เกราะกำบังภัยชื่ออำนาจพิเศษ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

เราจะเข้าใจข้อเสนอ 16 ข้อของ ครม.ที่เสนอแก่ กรธ.ได้อย่างไร

ผมคิดว่ามี 2 วิธีที่ช่วยกันและกันให้เห็นความหมายได้ชัดขึ้น ทั้งความหมายที่ ครม.ตั้งใจ และความหมายที่ ครม.ไม่ตั้งใจ วิธีแรกคือ อ่านตามเนื้อผ้า มีถ้อยคำและวางรูปประโยคอย่างไร ก็อ่านไปตามนั้น และสองคือ เอาความหมายตามเนื้อผ้าไปสวมลงไปในสถานการณ์ที่เป็นจริง จะทำให้ได้ความหมายที่เหลื่อมออกไป สะท้อนความรู้สึกและความต้องการของผู้พูดออกมาด้วย ซึ่งการอ่านตามเนื้อผ้าจะมองไม่เห็น

ยกตัวอย่างนะครับ “ไปไหนมา” เมื่ออ่านตามเนื้อผ้าก็คือคำถามถึงจุดหมายปลายทางที่ผู้ถูกถามเพิ่งไปมา แต่เมื่ออ่านประโยคนี้ในสถานการณ์ที่เมียนั่งรอผัวอยู่เป็นนานสองนาน ความประสงค์จะรู้จุดหมายปลายทางอาจไม่ใช่เสียแล้ว แต่อยากรู้การกระทำมากกว่า คือไปทำอะไรมา ซ้ำร้ายยังมีน้ำหนักไปในทางว่าสิ่งที่ทำนั้นน่าจะไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้มีลำดับความสำคัญสูงนักด้วย

ผมจึงขออ่านข้อเสนอของ ครม.เพื่อหาความหมายทั้ง 2 ด้าน อย่างที่ชาวบ้านเขาใช้ในชีวิตประจำวันนี่แหละครับ

Advertisement

คำว่า ครม.ในที่นี้ เมื่ออ่านตามเนื้อผ้าย่อมหมายถึงองค์กรบริหารสูงสุด ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และดำรงอยู่ได้ตราบเท่าที่องค์กรอื่น เช่น องค์กรทางนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้ง หรือองค์กรตุลาการ (ซึ่งควรต้องเชื่อมโยงกับประชาชนในทางใดทางหนึ่งเหมือนกัน) ยังรับรองอยู่ แต่เมื่ออ่านในสถานการณ์จริง ครม.ในที่นี้คือ คสช.หรือคณะทหารที่ยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557

คณะทหารที่ยึดอำนาจในเมืองไทย ล้วนสถาปนาระบบบริหารในรูปของรัฐบาลที่มี ครม.รับผิดชอบขึ้น เมื่อได้อำนาจแล้วทั้งสิ้น มีเหตุผลอย่างน้อย 2 อย่างที่ต้องรีบทำอย่างนี้ หนึ่งคือ ทำให้การบริหารด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรมมีลักษณะ “ปกติ” จึงสะดวกที่จะเป็นหัวสวมลงไปในร่างของระบบราชการอันใหญ่โตเทอะทะของไทยได้ และสอง การสถาปนารัฐบาล เป็นโอกาสให้คณะทหารที่ยึดอำนาจสามารถขยายพันธมิตรของตนไปยังคนกลุ่มต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้นกว่าคนของกองทัพ เช่น เอาตัวแทนนายทุนไปนั่งเป็นรัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย หรือเลขาฯรัฐมนตรี เป็นพันธมิตรที่ใกล้ขึ้นไปกว่ากลุ่มที่ให้ไปนั่งในสภานิติบัญญัติหรือสภาประหลาดอื่นๆ

แต่คณะนายทหารที่ยึดอำนาจมักสร้างองค์กรต่างหากขึ้น เช่นคณะรัฐประหาร, คณะปฏิวัติ, คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน, คณะ รสช., คณะ คปก., คณะ คสช. เป็นต้น หากจำเป็นต้องปล่อยให้ “หอย” ตั้งรัฐบาลขึ้น คณะต่างๆ เหล่านี้ก็ทำหน้าที่เป็นเปลือกหอย ซึ่งมักลงเอยที่บีบให้หอยหลุดออกไปเสมอ ทั้งนี้นับตั้งแต่เมื่อคณะรัฐประหารใช้ปืนจี้ให้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ลาออกใน พ.ศ.2491 เป็นต้นมา แต่หากคณะทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเอง องค์กรต่างหากที่คณะนายทหารสร้างขึ้นก็จะมีบทบาทน้อยลง จนผู้คนพากันลืมไป เช่นคณะปฏิวัติของสฤษดิ์-ถนอม-ประภาส อาจถูกอ้างถึงในถ้อยแถลงของรัฐบาลอยู่บ้าง แต่องค์กรจริงไม่มีตัวตนอยู่มากไปกว่าวงเหล้าที่บ้านของท่านผู้นำ จนถึง 2514 เมื่อถนอมยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง คณะปฏิวัติดังกล่าวได้อันตรธานไปแล้ว คณะทหารที่ยึดอำนาจกลายเป็นตัวถนอม-ประภาสเอง ตรงกันข้ามกับคณะ รสช.ซึ่งยังดำรงอยู่สืบมาตลอดสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน สมัยแรก

