100 บท : 100 พรรษา สมเด็จพระญาณสังวรฯ : โดย นพ.วิชัย เทียนถาวร


เช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 กรกฎาคม) ผู้เขียนเปิดหนังสือ 100 บท พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ไม่ได้เพียงทรงงานที่เป็นคุณประโยชน์แด่พระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ทรงมีพระคุณูปการเป็นนพอนันต์ต่อสังคมและประเทศชาติอีกด้วย หนังสือนี้จัดพิมพ์เนื่องในวาระครบรอบ 100 พรรษา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ผู้เขียนในฐานะที่เคยบวชพระที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2535 โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้อ่านแล้ว แต่ละบทพระนิพนธ์ข้อความสั้นๆ กระชับอ่านแล้วเข้าใจง่าย มีคุณค่าอย่างสูงกับทุกๆ คน ที่เป็นแฟนมติชน ซึ่งควรแก่การเผยแพร่ให้ “ธรรม” แก่ทุกท่าน หากได้มีโอกาสอ่านจะเข้าใจ ตระหนักมากขึ้น

ในบทนำหรือพระธรรมวรคติ ท่านกล่าวถึงว่า พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่คุ้นหูคุ้นใจคนจำนวนมาก คือ บทที่ว่า “สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ” แปลความว่า “การให้ธรรมย่อมชนะการให้ทั้งปวง” เพราะพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อย มีศรัทธาเชื่อในคุณแห่งการให้ธรรมเป็นทาน ถึงแม้สามารถก็พากันพิมพ์หนังสือธรรมแจกกันเป็นธรรมทาน ซึ่งเชื่อว่าเหนือการให้ทั้งปวงซึ่งคำว่า “ธรรม” นั้น แท้จริงมีความหมายเป็นสองอย่าง คือ “ทั้งที่ดีและที่ชั่ว” หนังสือธรรมมิได้แสดงแต่ธรรมดี แต่แสดงธรรมที่ชั่วด้วย ผู้ประพฤติธรรม หรือผู้มีธรรมก็คือผู้ประพฤติธรรมที่ดี ไม่ประพฤติธรรมชั่ว ผู้ประพฤติธรรมดีเรียกว่า “สัตบุรุษ” : ท่านกล่าวไว้ความว่า :

พระนิพนธ์ 1 : พระพุทธศาสนานั้น ถือ “ใจ” เป็นสำคัญที่สุด คือว่าใจเป็นใหญ่เป็นประธานทุกสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ “เมตตากรุณา” ก็สำเร็จได้ด้วยใจ เมตตากรุณามิได้สำเร็จด้วยอะไรอื่น

ดังนั้น ความช่วยเหลือต่างๆ แม้จะเป็นการปฏิบัติดี แม้เกิดจากใจที่รู้สึกเป็นหน้าที่บ้าง เป็นสิ่งที่พึงทำเพื่อรักษาหน้าตาของตนเองบ้าง มิใช่เป็นการกระทำที่เกิดจากใจที่มีความสงสารที่มีความปรารถนาจะให้เกิดความสุขแก่ผู้รับ เช่นนี้การกระทำนั้นมิใช่เป็นความ “เมตตากรุณา” เมตตากรุณาเป็นเรื่องของใจจริงๆ

Advertisement

พระนิพนธ์ 2 : พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ทุกคนมีศีล และมีจิตใจงดงาม เพราะจะมี “ความสุข” และอยู่ด้วยกันเป็นสุขจริงๆ ทุกๆ คน ต้องการสุขด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ทำไมไม่เดินในทางของความสุข ไปเดินในทางของความทุกข์แล้ว ร่ำร้องว่าไม่มีความสุข

ความที่เป็นเช่นนี้กลายเป็นว่า เพราะ “ใจ” ของคนยังมืดมิด จึงเดินเข้าไปหากองไฟ ด้วยอาการที่ร่าเริงเบิกบานเหมือนแมลงเม่าบินเข้าหากองไฟ พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเป็นดวงประทีปส่องให้มองเห็นทางที่ถูกต้อง สำหรับคนที่มีจักษุจักได้มองเห็นและเดินถูกทาง

