จงขจัดความขัดแย้งทางทัศนคติ… เพื่อการปองดอง : ไพรัช วรปาณิ

ปรัชญาเมธี “Tacitus” เคยกล่าวคำคมอันเป็นสัจธรรมไว้ว่า…
“It is a principle Of human nature to hate those whom have injured”.

เมื่อกล่าวถึงการสร้างความปรองดองของคนในชาติ อันเป็นความคิดที่ดี ควรแก่การยกย่อง ตามนโยบาย ที่ท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของความปรองดองสมานฉันท์ และมีความมุ่งมั่นให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างจริงจัง ด้วยการมอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดผลในทางรูปธรรมให้จงได้
ผู้เขียนก็รู้สึกดีใจที่เห็น “บิ๊กป้อม” ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคี ปรองดอง ได้นัดประชุมที่กระทรวงกลาโหมเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันก่อน เพื่อสรุปร่างสัญญาประชาคมหลังจากจัดเวทีสาธารณะชี้แจงในพื้นที่ 4 กองทัพภาค ระหว่างวันที่ 17-20 กรกฎาคมที่ผ่านมา
โดย พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ว่า… แม้ความคิด 10 ข้อ จะเป็นนามธรรม แต่เราต้องมีหลักการทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ เพื่อให้ร่างสัญญาประชาคมเดินหน้าไปได้ และรู้สึกพอใจกับการเปิดเวทีสาธารณะระดับหนึ่ง คิดว่าจะสรุปข้อคิดเห็นทั้งหมดเสร็จในเร็วๆ นี้ เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป เชื่อว่าร่างนี้จะเป็นที่ยอมรับของทุกคน และยังเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปเพื่อให้รัฐบาลเดินต่อไปข้างหน้าอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเชื่อว่า การปรองดองจะบรรลุผลตามเป้าหมายได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลผู้ซึ่งเป็นเจ้าภาพ จักต้องมีความจริงใจด้วยการขจัดความขัดแย้งทางทัศนคติของคนในชาติ อันเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างความสามัคคีปรองดองให้หมดไป จึงจะประสบความสำเร็จบรรลุเป้าหมายในที่สุด
ทั้งนี้..ถ้าตราบใดผู้นำประเทศ ผู้นำธงในการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ภายในชาติ ยังขาดความจริงใจ และกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายยังมีความขัดแย้งทางความคิด หรือมีทัศนคติอันเคียดแค้นต่ออีกฝ่ายหนึ่ง ยังฝังลึกอยู่ในสมอง ด้วยมีความรู้สึกว่าตนเป็นฝ่ายถูกกระทำมาตลอด ทั้งยังไม่ได้รับความเป็นธรรมเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ดังนี้แล้ว… ย่อมจะเป็นอุปสรรคต่อการปรองดองอย่างแน่นอน…ว่าไหม?
ดร.สมัคร เจียมบุรเศรษฐ์ อดีตเลขาฯ พรรคประชาธิปัตย์ เขียนไว้ใน “อุดมการณ์ของชาติ” ตอนหนึ่งว่า “รัฐบาลจะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง และเป็นระบบเดียวกันทั่วประเทศให้ต่อเนื่องและมีแนวทางที่แน่นอนชัดเจน รัฐบาลจะต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดีและจัดพิมพ์การศึกษาที่ดี มิฉะนั้นจะทำให้เกิดปัญหาอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศในอนาคตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และรัฐไม่อาจบรรลุผลข้อนี้ได้ ถ้าผู้บริหารขาดความจริงใจในการแก้ปัญหา”