Advertisement

จึงอาจสรุปได้ว่า องค์กรต่างหากของคณะนายทหารที่ทำรัฐประหาร จะดำรงอยู่อย่างเป็นจริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2 เงื่อนไข คือ หนึ่ง คณะนายทหารเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเอง หรือปล่อยให้คนอื่นเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล และสอง ความสัมพันธ์ระหว่างคณะนายทหารที่ยึดอำนาจกับกองทัพยังคงอยู่ หรือค่อยๆ จางหายไป

ในกรณีของ คสช. เมื่อคณะนายทหารที่ยึดอำนาจเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลเอง ก็มีแนวโน้มว่าองค์กรต่างหากของนายทหาร (คสช.) ย่อมลดบทบาทลง และค่อยๆ จางหายไปจากการตัดสินใจทางการเมือง และในบัดนี้แทบจะกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ของ คสช.กับกองทัพเบาบางลงเต็มทีแล้ว แม้ว่า คสช.ยังสามารถวางตัว ผบ.เหล่าทัพให้อยู่ในกลุ่มของตนได้อยู่ และแม้ว่า คสช.อาจตั้ง ผบ.เหล่าทัพขึ้นดำรงตำแหน่งใน คสช.ได้ก็ตาม แต่ต้องไม่ลืมว่ากองทัพเป็นหน่วยงาน “เปิด” ในความหมายที่ว่า มีคนอีกหลายกลุ่มอาจเชื่อมสัมพันธ์กับกองทัพได้ โดยไม่ต้องผ่าน คสช. (เช่นบริษัทรับเหมา เป็นต้น)

มองจากสถานการณ์ที่เป็นจริง คำว่า ครม.ในข้อเสนอคือ คสช. ซ้ำเป็น คสช.ที่ไม่ได้มีอำนาจในมืออย่างเต็มที่เหมือนเมื่อแกนนำทั้งหมดยังเป็นนายทหารในราชการเสียด้วย เมื่อเข้าใจตามนี้ ข้อเสนอของ ครม.จะมีความหมายอย่างไร

ข้อเสนอทั้งหมดไม่ได้แก้ปัญหาที่ร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้นโดยไม่ได้ฟังเสียงประชาชนเลย และยังไม่ช่วยให้ร่างรัฐธรรมนูญมีโอกาสผ่านประชามติอีกด้วย โดยเฉพาะข้อเสนอที่ 16

คสช.ก็รู้อยู่แล้วว่า โอกาสที่รัฐธรรมนูญของนายมีชัยจะผ่านประชามติ (ที่เที่ยงธรรม) เป็นไปได้น้อยมาก ยิ่งเพิ่มข้อเสนอที่ 16 เข้าไป โอกาสผ่านจึงแทบจะไม่เหลือเลย เหตุใด คสช.จึงเลือกจะผลักดันข้อเสนอนี้

เมื่ออ่านข้อเสนอที่ 16 ตามสำนวนที่ ครม.หรือ คสช.ส่งให้แก่ กรธ. เหตุผลที่ต้องคงอำนาจพิเศษไว้ระยะหนึ่ง (ซึ่งในภายหลังทราบจากคำสัมภาษณ์ของหัวหน้า คสช.ว่าคือ 5 ปี) ก็เพราะห่วงใยว่าหลังเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลแล้ว อาจเกิด “ความยุ่งยากโกลาหลความขัดแย้ง และความไม่สงบเรียบร้อยจนประเทศจวนเข้าสู่ภาวะรัฐที่ล้มเหลว” ได้

เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นมีทางเกิดขึ้นได้ใน 2 กรณี คือหนึ่ง หากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็อาจมีม็อบแบบเดียวกับ กปปส.ป่วนเมืองเพื่อล้มรัฐบาล ซึ่ง “อำนาจพิเศษ” จะจัดการระงับมิให้ลุกลามบานปลาย หรือในทางตรงกันข้าม รัฐบาลที่ถูกจัดตั้งขึ้นไม่สะท้อนความต้องการของผู้เลือกตั้ง เช่นพรรคที่ได้เสียงข้างมากไม่ได้โอกาสฟอร์มรัฐบาล แต่พรรคที่ได้เสียงน้อยกว่ากลับได้ฟอร์มรัฐบาลในค่ายทหาร ก็อาจมีม็อบจากต่างจังหวัดและในกรุงออกมาชุมนุมเรียกร้องสิ่งที่ให้ไม่ได้ “อำนาจพิเศษ” ก็อาจใช้ความรุนแรงระงับเสียก่อน

แต่หลังการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะไม่มีนักการเมืองสามารถระดมม็อบขนาดใหญ่หลังการเลือกตั้งได้อีกแล้วอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาหนึ่งที่นานพอสมควร

ยกเว้นแต่กรณีที่สอง คือเหตุการณ์ประเภทน้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้เกิดการลุกฮือขึ้นของประชาชนหลายสี เพื่อล้มเลิกหลายสิ่งหลายอย่างที่ คสช.ได้ทำไปแล้ว โดยที่ ผบ.เหล่าทัพไม่ยอมประกาศกฎอัยการศึก และกำลังพลส่วนใหญ่ไม่ยอมเคลื่อนกำลังเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยด้วย ข้อเสนอของ คสช.ใช้ถ้อยคำดังนี้ “…การล้างแค้น การรื้อกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยอ้างความชอบธรรมในนามของระบอบประชาธิปไตย” ปราศจาก “อำนาจพิเศษ” คสช.จะตกที่นั่งลำบากอย่างแน่นอน

จึงต้องการมีอำนาจพิเศษ ซึ่งไม่ได้มุ่งจะควบคุมทางการเมือง เพราะถึงไม่มีข้อเสนอที่ 16 รัฐธรรมนูญของนายมีชัยก็วางกลไกที่จะทำให้พันธมิตรของ คสช.ในเวลานี้สามารถควบคุมการเมืองได้อยู่แล้ว ในรูปองค์กรอิสระบ้าง ในรูปคณะกรรมการปฏิรูปบ้าง แต่ คสช.ก็คงรู้ดีอยู่แล้วว่า พันธมิตรของตนนั้นเปลี่ยนหน้าในชีวิตมาหลายครั้งแล้ว จะเปลี่ยนอีกสักครั้งเมื่อจำเป็นก็ไม่แปลกอะไร ใครที่พอมีสติปัญญาอยู่บ้าง ย่อมไม่วางอนาคตของตนเองไว้กับพันธมิตรนักเปลี่ยนหน้าเหล่านี้อย่างแน่นอน

ข้อเสนอของ คสช.ต่อร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ จึงสะท้อนความวิตกกังวลของคนที่จะลงจากหลังเสือ เหมือนคณะรัฐประหารอีกหลายคณะหลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา คือจะควบคุมสภาวะหลังลงจากหลังเสือได้อย่างไร ผู้ที่ประสบความสำเร็จมีน้อยมาก

ครั้นจะไม่ลงจากหลังเสือ คสช.ก็พบอุปสรรคอันใหญ่คือแรงกดดันจากต่างประเทศ ทั้งฝั่งสหรัฐ, อียู, ญี่ปุ่น และสหประชาชาติ คสช.จึงยืนยันในแผนที่เรียกว่าโรดแมป คือต้องเลือกตั้งใน พ.ศ.2560 ให้ได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญนอกบทเฉพาะกาลต้องมีลักษณะ “ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากล… ดังนี้น่าจะแก้ปัญหาและอธิบายให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนและนานาชาติได้” กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือการรับรองจากมหาอำนาจมีความสำคัญแก่ คสช. ต่างจากบรรยากาศเมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ความจำเป็นที่จะต้องจัดการเลือกตั้งในปีหน้าให้ได้ แม้ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับความเห็นชอบของประชาชนในการลงประชามติก็ตาม (มีดำริจะแก้ข้อความในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้นับคะแนนเสียงเฉพาะผู้ใช้สิทธิเท่านั้น แสดงว่ามีความพยายามให้ผ่าน เพราะทั้งนายวิษณุ เครืองาม และ กกต.ต่างยอมรับแล้วว่า การรณรงค์ให้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอาจทำได้ ในขณะที่แต่เดิมคิดจะหากฎหมายหรือออกกฎหมายห้ามมิให้ทำมาก่อน) แต่ก็คงรู้ว่าโอกาสไม่ผ่านมีไม่น้อยเหมือนกัน แต่จะให้ผ่านโดยนานาชาติเห็นว่าไม่ชอบธรรม ก็ไม่มีประโยชน์เหมือนกัน