พระนิพนธ์ 3 : พระพุทธเจ้าได้ทรงวางหลักไว้ว่า ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ผู้ที่สามารถรักษา “จิต” ของตนก็ย่อมสามารถที่จะปฏิบัติพระโอวาทนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ได้อานิสงส์ 2 อย่าง คือ ปิดทางอดีตกรรมที่ไม่ดีหากจะมีเปิดทางปัจจุบันกรรมที่ดี ในเรื่องเช่นนี้ “ใจ” จึงเป็นใหญ่ เป็นหัวหน้า ใจนั่นเอง น้อมไป โอนไป อดีตกรรมใดๆ ที่จะให้ผลโดยอาศัยใจ ไม่มีอำนาจโดยลำพังตนเองเลย แต่อาจมีอำนาจครอบงำใจที่อ่อนแอ หาก “ใจ” มีกำลังใจแล้ว ใจย่อมชนะกรรมที่เกี่ยวแก่ใจทุกอย่าง…

Advertisement

พระนิพนธ์ 4 : ทุกคนต้องการความสุข ความสบายใจด้วยกันทั้งนั้น แต่ทุกคนยังไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เพราะใจยังมีความปรารถนาต้องการหรือความโลภนี้แหละอยู่เป็นอันมาก โดยที่ไม่พยายามทำให้น้อยลง

เห็นจะด้วยมิได้คิดให้ประจักษ์ในความจริงว่า ความโลภ คือ เหตุใหญ่ประการหนึ่งซึ่งทำให้ทุกข์ ให้เดือดร้อน ให้ไม่มีความสุขความสบายใจ อันเป็นอยู่อย่างมากทั่วไปในทุกวันนี้ แม้ทำ “สติ” พิจารณาให้ดีจะเห็นได้ไม่ยากนัก

พระนิพนธ์ 5 : ผู้ที่เป็นคนดี…ย่อมสามารถนำตนไปสู่ความดี ความดีงามต่างๆ ได้ทำตนไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ และสามารถนำผู้อื่นไปสู่ความดีงามต่างๆ ได้ นำผู้อื่นไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองได้ด้วย

ท่านจึงกล่าวว่า… “ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นแสงสว่าง เป็นเครื่องส่องทาง เป็นเครื่องนำชีวิต เป็นเครื่องยังชีพให้สว่าง” ถ้าต้องการเป็นแสงสว่างทั้งของตนเองและผู้อื่น ก็ต้องฝึกตนให้เป็นคนดี หนีให้ไกลจากความโลภ โกรธ หลง ให้มากที่สุด..

มงคลที่ 6 : มงคล คือ เหตุให้ถึงความเจริญนั้นมี 2 อย่าง คือ มงคลภายนอกอย่างหนึ่ง มงคลภายในอย่างหนึ่งมงคลภายนอก ได้แก่ สิ่งที่ตามองเห็น เรื่องที่หูได้ยิน และสิ่งต่างๆ ที่ประสบ ทางจมูก ลิ้น กาย ตลอดถึงที่ปรากฏแก่ใจ ส่วนมงคลภายในนั้น ทางพระพุทธศาสนานั้นมุ่งถึงความประพฤติดี ประพฤติชั่วของตนเอง ที่เป็นส่วนเหตุอันดีจะทำให้เกิดความสุขความเจริญ

พระนิพนธ์ 7 : ผู้ที่มีความดีพอเพียงนั้น จะเป็นที่พึ่งของตนเองได้ ย่อมสามารถมีผู้อื่นเป็นที่พึ่งได้ ผู้ไม่มีผู้อื่นเป็นที่พึ่ง คือ ผู้ที่ไม่มีความดีเพียงพอ มีผู้อื่นจะแลเห็นความดีนั้น ไม่แลเห็นความสมควรที่จะพึงให้ความช่วยเหลือ

เมื่อผู้ที่ไม่มีความดีเพียงพอนั้น ได้รับความเดือดร้อนด้วยเรื่องใดก็ย่อมไม่มีผู้ยินดีช่วยเหลือ ถ้าอย่างหนักถึงแม้ตาย ก็ย่อมขาดผู้อื่นยื่นมือเข้าช่วย เปรียบดังตกน้ำก็ไหล ตกไฟก็ไหม้ หมายความว่า เมื่อมีอันตรายก็ไม่มีผู้ใดช่วย ดังนั้น จะต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของตน ก่อนที่จะหวังพึ่งผู้อื่น ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งนั้น