ผู้เขียนมีความปรารถนาอย่างยิ่งที่อยากเห็น “ลุงตู่” ซึ่งมีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ความสามัคคีปรองดองให้เกิดแก่คนในชาติ ได้ใช้จุดเด่นในความเป็นผู้นำที่มีใจจริง ใจกว้าง เพื่อความสำเร็จในการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ยังดำรงอยู่ในสังคมปัจจุบัน ให้สะเด็ดน้ำ…แต่ก็มิหาญกล้าแสดงความคิดอันแหลมคมใดๆ ซึ่งเสมือน “เอามะพร้าวไปขายสวน” เพราะ…รัฐมนตรีแต่ละท่านล้วนมีความรู้ความสามารถกันทั้งนั้น จึงได้แค่นำเอาเรื่องราวของชาวบ้านธรรมดาๆ ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเหตุการณ์อันเป็นคติสอนใจและมีอรรถรสดีเลิศ มาเสนอเป็นอุทาหรณ์แก่ผู้มีโอกาสได้อ่านบทความนี้ โปรดติดตาม…
….คุณประภาศรี ลูกสาวของนักธุรกิจระดับเศรษฐีในเมืองกรุงท่านหนึ่ง หลังแต่งงานเธอจึงได้ย้ายนิวาสสถานมาอยู่ในครอบครัวของสามี ซึ่งแม่สามีวัยชราร่วมอยู่… แต่อยู่มาไม่นานใครจะคิดหญิงสาวทั้งเก่งฉลาดอย่างเธอ ก็ไม่สามารถสร้างความกลมเกลียวรักใคร่ระหว่างเธอและแม่ของสามีให้เกิดขึ้นได้เลย เนื่องเพราะบุคลิกของทั้งคู่ช่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ชีวิตและความคิดคนหนึ่งฟูมฟักในครอบครัวคนรวย ส่วนอีกคนหนึ่งเคยต่อสู้ชีวิตด้วยความลำบากมาก่อน บุคคลทั้งสองจึงมีความคิดขัดแย้งโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะ ไย? เธอต้องมาอดทนกับระบบครอบครัวแบบคนยุคเก่า และนิสัยหลายอย่างเข้ากันไม่ได้ โดยที่ฝ่ายแม่สามีมักจะวิพากษ์วิจารณ์เธอในแง่ติดลบเสมอมา
กาลเวลาผ่านไปครึ่งปี ประภาศรีและแม่สามีจะมีเหตุทะเลาะกันไม่หยุดหย่อน ที่เลวร้ายที่สุด คือแม่สามีมีทัศนคติตามธรรมเนียมจีน สะใภ้จะต้องก้มหัวและเชื่อฟังแม่สามีในทุกเรื่อง และหาว่าลูกสะใภ้ไม่รู้จักเอาใจผู้ใหญ่ แข็งกระด้าง สุดท้ายก็กลายเป็นเหตุปัจจัย นำมาซึ่งความทุกข์โศกแก่ตัวเธอเองและสามีอย่างไม่น่าเชื่อ
ในที่สุด ลูกสาวคนรวยอย่างประภาศรี ก็ถึงเวลาหมดสิ้นความอดทน จึงตัดสินใจที่จะทำอะไรอย่าง อันถือได้ว่าเป็นความสิ้นคิด, ขาดสติปัญญาโดยเธอตรงไปหา “ลิ้มซิงแซ” ซึ่งเป็นเพื่อนรักของพ่อ ที่มีอาชีพเป็นแพทย์สมุนไพรจีนชื่อดัง โดยได้ระบายความทุกข์ตลอดจนเล่าเรื่องราวความขัดแย้งในครอบครัวจนเกิดเป็นความทุกข์ ให้ “ลิ้มซิงแซ” ฟังทั้งหมด หลังจากนั้นเธอจึงถามซิงแซผู้สูงวัยว่า… ท่านพอจะหายาพิษอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาทั้งหมดทั้งมวลในคราเดียวให้จบสิ้นเสียเลยได้หรือไม่คะ? ทุกข์ทรมานใจจริงๆ
ผู้เฒ่า “ลิ้มซิงแซ” ครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงกล่าวกับประภาศรีผู้เป็นเสมือนหลานสาวว่า “ลุงจะช่วยหนูเอง…แต่หนูต้องฟังคำของลุงและเชื่อฟังสิ่งที่ลุงบอกนะ”
ประภาศรีตอบรับทันทีว่า “แน่นอนค่ะ หนูจะทำตามที่คุณลุงแนะนำทุกอย่างเลยค่ะ”
“ลิ้มซิงแซ” เดินกลับหลังหายไปหลังร้านสักพัก แล้วเดินกลับมาภายในเวลาไม่นานพร้อมกับห่อสมุนไพรในมือ 1 ถุง มอบให้แก่เธอ พร้อมกำชับกลับว่า “ลุงจะจ่ายยาสมุนไพรให้หนูจำนวนหนึ่ง แต่เป็นยาพิษชนิดเกิดผลทำลายช้าหน่อยนะ! หนูต้องไม่ใช้ยาพิษนี้ทั้งหมดในคราวเดียวพร้อมกันนะ เพราะนั่นจะทำให้ทุกคนสงสัย หนูจงเติมสมุนไพรนี้ลงไปในน้ำแกงเนื้อหมู, เป็ด หรือไก่ ที่ปรุงไว้ให้กินวันเว้นวัน สารพิษนี้จะได้ค่อยๆ สะสมอยู่ในร่างกายแม่สามีของเธอวันละเล็กวันละน้อย แล้วจะเกิดผลตามที่ต้องการในที่สุด..
