ้าเทศกาลแข่งขันว่าวที่ท้องสนามหลวงยังมีอยู่ก็ไม่แน่ว่าจะมีลมเย็นให้เล่นแข่งขันว่าวได้หรือไม่ อากาศร้อนขึ้นจริงหรือไม่ หรือตึกรามบ้านช่องได้บดบังทางลมทำให้ลมจากทะเลพัดมาไม่ถึงกรุงเทพฯ

สมัยก่อนรถยนต์นั่งก็ไม่มีเครื่องปรับอากาศ มีเพียงกระจก “หูช้าง” ข้างหน้าแล้วก็ลดกระจกลงมาก็เป็นพอแล้ว เปิดรับลมธรรมชาติเข้ามาให้เย็นกว่าลมภายในรถ แต่เดี๋ยวนี้จะทำเช่นนั้นก็ไม่ได้เสียแล้ว เพราะอุณหภูมิภายนอกรถยนต์ก็สูงกว่าอุณหภูมิในร่างกาย หากเปิดกระจกรถยนต์ก็จะได้ลมที่มีอุณหภูมิที่สูงกว่าอุณหภูมิร่างกายมนุษย์คือ 37 องศาเข้ามาเสีย คนกรุงเทพฯจึงไม่รู้ว่าโลกร้อนขึ้นหรือไม่อย่างไร เพราะตลอดเวลาห้าหกสิบปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯซึ่งเคยมีคลอง มีต้นไม้ริมถนน ก็หมดไปจากการที่ผู้คนแออัดมากขึ้น

การขยายถนนทำให้ต้องถมคลองตัดต้นไม้ มีการจราจรติดขัดจากจำนวนรถยนต์ที่พ่นความร้อนตลอดเวลาเป็นจำนวนหลายแสนคัน มีเครื่องปรับอากาศที่ทำงานพ่นความร้อนออกจากอาคารมาสู่ที่สาธารณะเป็นจำนวนกว่าล้านเครื่องในเวลาเดียวกัน แม้ว่าอุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเพียงครึ่งองศาในรอบ 100 ปี แต่อุณหภูมิในเขตเมืองรู้สึกว่าจะสูงขึ้นกว่านั้นมาก

Advertisement

ไม่ใช่เฉพาะความรู้สึกเมื่อไปเดินเล่นที่สนามหลวงตอนบ่ายแก่ๆ ใกล้ค่ำว่าอากาศร้อนขึ้นไม่เหมือนเมื่อก่อน

แม้แต่ไปนั่งในร้านอาหารที่ไม่ใช่ห้องปรับอากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาก็รู้สึกว่าร้อนกว่าสมัยที่เคยมาเมื่อตอนที่ยังเป็นหนุ่ม ทั้งๆ ที่ตอนนี้จิตใจเยือกเย็นกว่าตอนนั้น
.
ทุกวันนี้ก็ต้องนั่งดูหนังสารคดีเกี่ยวกับผลของโลกที่ร้อนขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เช่นภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ละลายเร็วขึ้น ภูเขาน้ำแข็งพังทลายลงมาในทะเลทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าที่เคยเป็น มีผลกระทบต่อฝูงปลาและสัตว์น้ำในทะเลรวมทั้งสาหร่าย จุลินทรีย์พืชพันธุ์สีเขียวที่เป็นอาหารของสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น วาฬหรือปลาอื่นๆ ที่เล็กลงมาและเป็นห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิตในทะเล ที่มาถึงไทยก็คือการกัดเซาะชายฝั่งเช่นที่เขตบางขุนเทียน หรือที่ชายฝั่งทะเลของจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ เช่น สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นต้น ตามที่หนังสารคดีทั้งหลายกล่าวกันอย่างเป็นขบวนการก็คือก๊าซเรือนกระจกทำให้ความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่สามารถสะท้อนกลับไปได้หมดดังในอดีต จึงทำให้โลกร้อนขึ้น

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีถ่านหรือคาร์บอน ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์แล้วลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ปกคลุมโลกทำให้โลกเหมือนอยู่ในเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

Advertisement

จึงมีขบวนการที่เชื่อว่าโลกร้อนเกิดขึ้น เกิดการรณรงค์ให้ใช้พลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน ซึ่งได้มาจากการสะสมของซากสิ่งมีชีวิตและต้นไม้ไว้ใต้พิภพมาเป็นเวลาหลายล้านปี ต้นไม้และสิ่งมีชีวิตเหล่านี้เคยดูดซับเอาคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศไปสร้างคาร์บอนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเราเอามาเผาก็จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลับมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อีก มนุษย์จึงควรหาพลังงานทางเลือกอื่นที่ใช้หมุนเวียนได้เช่น ไม้ปลูกหรือพลังงานสะอาด เช่น ความร้อนของแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังจากการไหลของน้ำ เป็นต้น