พระนิพนธ์ 8 : ในชีวิตมนุษย์…ความเจริญรุ่งเรือง ร่มเย็นเป็นสุขก็ตามความตกต่ำทุกข์ร่วมก็ตาม ย่อมเกิดจาก “กรรม” ย่อมดีกรรมเป็นเหตุให้เกิดอย่างแน่นอนเสมอไป

ผลดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุผลไม่ดีทั้งปวงย่อมเกิดจากกรรมไม่ดี มีกรรมไม่ดีเป็นเหตุกรรมของผู้ใด ผลย่อมเป็นของผู้นั้น ผลจักไม่เป็นของผู้อื่น ผู้ใดทำกรรมดี ผู้นั้นย่อมจักได้รับผลดี เป็นความเจริญรุ่งเรืองร่มเย็นเป็นสุข ผู้ใดทำกรรมไม่ดี ผู้นั้นย่อมรับผลไม่ดีเป็นความตกต่ำและความเป็นทุกข์ร้อน
พระนิพนธ์ 9 : อันความดีนั้น ย่อมเป็นอาภรณ์ เป็นอิสริยยศ (ยศ คือ ความเป็นใหญ่) ของคนดี เพราะคนดีย่อมเห็นความดีนี้แหละ เป็นยศอันยิ่งใหญ่และย่อมพอใจประเด็นความดีนั้นเป็นอาภรณ์ จึงกล่าวได้ว่า ความดีนั้นเป็นอิสริยาภรณ์ของคนดี

บัญญัติ (คือ สมมุติแต่งตั้ง) นั้น มิใช่ความจริง ถ้ามัวหลงในบทบัญญัติเสีย ก็จะไม่พบความจริง และจะเป็นคนดีจริงไม่ได้ คนดีจริงทั้งปวงเป็นผู้มองเห็นทะลุบัญญัติถึงความจริงที่เป็นสาระโดยแท้…

พระนิพนธ์ 10 : ความดีเกิดจากกรรม (การกระทำที่ดี) ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ความว่า คนเป็นคนดีเพราะกรรม เป็นคนถ่อยก็เพราะกรรม ฉะนั้น เมื่อเลิกละกรรมที่ชั่วผิด ทำกรรมดีที่ชอบ ก็ได้เป็นคนดีแล้ว

แต่คนที่ทำกรรมชั่วผิด แม้จะได้รับบัญญัติ (แต่งตั้ง) ว่าดีอย่างไรก็หาชื่อว่าเป็นคนดีไม่ ผู้ที่รู้และคัดค้านเป็นคนแรกก็คือ “ตน” นั่นแหละเว้นไว้แต่จะมีตาใจบอดไปเสียแล้ว ด้วยความหลงตนไปอย่างนั่นแหละจึงไม่รู้

พระนิพนธ์ 11 : “มิตร” ในเรื่องสำคัญของบุคคล เพราะผลของมิตร ก็คือ “ธรรม” ที่พึงอบรมให้มีอยู่ในจิตใจ เพราะธรรมย่อมเป็นมิตรประจำตน ไม่มีพรากออกไปจากตนได้ กลับย่อมช่วยตนอยู่เสมอ

แต่เชื่อว่า บุคคลด้วยกัน มิตรที่ดีเป็นผู้พึงปรารถนาทั้งในเวลาปกติ ทั้งในเวลาคับขัน ลักษณะของมิตรที่ดีประการหนึ่ง อันจะขาดเสียมิได้ ก็คือ “ปัญญา” มิตรผู้มีปัญญา ย่อมจะสามารถให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ให้เกิดประโยชน์ ปราศจากโทษ ส่วนมิตรที่ขาดปัญญา แม้จะปรารถนาดี ก็เหมือนมุ่งร้าย

พระนิพนธ์ 12 : การจะให้ใครช่วยเหลือทำอะไร ต้องเลือกคนที่มี “ปัญญา” ที่รู้จักผิดถูก ควรไม่ควร มิใช่ว่าถ้าเขามุ่งดีปรารถนาดีแล้ว เป็นมอบงานให้ทำเรื่อยไป เพราะถ้าเป็นคนขาดปัญญา แล้วจะทำด้วยความตั้งใจช่วยจริง แต่ก็อาจจะทำการเป็นโทษแม้อย่างอุกฤษฏ์ก็ได้

