Slumdog Startup : เรียนเขียนโปรแกรมในสลัม โดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

ดาราวี (Dharavi) เป็นหนึ่งในสลัมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในมุมไบ อินเดีย ในที่แห่งนี้ – มีการเรียนเขียนโปรแกรม

เราอาจคุ้นชื่อของดาราวีจาก Slumdog Millionaire ภาพยนตร์ปี 2008 ของแดนนี่ บอยล์ ที่เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มจากสลัมแห่งนี้ ที่จับพลัดจับผลูเข้าไปตอบคำถามในรายการคล้ายเกมเศรษฐีได้ถูกต้องทุกคำถาม เพียงเพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาของเขานั้น, ด้วยความบังเอิญหรือพรหมลิขิตก็ไม่ทราบ, เรียงตัวกันเหมือนดวงดาวเผยให้เขาเห็นคำตอบทุกข้อ

ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่อง Slumdog Millionaire จะไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนเรื่องจริงเสียทีเดียว (หลังจากภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ก็มีกรณีชายหนุ่มชื่อ Sushil Kumar ที่เติบโตในรัฐที่ยากจนที่สุดในอินเดีย ชนะเงินรางวัลหนึ่งล้านเหรียญไปจริงๆ และถูกเรียกว่า Real Life Slumdog Millionaire ด้วย) แต่โอกาสที่เด็กๆ จากสลัมแห่งนี้ จะได้เป็นเศรษฐีจริงๆ นั้นดีขึ้นผิดหูผิดตา หลังจากที่โครงการที่มีชื่อว่า “ดาราวีไดอารี่” ถือกำเนิดขึ้น

โครงการดาราวีไดอารี่ (Dharavi Diary) เป็นโครงการไม่แสวงหาผลกำไรของนักทำสารคดีชื่อ Nawneet Ranjan (ตั้งชื่อตามหนังสารคดีปี 2012 ของเขา) มันเป็นโครงการให้การศึกษากับเด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในสลัมแห่งนี้ โดยพุ่งเป้าไปที่เด็กหญิงเสียเป็นส่วนใหญ่ ดาราวีไดอารี่สอนทั้งภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ การใช้คอมพิวเตอร์พื้นฐาน อย่างเช่นโปรแกรมไมโครซอฟต์เวิร์ดและเอ็กซ์เซล

Advertisement

และที่สำคัญ – ดาราวีไดอารี่สอนเด็กๆ เขียนโปรแกรมด้วย

เมื่อพูดถึง “การเรียนเขียนโปรแกรม” เราอาจคิดถึงห้องเรียนที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทันสมัย ติดแอร์เย็นฉ่ำ เด็กๆ หน้าตาสะอาดสะอ้านสวมเสื้อผ้าราคาแพง (และส่วนใหญ่ก็อาจใส่แว่น!) มานั่งเท้าคาง – ครุ่นคิดอยู่ข้างหน้าจอคอมพิวเตอร์แบนๆ เรียงเป็นแถว – แต่ในสลัมอย่างดาราวี การเรียนเขียนโปรแกรมก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน ทุกวันตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าทุ่ม ศูนย์เรียนรู้ดาราวีจะเปิดต้อนรับเด็กๆ ให้เข้ามาเรียนวิชาต่างๆ ตามตารางเวลาของแต่ละคน บางคนอาจแวะมาหลังเลิกเรียน บางคนอาจแวะมาระหว่างวัน โดยรวมแล้ว ปัจจุบันมีเด็กๆ มาเรียนรู้ที่ศูนย์ดาราวีแห่งนี้มากถึง 200 คน (อายุ 8-21 ปี)

เดิมจากที่ต้องใช้เงินส่วนตัว (มากถึง 30,000 เหรียญ) ในการเริ่มต้นโครงการ ปัจจุบัน ดาราวีไดอารี่ได้ทุนจากบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Nvidia และ Google มาช่วยสนับสนุน