ถ้าโลกร้อนขึ้นจริงตามที่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบ ร้อนขึ้นเพราะภาวะเรือนกระจกจริงและภาวะเรือนกระจกเกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเกิดขึ้นจากการใช้พลังงานฟอสซิล อันได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน มนุษย์ทั้งโลกก็ควรจะลดการเผาไหม้โดยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ประเด็นนี้คงไม่มีใครโต้เถียง
แต่มนุษย์จะแบ่งกันรับภาระการลดการใช้พลังงานฟอสซิล แล้วหันมาใช้พลังงานสะอาดอย่างแสงอาทิตย์ ลมหรือคลื่นกันอย่างไร เพราะขณะนี้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีราคาถูกที่สุด มีการค้นพบจากแหล่งใหม่และมีราคาถูกลงเรื่อยๆ เพราะความก้าวหน้าของวิทยาการผลิตหรือเทคโนโลยี
การแบ่งปันผลประโยชน์ทำได้ง่ายกว่าการแบ่งภาระที่ตนต้องยอมรับ ประเทศกลุ่มโอเปครวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่นในการลดปริมาณการผลิต เพื่อปั่นราคาน้ำมันดิบให้สูงขึ้นในช่วงวิกฤตการน้ำมันครั้งที่ 2 ระหว่างทศวรรษที่ 1980 แต่เมื่อราคาน้ำมันถูกลงเพราะความต้องการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีสูงกว่าความต้องการใช้น้ำมัน เพราะมีพลังงานทดแทนและมีการประหยัดการใช้พลังงานมากขึ้น จนขณะนี้กลุ่มโอเปคไม่มีพลัง ไม่มีความหมายอีกต่อไป เมื่อสหรัฐอเมริกาไม่ต้องซื้อน้ำมันดิบจากประเทศตะวันออกกลางอีกต่อไป เพราะสามารถผลิตได้เอง

ขณะเดียวกันประธานาธิบดีสหรัฐก็ประกาศว่าตนไม่เชื่อทฤษฎีโลกร้อน และจะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีส ที่กำลังประชุมเพื่อกำหนดให้ประเทศต่างๆ ที่ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะต้องรับภาระอย่างไรบ้าง แม้ว่าองค์กรเอกชนของสหรัฐที่ประกอบด้วยบริษัทอุตสาหกรรมต่างๆ ประกาศว่าตนจะปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสต่อไปก็ตาม

ความตกลงปารีสนั้นมีความสำคัญมากเพราะประกอบด้วยสมาชิกเกือบหมดทั้งโลก ประเทศเล็กอย่างประเทศไทยไม่มีทางเลือกที่จะไม่เข้ารวมเป็นภาคีต่อต้านหรือปฏิเสธไม่เชื่อ “ทฤษฎีโลกร้อน” แล้วหากที่ประชุมดังกล่าวออกมาตรการต่างๆ ออกมา แม้ว่ามาตรการดังกล่าวอาจจะเกิดต้นทุนกับอุตสาหกรรมทางเราอยู่บ้าง

การที่ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐอเมริกาประกาศไม่เชื่อทฤษฎีโลกร้อน ในขณะเดียวกันสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ ของสหรัฐประกาศไม่เห็นด้วยกับวาทะของประธานาธิบดีของตน ทั้งๆ ที่วาทะของประธานาธิบดีนั้นก็เพื่อให้อุตสาหกรรมของสหรัฐสามารถใช้พลังงานราคาถูก ซึ่งสหรัฐได้ค้นพบว่ามีจำนวนมหาศาลใต้พื้นพิภพ แต่จะถูกจำกัดไม่ให้ใช้ตามข้อตกลงปารีสที่กำลังดำเนินการเจรจากันอยู่ในปัจจุบัน น่าจะทำให้ขบวนการดังกล่าวต้องชะงัก

เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก

ประเทศไทยดูเหมือนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการต่อต้านการใช้พลังงานที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลทหารยอมถอยจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่จะใช้ถ่านหินจากอินโดนีเซียซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูกที่สุดในขณะนี้ ทั้งๆ ที่รอบบ้านของเราต่างก็กำลังขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติแล้วขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทยเกือบทั้งสิ้น

สถานการณ์เช่นนี้ เราก็ไม่ควรจะเอียงสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง การที่เราจะเป็นผู้นำหรือผู้ตามในการกำหนดนโยบายย่อมมีต้นทุนหรือค่าเสียโอกาสทั้งสิ้น อีกทั้งกระทบกับการตัดสินใจใช้หรือไม่ใช้พลังงานดั่งเดิมหรือพลังงานทางเลือกต่อภาวะเรือนกระจกของโลกก็มีน้อยมาก เมื่อเทียบกับผลกระทบต่อต้นทุนและค่าเสียโอกาสต่อระบบเศรษฐกิจของไทย

คนไทยมักจะสนองตอบต่อความเชื่อของตนอย่างสุดโต่ง ขณะที่ความสามารถในการอธิบายของรัฐบาลก็มีต่ำ ดังนั้น คนไทยในอนาคตจึงมีโอกาสจะต้องใช้พลังงานที่มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น

ทางที่ถูก ควรจะร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ มีตลาดใหญ่เช่นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน รัสเซีย อินเดีย และบราซิล เริ่มดำเนินการไปก่อน เพราะการดำเนินการชะลอภาวะโลกร้อนของประเทศเหล่านี้จะมีผลมากกว่าประเทศเล็กๆ อย่างประเทศไทย แทนที่จะเรียกร้องกดดันให้ประเทศของตนดำเนินการไปก่อนประเทศต่างๆ ที่กล่าวมานั้น เมื่ออเมริกาประกาศจะทบทวนนโยบายพลังงาน เราก็ควรจะหยุดดูก่อนว่าทิศทางของนโยบายเช่นว่านี้ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะดำเนินไปทางใด แล้วเราค่อยตัดสินใจว่าจะไปทางใด

ความมั่นคงของการมีพลังงานใช้ก็สำคัญ การที่ต้องโอนอ่อนไปตามกระแสของชาวโลกก็สำคัญ เพราะประเทศเหล่านั้นเป็นตลาดสำคัญของสินค้าไทยที่จะไม่ให้ความสนใจก็ไม่ได้

การถกเถียงกันก็ควรจะมีทั้งสองด้าน

 

วีรพงษ์ รามางกูร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image