อารมณ์ขันของคนพม่า : โดย ลลิตา หาญวงษ์

คณะตินจาน ตันจั๊ต ชื่อ “ปยี ด่อ ชิต” ที่นำโดยอู มยิต ตา (ซ้าย) ร่วมประกวดวงตันจั๊ตในปี 2013 หลังการแสดงดวลเพลงตันจั๊ตถูกรัฐบาลทหารแบนไปหลายปี (ภาพจาก Myanmar Times)

เมื่อเรานึกถึงคนพม่า เราไม่ค่อยนึกถึงคนพม่ายิ้มหรือหัวเราะกันเท่าไหร่ เพราะท่ามกลางข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไทย เรื่องราวเกี่ยวกับพม่า คนพม่า หรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในพม่าล้วนหนักหนาสาหัสทั้งนั้น ทั้งความตึงเครียดทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และปัญหาปากท้องที่เกิดจากค่าครองชีพที่ไม่ได้แปรผกผันไปตามรายได้ของประชากรส่วนใหญ่ ด้านชาวพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์จากพม่าที่อาศัยในไทย ปัจจุบันก็มีเรื่องให้ปวดหัวได้ไม่เว้นแต่ละวันดังที่ทราบกันดี ถึงเราจะไม่ค่อยได้เห็นอิริยาบถแบบ “ชิล..ชิล” หรือรอยยิ้มของคนพม่ามากนัก

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนพม่าไม่มีอารมณ์ขัน คนพม่านี่ล่ะเป็นคนที่ร่าเริงและรักสนุกมากเป็นอันดับต้นๆ ในอุษาคเนย์เลยทีเดียว ข้าราชการอาณานิคมอังกฤษหลายคนก็เคยบันทึกไว้เกี่ยวกับอารมณ์ขันของชาวพม่าและงานเทศกาลนับไม่ถ้วนในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวพม่าเป็นคนแบบ “เอเอเซเซ” หรือคนที่ไม่คิดอะไรมาก สบายๆ และผ่อนคลายเป็นพิเศษ

ความรักสนุกที่อยู่ในดีเอ็นเอของชาวพม่าสะท้อนผ่านออกมาให้เห็นในงานเทศกาลต่างๆ จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะงานประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่างเทศกาลสงกรานต์พม่า หรือที่เรียกว่าเทศกาล “ตินจาน” (Thingyan) สงกรานต์พม่ากับไทยนั้นคล้ายคลึงกันมาก เพราะเป็นเทศกาลแห่งน้ำและเป็นเทศกาลที่ผู้คนจากทั่วสารทิศกลับบ้านไปฉลองวันปีใหม่กับครอบครัว

แต่สิ่งที่ทำให้สงกรานต์แบบพม่าแตกต่างจากของไทยอย่างสิ้นเชิงอาจจะเป็นบรรยากาศโดยรวม วัฒนธรรมการตั้งถังน้ำไว้หน้าบ้านหรือเอาขึ้นรถกระบะเพื่อตระเวนสาดน้ำแทบจะไม่มีให้เห็นในพม่า เพราะการใช้น้ำ-ไฟฟุ่มเฟือยเป็นประเด็นใหญ่ในประเทศที่การตัดน้ำ-ไฟยังเป็นเรื่องปกติอยู่ ความสนุกสนานของงานจึงไปอยู่ที่ขบวนแห่และการละเล่นมากมายที่แต่ละเมืองจัดขึ้น

Advertisement

นอกจากการแห่รถบุปผชาติ การประกวดนางงามสงกรานต์ และเวทีคอนเสิร์ตมากมายแล้ว การแสดงที่เรียกความสนใจได้มากอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าการประชัน “ตินจาน ตันจั๊ต” (Thingyan Thangyat) หรือการร้องเพลงและต่อเพลงแบบพม่าด้วยทำนองสนุกสนาน คล้ายกับเพลงฉ่อยของไทย แต่สำหรับผู้เขียนออกจะคล้ายกับการร้องเพลงแร็พมากกว่า (และนี่อาจจะเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดดนตรีแร็พและฮิพฮอพจึงประสบความสำเร็จอย่างมากในพม่า)

การร้องเพลงตันจั๊ตมักทำกันเป็นหมู่คณะ และมีการประกวดประขันกันทุกปี นับเป็นไฮไลต์สำคัญของงานสงกรานต์แบบพม่าอีกอย่างหนึ่ง เนื้อหาที่กฎในเพลงตันจั๊ตมีตั้งแต่นิทาน สุภาษิต ไปจนถึงการเสียดสีการเมือง ตั้งแต่ปี 1962 (พ.ศ.2505) และโดยเฉพาะหลังปี 1988 (พ.ศ.2531) รัฐบาลเผด็จการพม่าเข้มงวดกับสื่อทุกประเภท โดยสั่งปิดหนังสือพิมพ์ไปหลายฉบับ และจัดตั้งหน่วยงานเพื่อเซ็นเซอร์สื่อขึ้นมา ศิลปะการแสดง ดนตรี และบทกวีจึงเป็นทางเลือกสำหรับการแสดงออกทางการเมืองของผู้รักประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลทหาร

