ภาพเก่า…เล่าตำนาน : พระมหากษัตริย์นักบินรบ : โดย พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ทรงช่วยบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทย ทรงเปี่ยมไปด้วยพระมหากรุณาธิคุณในด้านการศึกษา ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข ด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการต่างประเทศ ด้านการพระศาสนา ทรงมีพระอัจฉริยภาพกล้าแกร่งด้านการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ด้านการบิน” ซึ่งพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องอากาศยานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์

11 ธันวาคม 2505 ชาวกองทัพอากาศ ปลื้มปีติเป็นล้นพ้นเมื่อ “เจ้าฟ้าชาย” เสด็จมาทอดพระเนตรเครื่องบินประเภทต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศเป็นการส่วนพระองค์ ซึ่งนับเป็นวันสำคัญในประวัติศาสตร์ของกองทัพอากาศไทย

24 สิงหาคม 2510 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงเยี่ยมชมกิจการกรมช่างอากาศ ทอดพระเนตรเครื่องบินแบบต่างๆ ด้วยความสนพระทัยยิ่ง

เมื่อปี พ.ศ.2513 ทรงเข้าศึกษาในระดับเตรียมทหาร ที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2514

Advertisement

จากนั้นในปี พ.ศ.2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารดันทรูน (Royal Military College, Duntroon) กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จตามหลักสูตรนี้จะได้เป็นนายทหารยศร้อยโท

พ.ศ.2519 ทรงสำเร็จการศึกษา หลังจากนั้น ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงเข้าประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ (Perth) รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย

ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหาร และการบิน ได้แก่ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบหลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวนและต้นหนชั้นสูง และหลักสูตรส่งทางอากาศ (โดดร่ม)

Advertisement

“ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฏิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยเฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ท่ามกลางสันนิบาตนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”

เป็นคำถวายสัตย์ปฏิญาณ ในการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2515 เพื่อเป็นองค์รัชทายาทสืบสันตติวงศ์

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ในปี พ.ศ.2520-2521

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการฝึกบินหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์

20 ธันวาคม 2522 ทรงเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ ตามหลักสูตรของกองทัพอากาศและทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 23 กรกฎาคม 2523

21 สิงหาคม 2523 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงขึ้นรับพระราชทานประดับเครื่องหมายแสดงความสามารถในการบินของกองทัพอากาศจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ณ โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง

กุมภาพันธ์-เมษายน 2523 ในระหว่างติดตามสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา พระองค์ทรงเข้ารับการฝึกและศึกษาตามโครงการของกองทัพบกสหรัฐอเมริกา ทรงรับการฝึกบิน เฮลิคอปเตอร์แบบ UH-1H ของกองทัพบกสหรัฐ ณ Fort Bragg รัฐ North Carolina สหรัฐอเมริกา

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกเครื่องบินใบพัด

11 ธันวาคม 2523 ทรงฝึกบินเครื่อง Marchetti ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย ณ โรงเรียนการบิน ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2524

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรเครื่องบินไอพ่น

3 มีนาคม 2524 ทรงฝึกบินกับเครื่องไอพ่นแบบ T-37 ณ ฝูงฝึกขั้นปลาย โรงเรียนการบิน ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 10 กรกฎาคม 2524

ต่อมาทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินพร้อมรบขั้นพื้นฐาน (ไอพ่น) T-33 ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 101 ทรงสำเร็จตามหลักสูตรเมื่อ 19 มีนาคม 2525

ต่อมาในห้วง เมษายน-ตุลาคม 2525 ทรงฝึกบินหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง F-5E/F ณ กองบิน 1 ฝูงบิน 102

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2525-กันยายน 2526 เสด็จไปฝึกบินหลักสูตรการบินขับไล่พื้นฐาน และหลักสูตรการบินขับไล่ขั้นสูงแบบ F-5E/F ณ William Air Force Base รัฐ Arizona ในวันที่ 22 กันยายน 2526 ที่ทรงสำเร็จการศึกษาหลักสูตรการบินขับไล่ทางยุทธวิธีขั้นสูงของกองทัพอากาศสหรัฐ ผู้บังคับฝูงเครื่องบินขับไล่ทางยุทธวิธีที่ 425 เทิดพระเกียรติในบันทึกว่า “นาวาอากาศโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในระหว่างการศึกษาว่า ทรงมีความมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรงนำในการออกปฏิบัติภารกิจการรบทางอากาศ ทรงมีความกล้าหาญที่จะทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ยากเย็นได้ภายในเสี้ยววินาที อีกทั้งยังมีพระปรีชาสามารถในการเลือกแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องในการป้องกันประเทศชาติของพระองค์”