Advertisement

รันจันเชื่อว่าการใช้การเล่าเรื่องผสมผสานกับเทคโนโลยีนั้นจะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กดีขึ้น และก็ดูเหมือนความเชื่อของเขาจะมาถูกทิศทาง เด็กหญิงในโครงการดาราวีไดอารี่กลุ่มเล็กๆ ที่รู้จักกันในชื่อ Tech Girls of Dharavi เริ่มพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เธอใช้คอมพิวเตอร์แทบไม่เป็นเลย (แอพพ์ของพวกเธอขึ้นไปวางบน Google Play Store เรียบร้อย) การเรียนการสอนเขียนโปรแกรมจะถูกทำผ่านแพลตฟอร์ม MIT App Inventor

และที่สำคัญคือ แอพพ์ของกลุ่มเด็กหญิงเหล่านี้ก็เป็นแอพพ์ที่ช่วยสื่อสารในประเด็นสังคมด้วย แอพพ์หนึ่งชื่อว่า Women Fight Back ซึ่งเป็นแอพพ์ที่จะช่วยส่งเสียงเตือนและแจ้งเตือนทาง SMS เมื่อผู้หญิงถูกคุกคาม

ปัจจุบันถึงแม้ว่าโครงการดาราวีจะประสบผลสำเร็จมากและได้รับทุนจากองค์กรต่างๆ พอสมควร แต่รันจันก็ยังบอกว่า “การกุศลนั้นยังไม่ได้รับการตอบรับที่ดีสักเท่าไร โดยเฉพาะการหาครูมาสอนเด็กๆ” ด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำนวนครู 5 คน และครูฝึกสอนอีก 3 คนไม่เพียงพอ เขาจึงยังต้องการความช่วยเหลือเพิ่มอยู่

เมื่อพูดถึงแนวคิดอย่าง Thailand 4.0 หรือสตาร์ตอัพอีโคโนมี่ – เรามักเห็นการจุกตัวของความเจริญและความรู้อยู่ในศูนย์กลางของประเทศ และเราก็มักเห็นว่ากลุ่ม “สตาร์ตอัพ” ที่ได้รับการพูดถึงบ่อยๆ ก็เป็นกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่หากเราจะมี “สตาร์ตอัพอีโคโนมี่” ได้อย่างแท้จริง เราอาจต้องให้ความสำคัญกับการเรียนเขียนโปรแกรมในการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่กระจายไปทั้งในตัวเมืองและชนบทด้วย เพราะการเขียนโปรแกรมเป็นนั้นไม่ได้มีความหมายเพียง “การสร้างแอพพ์” หรือ “การสร้างเว็บ” เท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักประดิษฐ์บางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเป็นของตนเอง รู้จักคิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ และเป็นวิทยาศาสตร์

ไม่ว่าเด็กๆ เหล่านั้นจะโตขึ้นมาเป็นโปรแกรมเมอร์ ทำงานในสตาร์ตอัพหรือไม่ก็ตาม – ทักษะเหล่านี้ก็จะช่วยยกระดับการคิดและการทำงานของพวกเขาในทุกอาชีพ และเมื่อคิดอย่างเป็นระบบแล้ว “ปัญหา” บางอย่างที่คนในเมืองไม่เคยเห็น หรือคนที่มีฐานะดีไม่เคยเหลียวแล ก็จะได้รับการพูดถึงและแก้อย่างถูกจุด

เมื่อการศึกษายอมติด “อาวุธทางปัญญา” ให้กับเด็กๆ พวกเขาก็จะสามารถดำรงชีวิตในยุคที่ทุกอย่างหลอมรวมกัน – ยุคที่การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นในทุกวัน – ได้อย่างแข็งแรงขึ้น และเด็กที่แข็งแรง – ก็หมายถึงประเทศที่แข็งแรงนั่นเอง

อ่านเกี่ยวกับดาราวีไดอารี่เพิ่มเติมได้ที่เพจ https://www.facebook.com/sluminnovation/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image