โรคา ภาษา และความเข้าใจ : โดย กล้า สมุทวณิช

สําหรับคนส่วนหนึ่ง โรคซึมเศร้านั้นไม่เคยมีอยู่จริง

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมเราต้องกลับมาถกเถียงกันเรื่องนี้ในทุกคราว โดยเฉพาะเมื่อผู้มีชื่อเสียงสักคนไม่ว่าชาวเราหรือชาวโลกได้ปลิดชีวิตตัวเองลง ด้วยข้อถกเถียงเดิมๆ ระหว่างผู้ที่ใช้กรอบคิดเชิงศาสนาว่าความตายของเขานั้นเป็นบาปมหันต์อนันตชาติ หรือบ้างก็มีทรรศนะว่าการปลิดชีวิตตัวเองคือการ “คิดสั้น” ที่ไม่เห็นแก่หน้าที่ของเขาที่มีต่อคนอื่น

กับฝ่ายที่พยายามแก้ไขให้ว่า ความตายด้วยอัตวินิบาตกรรมของคนเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจในการปลิดชีพตัวเองด้วยเจตจำนงของตัวเอง แต่เป็นผลจากอาการทางจิตของโรคซึมเศร้า อธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ การตายด้วยของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจึงไม่ต่างจากการตายด้วยพิษชีวเคมีเช่นถูกงูกัดแต่อย่างใด

แต่ไม่ว่าจะถกเถียงกันอย่างไร การเปลี่ยนแปลง “ความคิด” ของคนกลุ่มแรกนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะโรคซึมเศร้า แต่รวมไปถึงโรคสมาธิสั้น โรคอารมณ์สองขั้วหรือไบโพลาร์ และโรคทางจิตหรืออาการทางสมองอื่นๆ ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมด้วย

Advertisement

แม้ในทางการแพทย์จะมีข้อมูลซึ่งพิสูจน์ได้ในทางวิทยาศาสตร์ว่า การที่สารเคมีในสมองที่เป็นสื่อนำประสาท ได้แก่ Serotonin และ Norepinephrine มีการเปลี่ยนแปลงไปจากปกติจนขาดสมดุล ประกอบกับความผิดปกติของเซลล์รับสื่อนำประสาทเหล่านี้ เป็นที่มาของอาการต่างๆ ของโรคซึมเศร้า (Depression) และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) รวมถึงโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder : ADHD) ที่เป็นอาการยอดฮิตในเด็กและคนรุ่นใหม่ ก็เกิดจากความบกพร่องของสารเคมีที่สำคัญในสมองคือ Dopamine และ Noradrenaline ซึ่งผลของความไม่ได้สมดุลของสารเคมีต่างๆ นี้จะส่งผลถึงพฤติกรรมและอาการต่างๆ ของผู้ป่วย ตามแต่ชนิดของโรค

เคยมีผู้อธิบายให้คนที่ไม่เชื่อหรือยังคลางแคลงอยู่ว่า “สารเคมี” ในสมองสามารถส่งผลต่อความคิดหรือพฤติกรรมของคนเราได้อย่างไร ก็ให้ผู้สงสัยนั้นลองดื่มสุราเข้าไปให้เมาเต็มที่ แล้วทดสอบกับตัวเองว่ายังสามารถที่จะควบคุมร่างกายหรือจิตใจของตัวเองได้เต็มที่หรือไม่ สามารถตั้งสมาธิเจริญจิตให้ “หายเมา” ได้หรือเปล่า การถูกครอบงำด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นี้ก็ไม่ต่างจากที่สารเคมีในสมองอันผิดปกตินั้นส่งผลต่อการควบคุมร่างกายและจิตใจที่ไม่สามารถเลิก “ซึมเศร้า” ด้วยการไปฟังเพลงสนุกๆ หรือนั่งสมาธิกำหนดลมหายใจได้

ดังนั้น สำหรับคนที่มองว่า “โรค” เหล่านี้เป็น “โรค” ก็เชื่อว่าการบำบัดนั้นจะทำได้ก็ด้วยการใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อปรับสมดุลของสารสื่อประสาทเหล่านั้นให้กลับมาอยู่ในสภาวะที่เป็นปกติ เหมือนปวดหัวปวดท้องก็ต้องพบแพทย์รับยารักษาไปตามอาการ

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เพราะความที่ “โรค” พวกนี้เกิดอาการต่อจิตใจหรือพฤติกรรม ก็ทำให้คนส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าโรคเหล่านี้เป็น “โรค”

คนกลุ่มหลังนี้มีทั้งที่ประนีประนอม แบ่งรับแบ่งสู้ยอมรับว่าโรคเหล่านี้มีจริง เกิดจากสารเคมีในสมองส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ที่ผิดปกติทางจิตใจและพฤติกรรมก็มีส่วนจริงอยู่ แต่ถึงอย่างไร “จิต” ของคนเราก็เข้มแข็งทรงพลังเพียงพอที่จะเอาชนะอำนาจของสารเคมีเหล่านั้นได้อยู่ดี กับกลุ่มที่ไม่เชื่อเลยว่าเรื่องกลไกของสารเคมีในสมองที่ส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว หรือสมาธิสั้นนั้นไม่มีจริง เป็นเพียงการหลอกลวงเพื่อจะขายยากันของแพทย์แผนปัจจุบันตามทฤษฎีสมคบคิด

