เป้าลับ แผนลวง ‘ยิ่งลักษณ์’ กับเพื่อไทย คดี ‘จำนำข้าว’

ในความเป็นจริง สถานการณ์ในวันแถลงปิดคดี “โครงการรับจำนำข้าว” โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 1 สิงหาคม มีความหมาย มีความสำคัญ

อาจจะยิ่งกว่าการอ่านคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคม ด้วยซ้ำ

มีความหมายเพราะว่านี่เท่ากับเป็น “โอกาส” เดียว และโอกาสสุดท้ายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้แสดงออกอย่างเต็มที่

อึดอัด คับข้องใจอย่างไรก็ “ปล่อย” ออกมา

Advertisement

คล้ายกับเป็นการระบายให้คณะผู้พิพากษาที่มี นายชีพ จุลมนต์ เป็นประธานได้รับรู้ แต่แท้จริงแล้วเป้าหมายมีมากกว่านั้น

“ประชาชน” ต่างหาก คือ “เป้าหมาย”

นี่จึงเป็นความสำคัญไม่เพียงแต่ต่อตัวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งประสบชะตากรรม หากแต่ยังต่อพรรคเพื่อไทยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สังกัด

Advertisement

ทำไมเป้าหมายอันเป็นด้านหลักจึงเป็น “ประชาชน”

 

กล่าวสำหรับ “นักการเมือง” ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการ “รัฐประหาร” ไม่ว่าจะมาจากกระบวนการ “เลือกตั้ง” ประชาชนมีความหมายสูงสุด

เพราะหากไม่มี “ประชาชน” ห้อมล้อม ก็อยู่ยาก

นักรัฐประหารอาจให้น้ำหนักไปยัง “อำนาจ” เข้มจากระบบราชการ ทั้งทหาร พลเรือน และตำรวจเป็นสำคัญ

และคิดในเชิง “ควบคุม” มากกว่าจะให้ “เสรีภาพ”

แต่นักการเมืองที่มีพื้นฐานมาจาก “การเลือกตั้ง” มิอาจวางตัวเป็นปฏิปักษ์กับ “ประชาชน” ได้อย่างเด็ดขาด

เพราะเมื่อไม่มี “ประชาชน” ก็จะไม่มีอะไรเลย

ในฐานะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจากการเลือกของประชาชน จึงจำเป็นที่ในที่สุดจะต้องหวนกลับไปแถลงและทำความเข้าใจให้กับประชาชน อย่างน้อยก็ต้องเปิดเผยว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้ต้องตกเป็น “จำเลย”

น่าสนใจก็ตรงที่ความรับรู้ต่อ “ประชาชน” ในประเด็นนี้มีความแตกต่างกัน

ถามว่าทำไมจึงมีข่าว คสช.จะส่งทหารไปสกัด “มวลชน” ทำไมบรรดาห้อยโหนจึงโหมประโคมในเรื่องค่าหัวว่าจ้าง “มวลชน” 1,500 บาทให้เดินทางมา กทม.

นั่นแหละ คือ ความไม่เข้าใจ “ประชาชน”

นั่นแหละ คือ การประเมินไว้ล่วงหน้าว่าพรรคเพื่อไทยและ นปช.จะต้องระดม “มวลชน” มหาศาลมาห้อมล้อม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ความเป็นจริงไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น

“มวลชน” บริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่น่าจะแปลกแตกต่างไปจากนัดที่ 1 หรือนัดที่ 16 ก่อนหน้านี้มากนัก

ไม่มีการชูป้าย ไม่มีข้อเรียกร้อง ให้ “กำลังใจ” อย่างเดียว

“มวลชน” ในขอบเขตทั่วประเทศซึ่งอยู่ที่บ้านและไม่สามารถเดินทางมายังศาลได้ต่างหากคือเป้าหมายอย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือพรรคเพื่อไทย

เวทีของ “ศาล” จึงเป็นความชอบธรรมของการแถลงของการโฆษณาทางการเมือง

จึงเท่ากับสะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณของมวลชนหน้าศาลเมื่อเช้าวันที่ 21 กรกฎาคม อาจเป็นเป้าหลอก กระทั่งสร้างความตื่นตระหนกให้อย่างใหญ่หลวง

ปรากฏออกมาเป็น “คำสั่งลับ” อันมาจาก “คสช.”

ขยายและปรากฏออกมาอย่างเป็น “รูปธรรม” ผ่านพิมพ์เขียวของ “แผนกรกฎ 52” ที่ชูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เป็นเครื่องมือ

ทั้งหมดนี้เท่ากับเป็นการเรียกแขกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยแท้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image