ขยายวงปฏิรูป โดย นฤตย์ เสกธีระ

สปท.หรือสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศได้หมดวาระไปแล้วตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

เหลือทิ้งไว้เป็นข้อมูลและแนวทางที่กรุยไปสู่การปฏิรูป

สปท.นี้ตั้งขึ้นมาทำงานสานต่อ สปช. ซึ่งหมดภารกิจตามรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้า

ต่อไปจึงเกิดข้อสงสัยว่า การปฏิรูปจะดำเนิการไปอย่างไร

Advertisement

สำหรับการปฏิรูปที่มีข่าวเกรียวกราวกันในขณะนี้ เห็นได้ว่าข่าวการปฏิรูปตำรวจได้รับความสนใจมากสุด

อาจจะเป็นเพราะการปฏิรูปตำรวจเป็นรูปเป็นร่างมากกว่าอย่างอื่น

อย่างน้อยก็มีคณะกรรมการ มีข้อมูลที่ตระเตรียมปฏิรูป มีกำหนดการ

และที่สำคัญคือมีปฏิบัติการ

อย่างไรก็ตาม ในการปฏิรูปตำรวจนี้จำเป็นต้องโยงกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ปฏิรูปตำรวจ อัยการ ศาล รวมถึงราชทัณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกัน 

คำถามก็คือ องค์กรอัยการ และศาลนั้น มีความคืบหน้าในการปฏิรูปเช่นไร ?

หลังจากพ้น 90 วันที่คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจดำเนินการให้แล้วเสร็จตามความประสงค์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแล้ว

หน่วยงานอำนวยความยุติธรรมอื่นๆ จะมีความคืบหน้าในการปฏิรูปหรือไม่

จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน รัฐบาลรวมทั้งกระทรวงยุติธรรมเคยขยับปฏิรูปกันเองด้วยความคึกคัก

ขณะนั้นกระทรวงยุติธรรมเกิดหน่วยงานหลากหลาย รวมไปถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ

หลังจากปฏิรูปทางโครงสร้าง มีการเปิดอบรมคนในกระบวนการยุติธรรมยกใหญ่

มีไอเดียและแนวทางสารพัดในการพัฒนา

มีข้อเสนอเรื่องบูรณาการงานตำรวจ อัยการ ศาล และราชทัณฑ์ ให้มีเป้าหมายแห่งความยุติธรรมเดียวกัน

มีการศึกษาและพยายามผลักดันแนวทางความยุติธรรมใหม่ๆ ในขณะนั้นเข้ามา

อาทิ ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ มีหน่วยงานยุติธรรมชุมชน มีกระบวนการไกล่เกลี่ย เพื่อระงับความขัดแย้ง โดยไม่ต้องขึ้นศาล เป็นต้น

ตอนนั้นกระบวนการยุติธรรมขับเคลื่อนไปด้วยความคึกคัก ต่อเนื่อง และมีการประเมินผล

ตัวจักรสำคัญในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมในตอนนั้นหลายคนเป็นใหญ่เป็นโตในตอนนี้

เป็นใหญ่เป็นโตในกระทรวง เป็นใหญ่เป็นโตทางการเมือง และยังทำงานองค์กรยุติธรรมภายนอก

บางคนทำงานองค์กรยุติธรรมระหว่างประเทศ

ในโอกาสที่ สปท.หมดหน้าที่ลง และการปฏิรูปกำลังจะขยับเข้าสู่ผู้รับผิดชอบใหม่

อยากจะเห็นการปฏิรูปที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างเป็นกระบวนการ

เหตุที่ยกตัวอย่างการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพราะเห็นการปฏิรูปตำรวจคึกคัก

ไหนๆ จะพัฒนางานตำรวจ ซึ่งเป็นต้นธารกระบวนการยุติธรรมแล้ว

ก็ถือโอกาสพัฒนางานอื่นๆ ไปพร้อมๆ กัน

หากทำได้สำเร็จ บางทีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอาจเป็นต้นแบบ

ปลุกให้การปฏิรูปด้านอื่นตื่นขึ้นและเอาอย่าง

หากทุกฝ่ายร่วมด้วยช่วยกันปฏิรูป ความฝันที่อยากให้ประเทศชาติพัฒนาก็พอเห็นความสำเร็จ

แต่ถ้ายังมุ่งปฏิรูปเฉพาะจุด ไม่สามารถบูรณาการเป็นกระบวนการได้

ในที่สุดการปฏิรูปอาจกลายเป็นเพียงแค่แผนประชาสัมพันธ์

ซึ่งถ้าเป็นได้เพียงแค่นั้นจริง ก็น่าเสียดาย

…………….

นฤตย์ เสกธีระ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image