เตรียมตั้งพรรคทหารตามระเบียบ : โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตราไว้ ณ วันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน มีบทบัญญัติว่าด้วยรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กำหนดให้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 9 พระราชบัญญัติ

ในจำนวนนี้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยพรรคการเมือง อันเกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นพร้อมประกาศใช้แล้วสองสามฉบับ โดยเฉพาะว่าด้วยพรรคการเมือง แม้ยังไม่มีการประกาศใช้ แต่มีผู้ที่ดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่เริ่มประกาศตัวเองเพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามเงื่อนไขแล้วหลายพรรค

Advertisement

หลังการยึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหาร บรรดาคอการเมืองทราบดีว่าผู้ยึดอำนาจรัฐตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ระยะหนึ่ง เป็นอันต้องตั้งพรรคการเมืองเพื่อดำเนินการทางการเมืองต่อเนื่อง

นับแต่มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย มีการจัดตั้งพรรคการเมืองมาตลอด พรรคการเมืองหนึ่งที่ยังเหนียวแน่นมาถึงทุกวันนี้คือพรรคประชาธิปัตย์ นอกนั้นมีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้นในแต่ละยุคและแต่ละสมัยที่มีการเลือกตั้งและรัฐประหาร

พรรคการเมืองหนึ่งที่นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นต้องการสืบทอดอำนาจตัวเองคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา มีพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นหัวหน้าพรรค และมีพรรคการเมืองทหารคู่แข่งอีกพรรคหนึ่ง คือพรรคสหภูมิ ฝั่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ครั้นการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500 มีการทุจริตในการเลือกตั้งเกิดขึ้น เรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก” เป็นเหตุให้มีการปฏิวัติครั้งใหญ่ และการปฏิวัติตัวเองอีกครั้งหนึ่งโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังจากนั้นไม่มีการเลือกตั้งอีก กระทั่งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดให้มีการเลือกตั้ง และจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา คือ พรรคสหประชาไทย ที่รู้กันว่าเป็นพรรคทหาร และมีพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีกหลายพรรค หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จึงเกิดพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และพรรคแนวร่วมสังคมนิยม

พรรคที่สนับสนุนทหารและฝ่ายขวาคือพรรคชาติไทย พรรคที่เสนอแนวทางสังคมนิยมอ่อนๆ คือพรรคประชาธิปัตย์ ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยประโยคที่ว่า “สังคมนิยมทุกชนิดเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งสิ้น” กระทั่งมีแนวทางนโยบายก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่า “ขวาพิฆาตซ้าย”

เมื่อเกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 พรรคสามัคคีธรรมสนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคทหารเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ทำรัฐประหาร แล้วจัดให้มีการเลือกตั้ง จัดตั้งพรรคมาตุภูมิขึ้น แต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควร

วันนี้ มีการเตรียมพรรคการเมืองของทหารอีกครั้งนัยว่าชื่อ “พลังชาติไทย” มีพลตรีทรงกลด ทิพย์รัตน์ เป็นผู้ดำเนินการ

เห็นว่ามีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญคือจัดตั้ง “กาสิโน” ตามกฎหมาย ไม่ทราบว่าจะประกาศนโยบายนี้เมื่อไหร่ หากมีนโยบายนี้จริง จะได้รับการคัดค้านหรือสนับสนุนมากน้อยเพียงใด

ร้องเพลง “รอ” ไปจนกว่าจะประกาศจัดตั้งพรรค “พลังชาติไทย” ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน จริงไหมแป๊ะ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image