ตันจั๊ตเป็นหนึ่งในการแสดงที่ได้รับความสนใจอย่างมากในยุคที่พม่าถูกปกครองโดยระบอบเผด็จการ ออง ซาน ซูจี เคยเล่าไว้ในหนังสือ “จดหมายจากพม่า” (Letters from Burma) ของเธอว่าสมาชิกพรรค NLD ของเธอถูกจับกุมภายหลังขึ้นไปร้องเพลงตันจั๊ตเสียดสีรัฐบาลเผด็จการสลอร์คในยุคนั้น นักแสดงและนักการเมืองหลายคนเติบโตขึ้นมาจากเวทีประกวดตันจั๊ต หรือเคยร่วมแสดงร้องเพลงตันจั๊ตมาแล้ว นักแสดงตลกที่ชาวพม่าทุกคนรู้จักคือ หม่อง ธูระ (Maung Thura) หรือชื่อในวงการคือ “ซาร์กานา” (Zarganar) ซาร์กานาเป็นที่รู้จักและเป็นที่เคารพรักของคนพม่าแทบจะไม่ต่างจากออง ซาน ซูจี มุขตลกเสียดสี (satire) และการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอย่างเฉียบแหลม และบทบาททางการเมืองทำให้เขาถูกจับกุมหลายครั้ง และถูกห้ามมิให้ขึ้นแสดงบนเวที ตลอดจนห้ามมิให้แสดงความเห็นทางการเมืองใดๆ ชาวพม่าในยุคเผด็จการทหารรู้สึกรักและผูกพันกับซาร์กานาเพราะเขาเป็นคนที่สร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้คนที่กำลังหดหู่สุดขีดได้

ความชื่นชอบศิลปินตลกในพม่ายังสะท้อนออกมาจากรสนิยมการบริโภคภาพยนตร์ในประเทศ ว่ากันว่ามีภาพยนตร์เพียงแค่ 2 ประเภทที่มักกวาดรายได้อย่างถล่มทลายในพม่า ได้แก่ หนังชีวิตและหนังตลก ด้วยความที่สังคมพม่าชื่นชอบความสนุกสนานนี่เองและการล้อเลียนเสียดสีนี่เองที่ทำให้รัฐบาลเผด็จการในยุคหลังๆ ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับนักแสดงตลกที่วิจารณ์การเมือง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าศิลปินตลก และนักวาดการ์ตูนล้อการเมือง ในยุคนี้ ยุคที่ว่ากันว่าประชาธิปไตยเบ่งบานในพม่า และเป็นยุคแห่งการปฏิรูป กลับถูกเพ่งเล็งมากกว่าที่เคยเป็นมา

บรีติชา โก โก หม่อง หรือ โก จ่อ ซวา นาย นักเขียนการ์ตูนเสียดสีการเมืองชื่อดังของพม่า

โก จ่อ ซวา นาย (Ko Kyaw Zwa Naing) นักวาดการ์ตูนเสียดสีชื่อดังที่ทุกคนรู้จักกันในนามปากกา “บรีติชา โก โก หม่อง” (British Ko Ko Maung) เข้าใจความรู้สึกนี้ดี เมื่อต้นเดือนที่แล้ว เขาถูกจับกุมด้วยกฎหมายโทรคมนาคม มาตรา 66(d) ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากอยู่ในเวลานี้ภายหลังเขาเขียนบทความและการ์ตูนเสียดสีกองทัพ ในบทความชื่อ “คำมั่นสัญญาจากประเทศแห่งกระสุนปืน” ซึ่งวิจารณ์ทั้งรัฐสภา รัฐบาลระดับท้องถิ่น และกล่าวถึงสงครามกลางเมืองในพม่าที่กำลังดำเนินอยู่อย่างออกรส ในวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา โก โก หม่องโดนจับเมื่อมีคนจากกองทัพเข้าแจ้งความว่าเขาทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของกองทัพพม่า

บทความและการ์ตูนของโก โก หม่องตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Voice Daily หนึ่งในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีผู้อ่านมากที่สุด จึงเป็นเหตุให้อู จ่อ มิน ส่วย (U Kyaw Min Swe) บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันกับโก โก หม่องไปด้วย หลังทั้งสองคนถูกควบคุมตัวนาน 2 สัปดาห์ก็ถูกปล่อยตัวออกมา แต่ในปัจจุบันกลับถูกฟ้องกลับด้วยกฎหมายควบคุมสื่ออีกฉบับหนึ่ง

ชะตากรรมที่ซาร์กานา และโก โก หม่องประสบชี้ให้เห็นว่าสังคมเผด็จการในพม่าไม่คุ้นชินกับอารมณ์ขันแบบเสียดสี และกลับมองว่ามุขตลกร้าย (dark humour) ในลักษณะนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงและศักดิ์ศรีของทั้งรัฐบาลและกองทัพ ในขณะเดียวกัน ความขบขันแบบซาร์กานาและโก โก หม่อง กลับประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในสังคมพม่าระดับกลางและระดับล่าง

ชาวพม่าชื่นชอบมุขตลกโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเมืองเป็นพิเศษ คงจะเป็นอารมณ์ขันแบบ “ดาร์คๆ” นี่ด้วยกระมังที่ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกแปลกแยกกับรัฐบาลเผด็จการมากขึ้นไปอีก หรือแม้รัฐบาลพม่าในปัจจุบันจะเป็นประชาธิปไตยบ้างแล้ว แต่ทัศนคติของผู้ปกครองก็ยังมีกรอบความคิด (mindset) บางอย่างที่ถอดแบบมาจากยุคเผด็จการทหาร ที่ต้องการควบคุมไม่ให้สังคมคิดหรือขำมากจนเกินไป หากประชาชนคิด รัฐบาลก็จะควบคุมประชาชนได้ยากขึ้น และหากประชาชนขำ รัฐบาลก็จะรู้สึกว่าตนถูกท้าทาย

อารมณ์ขัน จินตนาการและความคิดนี่แหละค่ะที่สั่นคลอนเผด็จการได้ดีที่สุด

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image