คนเรานั้นนอกจากมีปัญญาแล้ว ยังต้องมีความคิดดีอีกด้วย จึงจะเอาตัวรอดได้จากอันตรายต่างๆ ในโลก นิสัยของบัณฑิต คือ คนที่ฉลาดนั้น ย่อมไม่ยอมแพ้หรืออับจนต่อเหตุการณ์ทั้งหลายที่จะตรึงเข้ามา ย่อมใช้ความคิดคลี่คลายเอาตัวรอดปลอดภัยให้จงได้และเป็นธรรมดาอยู่ ที่คนฉลาดกว่าย่อมเอาชนะคนที่ฉลาดน้อยกว่าได้

พระนิพนธ์ 13 : คนที่มีบุญนั้น บุญย่อมจะคอยจ้องที่จะเข้าช่วยอยู่แล้ว เพียงแต่เปิดโอกาสให้เข้าช่วย คือ เปิดใจรับนั่นเอง การเปิดใจรับก็คือ เปิดอารมณ์ที่หุ้มห่อออกเสียแม้ชั่วขณะหนึ่ง ด้วยสติที่กำหนดทำใจตามวิธีของพระพุทธเจ้า

เมื่อบุญได้โอกาสพรั่งพรูเข้ามาถึงใจ หรือโผล่ขึ้นมาได้แล้ว จิตใจจะกลับมีความสุขอย่างยิ่ง อารมณ์ทั้งหลายที่เคยเห็นว่าดีหรือร้าย ก็จะกลับเป็นเรื่องธรรมดาของโลก..

พระนิพนธ์ 14 : พระพุทธศาสนาสอนให้ทุกๆ คน พิจารณาให้ทราบหลักการเนืองๆ เพื่อเป็นผู้ “ไม่ประมาท” พยายามละกรรมชั่ว ประกอบแต่กรรมดีเพราะทุกๆ คนสามารถละกรรมที่ชั่ว ประกอบแต่กรรมที่ดีได้
การที่ปฏิบัติดังกล่าวไม่ได้ ก็เพราะยังประมาท มิได้พิจารณาให้รู้ตระหนักในหลักธรรม และไม่เชื่อกรรม ไม่เชื่อผลของกรรม ไม่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน ต่อเมื่อเป็นผู้ที่ไม่ประมาทและมีศรัทธาเชื่อดังกล่าว จึงจะละกรรมชั่ว ทำกรรมดีได้ตามความสามารถ

พระนิพนธ์ 15 : พื้นแผ่นดิน แม่น้ำ ภูเขา ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ คนเรามีปัญญา ถมทำให้เป็นถนน ขุดให้เป็นแม่น้ำลำคลอง ทำสะพานข้ามแม่น้ำใหญ่ สร้างทำนบกั้นน้ำ ขุดอุโมงค์ทะเลภูเขา เรียกว่าใช้กรรมปัจจุบันปรับธรรมชาติ ฉันใด

ความขรุขระของชีวิตเพราะกรรมเก่าก็ฉันนั้น เหมือนความขรุขระของแผ่นดินตามธรรมชาติ คนเราสามารถประกอบกรรมปัจจุบัน ปรับปรุงสกัดกั้นกรรมเก่า เหมือนอย่างสร้างทำนบกั้นน้ำ เป็นต้น เพราะคนเรามี “ปัญญา”
พระนิพนธ์ 16 : ความเชื่อ “กรรม” ให้ถูกทางก็จะแก้ความเชื่อโชคลางต่างๆ ได้เป็นอันมาก และสำหรับคนเราที่มี “ปัญญา” ปรับ
กรรมใหม่ๆ ขึ้นได้ดี มีพระธรรมของพระพุทธเจ้าปฏิบัติรักษาอยู่ ก็เป็นผู้มีสรณะกำจัดทุกข์ภัยต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

คนทุกคน…รู้ภาวะของตนและรับเอาบาปบุญมาถือตามควรแก่ภาวะ เช่นว่ารับศีล 5 มาเท่านั้น หรือรับศีลข้อใดข้อหนึ่งเป็นเวลาสักแต่ใดได้ก็ตาม ก็คือเพียงนั้นว่าเป็นบุญหรือบาปของตน นอกนั้นไม่ต้องคำนึง เพราะไม่ได้รับมาถือ ก็จะไม่เดือดร้อนเพราะ ไปคิดถึงบุญบาปในเรื่องมากมายที่ตนมิได้รับมาถือไว้นะครับ…

 

นพ.วิชัย เทียนถาวร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image