“ขณะเดียวกันหนูก็ต้องพูดจากับเธอดีๆ และเชื่อฟังเธอด้วย วันหนึ่งข้างหน้าเมื่อแม่สามีตายลง จะได้ไม่มีใครสงสัยในตัวหนูไงล่ะ อย่าลืมนะ…ห้ามเถียงเธอ แต่จงอดทนเชื่อฟังทุกอย่างที่เธอบอกและปฏิบัติต่อเธออย่างดีที่สุด”
เมื่อได้ยินดังนั้น ประภาศรีรู้สึกสุขใจยิ่งนัก จึงกล่าวขอบคุณและร่ำลาคุณลุงซิงแซ เพื่อกลับไปเตรียมอุบายสังหารแม่สามีอย่างเงียบๆ
วันคืนเวลาผ่านไป…ประภาศรีก็จะปรุงอาหารจานเด็ดให้แม่สามีทุกวันเว้นวัน เธอจดจำคำของลุงซิงแซได้เป็นอย่างดี…พยายามควบคุมอารมณ์ตนเอง เชื่อฟัง และดูแลเธอเหมือนดั่งเป็นแม่ของตนเอง เวลาล่วงไปได้ประมาณ 6 เดือนเศษ…สิ่งปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น นั่นคือ…
ทุกสิ่งทุกอย่างภายใต้ชายคาบ้านหลังนี้กลับแปรเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ประภาศรีได้ฝึกตนให้ควบคุอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่เคยมีปากเสียงกันเลยตลอดเวลาหกเดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่าแม่สามีดูเหมือนจะมีเมตตาต่อเธอและเข้ากันได้เป็นอย่างดี
ในขณะที่ทัศนคติของแม่สามีที่มีต่อเธอก่อนหน้านี้ได้เปลี่ยนไป เธอเริ่มรักลูกสะใภ้คนนี้เหมือนกับลูกสาวแท้ๆ ของตัวเอง… เธอพร่ำบอกเพื่อนฝูงและคณาญาติ ว่าประภาศรีเป็นลูกสะใภ้ที่ดีที่สุดและยากจะหาใครมาเสมอเหมือน บัดนี้ เธอและแม่สามีรักกัน ดุจแม่-ลูกแล้วจริงๆ พลอยทำให้สามีของประภาศรีรู้สึกสุขใจเป็นที่สุดที่ได้เห็นบรรยากาศที่เกิดขึ้นในครอบครัว
วันหนึ่ง…ถึงกาลที่ประภาศรีกลับไปหา “ลิ้มซิงแซ” เพื่อขอความช่วยเหลืออีกครั้ง เธอละล่ำละลัก… “ลุงซิงแซคะ กรุณาช่วยหนูด้วยค่ะ หนูไม่อยากให้แม่สามีตายแล้วค่ะ…คุณลุงรู้มั้ยคะว่าตอนนี้แม่เปลี่ยนไปมาก ท่านดีกับหนูมากและหนูก็รักท่านเหมือนแม่จริงๆ ของหนู หนูไม่อยากให้ท่านตายด้วยยาพิษของหนูเลย…”
“ลิ้มซิงแซ” อมยิ้มในใจพร้อมผงกศีรษะและกล่าวว่า “ลูกเอ๋ย…ไม่มีอะไรต้องกังวล ลุงไม่เคยให้ยาพิษอะไรแก่หนูเลย สมุนไพรที่ให้ไปเมื่อคราวก่อนนั้นเป็นพวกสมุนไพรจีนที่บำรุงร่างกาย…ยาพิษร้ายแรงที่ ทำลายความสุขมีอย่างเดียวในโลกอยู่ที่จิตใจนั่นเอง …ทัศนคติของหนูที่มีต่อแม่สามีต่างหากที่เป็นอุปสรรค…. และนั่นก็ได้รับการชำระล้างหมดแล้วด้วยความรักเคารพทั้งปวงที่หนูมอบให้แก่ท่าน”
เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ซึ่งอาจเกิดกับใครก็ได้ เป็นสิ่งบอกให้เรารู้ว่า คนเราทุกคนเมื่อให้แต่สิ่งที่ดีแก่ผู้อื่น ความดีนั้นย่อมจะกลับคืนมาสู่ตนเองเสมอ ขอเพียงเปิดใจให้กว้าง ยอมรับ และพร้อมที่จะทำความดีด้วยความจริงใจเท่านั้น
ดังนั้น การสร้างความสามัคคีปรองดอง ก็เช่นกัน ขอให้มีความจริงและเปิดใจให้กว้าง
สิ่งที่เป็นอุปสรรคทั้งปวง ย่อมอันตรธาน…มิใช่หรือ?!

 

ไพรัช วรปาณิ
กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image