ด้วยเหตุดังนั้น ท่าทีของ คสช.ในเวลานี้ก็คือ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ ก็จะนำรัฐธรรมนูญที่เคยประกาศใช้มาแล้วกลับมาประกาศใช้ใหม่ โดยไม่ต้องลงประชามติอีก

รัฐธรรมนูญที่ คสช.น่าจะเล็งไว้คือรัฐธรรมนูญ 2521 เพราะมีบทเฉพาะกาลที่ยกเว้นครรลองประชาธิปไตย ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารไว้ถึง 4 ปี (หลังการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก) ที่สำคัญคือวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ซ้ำมีอำนาจหน้าที่ตามบทเฉพาะกาลแทบจะไม่ต่างจากสภาผู้แทนราษฎร ตราบเท่าที่รัฐบาลยังคุมเสียงในวุฒิสภาได้ สภาผู้แทนฯก็ไม่มีทางตรวจสอบหรือลงมติขับไล่รัฐบาลได้

วุฒิสมาชิกดำรงตำแหน่งครั้งละ 6 ปี และผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกคือนายกรัฐมนตรี นี่คือเหตุสำคัญที่ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ บริหารประเทศเหนือรัฐสภาได้ อย่างที่พรรคการเมืองไม่มีทางอื่นมากไปกว่าต้องเลือก พล.อ.เปรมขึ้นเป็นนายกฯเสมอมา

วุฒิสมาชิกที่ได้รับแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนใหญ่คือทหารและข้าราชการ ดังนั้น รัฐบาลจึงสามารถสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพได้ใกล้ชิด เพราะไม่ว่า พล.อ.เปรมจะดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ.หรือไม่ ท่านย่อมมีอำนาจในการเลือกนายทหารระดับคุมกำลังทั้งหมดเข้ามาเป็นวุฒิสมาชิกได้เสมอ นายทหารและรัฐบาลมีอนาคตร่วมกัน จนกระทั่งการรักษาความ “สงบเรียบร้อย” เป็นผลประโยชน์โดยตรงของกองทัพ

คสช.คงไม่ “สืบทอดอำนาจ” ในความหมายว่าขึ้นดำรงตำแหน่งฝ่ายบริหาร แต่ คสช.น่าจะแปลงรูปเป็นองค์กรที่สามารถแต่งตั้งวุฒิสภาได้แทนนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง โดยวุฒิสมาชิกมีอำนาจหน้าที่ไม่ต่างจาก ส.ส.ในระยะ 5 ปีแรก โดยไม่ต้องเป็น ผบ.เหล่าทัพเลย คสช.ก็อาจเชื่อมโยงกับกองทัพไปได้อีกนาน

สถานะที่เป็น “อำนาจพิเศษ” ตรงนี้ปลอดภัยกว่าเป็นนายกฯด้วยซ้ำ เพราะในรัฐธรรมนูญ 2521 พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ต้องประกาศลาออกกลางสภา เพราะรู้อยู่แล้วว่าตนได้สูญเสียการสนับสนุนของวุฒิสภาไปแล้ว แต่ “อำนาจพิเศษ” แบบ คสช.ไม่ต้องรับผิดชอบแม้แต่กับวุฒิสภา จึงไม่ต้องประกาศลาออก

แต่ พ.ศ.2560 ต่างจาก พ.ศ.2521 อย่างมาก เช่นหากข้าราชการประจำทั้งทหารและพลเรือนได้ดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิกมาก (3 ใน 4 ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ 2521) ก็จะไม่มีที่เหลือให้แก่พันธมิตรผู้มักเปลี่ยนหน้าของ คสช.เอง เป็นต้น อย่าลืมว่าพันธมิตรนอกระบบราชการใน 2521 มีน้อยและมีอำนาจต่อรองน้อย ครั้นจะให้ที่นั่งแก่พันธมิตรมาก นายทหารผู้คุมกำลังในกองทัพก็จะอด ความเชื่อมโยงของ คสช.กับกองทัพก็จะเบาบางลงไปอีก ซึ่งนับเป็นอันตราย แต่พันธมิตรนอกราชการใน 2460 มีมาก และมีกำลังต่อรองตนเองสูงกว่าพันธมิตรเผด็จการใน 2521 อย่างเทียบกันไม่ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image