ในการเป็นนักบินขับไล่ พระองค์ทรงต้องรับการตรวจพระวรกายจากคณะแพทย์ และจะต้องผ่านการทดสอบต่างๆ ตามเกณฑ์จากคณะกรรมการของกองทัพอากาศอย่างสม่ำเสมอ

การเป็นนักบินไอพ่นทำการรบ เป็นการปฏิบัติงานที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และเสี่ยงอันตราย สมเด็จพระบรมฯ ทรงมีพระพลานามัยที่แข็งแกร่งตามเกณฑ์ที่กำหนด

เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว พระองค์ทรงฝึกบินหลักสูตรการบินรบขั้นสูง (Advance Fighter Course) และทรงฝึกบินทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของ F-5E/F ที่กองบิน 1 ฝูง 102 จนจบหลักสูตร

ในวันที่ 29 ธันวาคม 2526 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันใช้อาวุธทางอากาศ ณ สนามฝึกใช้อาวุธทางอากาศชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ซึ่งพระองค์ทรงทำการบินเครื่องบินขับไล่ F-5E เข้าแข่งขันด้วย

30 ตุลาคม 2528 ในระหว่างการฝึกรหัส Commando West-9 พระองค์ทรงทดลองบินเครื่อง F-15 ของกองทัพอากาศสหรัฐ

พ.ศ.2529 ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศและทรงชนะเลิศการใช้อาวุธทางอากาศประเภทปืนกลอากาศ ประเภทบุคคล ทรงชนะเลิศการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศในการแข่งขันเมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2530

พลอากาศเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงทำการบินทบทวนหลักสูตรต่างๆ ของเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง F-5E/F อย่างสม่ำเสมอตามขั้นตอนและตามวัฏภาค จนทรงพร้อมรบและทำการบินครบ 1,000 ชั่วโมง เมื่อ 17 เมษายน 2532

ทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ทรงใช้อาวุธทางอากาศ ทำคะแนนสูงตามกติกา ซึ่งกองทัพอากาศได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศขั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิด 4 ดาว อาวุธจรวด 4 ดาว และอาวุธปืน 4 ดาว

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็น “เจ้าฟ้านักบินขับไล่ไอพ่น” พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงทำการบินกับเครื่องบินกองทัพอากาศเกือบทุกประเภท

ทรงปฏิบัติภารกิจเป็นนักบินขับไล่พร้อมรบด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงมีชั่วโมงฝึกบินอย่างต่อเนื่องที่สูงมาก

พระยศทางทหารของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่ง พลเอกสามเหล่าทัพ คือ พระยศพลเอกของกองทัพบกไทย พระยศพลเรือเอกของกองทัพเรือไทย พระยศพลอากาศเอกของกองทัพอากาศไทย

ที่ผ่านมา พระองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบิน ฝึกสอนทั้งภาควิชาการกับการฝึกบินแก่นักบินขับไล่ของกองทัพอากาศ ด้วยพระราชหฤทัยที่เปี่ยมล้นพระเมตตา ทรงตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ในการถ่ายทอดประสบการณ์ ที่ทรงมีอยู่ให้เกิดประโยชน์ต่อกองทัพอากาศและประเทศชาติ โดยไม่คำนึงถึงความเหน็ดเหนื่อยแต่อย่างใด

ในการปฏิบัติพระราชภารกิจของนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูง พลอากาศเอก สมเด็จพระบรมฯ ทรงทำการบินกับเครื่อง F-5E/F อย่างสม่ำเสมอ จนทรงมีชั่วโมงบินเฉพาะแบบถึง 2,000 ชั่วโมง

เมื่อ 4 พฤษภาคม 2540 ซึ่งทางบริษัทนอร์ธรอป ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงแบบ F-5 E/F ทูลเกล้าฯ ถวายเกียรติบัตรการบิน ที่ทรงทำการบินครบ 2,000 ชั่วโมง

นับว่าเป็นโชคดีของคนไทยที่ได้อยู่ในพระบรมโพธิสมภารของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี พระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงมีพระอัจฉริยภาพพิเศษ มีพระทัยกล้าแกร่ง เด็ดเดี่ยว ทรงเป็น “พระมหากษัตริย์นักบินรบ” ที่ทรงพระปรีชาสามารถสูงยิ่ง

บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามมาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระอิสริยยศ และพระราชสถานะ เป็นองค์จอมทัพไทย ที่เป็นองค์พระมิ่งขวัญ และองค์หลักชัยให้เหล่าทหารหาญทุกนาย

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

เรียบเรียงโดย
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากหนังสือ 1,000 ชั่วโมง บ.ข.18 ข/ค ของ กองทัพอากาศและจากมติชน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image