และสำหรับบางคนบางกลุ่มยิ่งสุดโต่งกันไปกว่านั้น ด้วยเชื่อว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดแบบการแพทย์นั้นยิ่งจะทำให้อาการนั้นทวีความรุนแรงขึ้นไป อย่างเช่นแนวคิดในการบำบัดเด็กสมาธิสั้นสายหนึ่งต่อต้านการกินยา Ritalin (Methylphenidate) ซึ่งเป็นยาหลักในการรักษาอาการสมาธิสั้นว่าไม่ต่างจากการทำร้ายหรือป้อนยาพิษให้ลูกหลานตัวเอง

เมื่อกลุ่มนี้เชื่อว่าปัญหาต่างๆ เกิดจาก “จิต” “ความคิด” หรือ “สมาธิ” จึงสามารถบำบัดได้ด้วยการ “ฝึกจิต” “ปรับความคิด” หรือ “ตั้งสมาธิ” ด้วยหลักธรรมะ หรือใช้ถ้อยคำ หรือการสื่อสารบางอย่างปลดล็อกเงื่อนปมบางอย่างที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ คำแนะนำที่ให้คนเป็นโรคซึมเศร้า หรือเด็กที่เป็นสมาธิสั้นไปเข้าวัด ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่การใช้วิธีบำบัดเชิงพิธีกรรมที่อธิบายไม่ได้บางอย่างเช่นการใช้ก้อนหินดูดพลังลบ หลายครั้งก็อาจจะเป็นคำแนะนำที่เกิดจากความหวังดีและความเชื่อโดยสุจริตโดยบริสุทธิ์ใจจริงๆ

เว้นแต่ถ้อยคำเทศนาสั่งสอนจากบางคนที่สัมผัสถึงความรู้สึกเย้ยหยันว่าผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ เหล่านั้นเป็นผู้อ่อนแอแพ้ชีวิตได้อย่างปกปิดไม่มิด (หรือในกรณีของเด็กสมาธิสั้นเราก็สัมผัสได้ถึงการติเตียนทางอ้อมต่อบิดามารดาผู้ปกครองเด็กว่าเลี้ยงลูกไม่เป็น) และยังไม่ต้องกล่าวถึงมนุษย์อาชีพหนึ่งที่เรียกว่าเป็น “โค้ชชีวิต” หรือ “นักปลดล็อก” ที่อุปโลกน์ตัวเองขึ้นมาด้วยวิชาประเภทวิทยาศาสตร์เทียม (Pseudoscience) อ้างว่าสามารถบำบัดรักษาอาการต่างๆ เหล่านี้ได้ด้วยการ “สัมมนา” หรือ “บำบัดหมู่” เพียงไม่กี่ครั้ง

ความเข้าใจที่แตกแยกเป็นสองขั้วเช่นนี้ หากเราพยายามทำความเข้าใจฝ่ายที่ไม่เชื่อในความเป็นอยู่มีจริงของโรคซึมเศร้าก็อาจจะพอเข้าใจได้ว่ามันก็มีเหตุให้ “เชื่อยาก” อยู่

ประการแรก ด้วยความที่คำที่ใช้เรียกชื่อโรคต่างๆ เหล่านี้ใน “ภาษา” ของเรานั้นดูมันเหมือนไม่ใช่โรคเอาเสียเลย

ก็ไอ้การ “ซึมเศร้า” นั้นน่าจะเป็นอารมณ์ๆ หนึ่ง ซึ่งอารมณ์เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนหรือควบคุมได้ด้วยการสร้างบรรยากาศหรือการปรุงจิตปรับใจมิใช่หรือ ส่วน “สมาธิสั้น” นั้นก็ไปฝึกฝนให้สมาธินั้นยาวขึ้นได้หรือไม่ ส่วนเจ้า “อารมณ์สองขั้ว” นั้นก็สามารถตั้งสติให้ระลึกรู้ควบคุมอารมณ์ของตนไม่ให้ไกวแกว่งแบ่งขั้วก็ได้นี่ เช่นนี้แล้วเรื่องพวกนี้จะเป็น “โรค” ได้อย่างไร

เพราะ “ความจริง” ของมนุษย์ถูกกำหนดด้วยภาษา ซึ่งจะเชื่อมโยงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเข้ากับถ้อยคำ และถ้อยคำนั้นจะตรึงติดเป็น “ความจริง” ที่ไม่อาจแยกออกจากสิ่งนั้นได้ เช่นที่คำว่า “ก้อนหิน” จะส่งภาพลักษณ์ก้อนหิน และข้อเท็จจริงประกอบทั้งรูปร่างและคุณสมบัติของมันจากประสบการณ์ที่เราได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า “หิน” เข้าสู่ความรับรู้ของเราโดยอัตโนมัติ ดังนั้นคำว่า “ก้อนหิน” จึงไม่อาจไปเชื่อมโยงกับ “ความอ่อนนุ่ม” หรือ “เบาหวิว” ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ขัดกับความเป็น “หิน” ในความรับรู้ของเราได้

เช่นเดียวกับที่คำว่า “ซึมเศร้า” นั้นเชื่อมโยงและเป็นฉลากที่ติดลงบนอารมณ์ๆ หนึ่ง ที่หมายถึงความรู้สึกทางจิตใจที่ไม่มีความสุข หดหู่ ขาดแรงบันดาลใจ ในความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่ใช้ภาษาไทยแล้ว การจะยอมรับ “ความหมาย” ใหม่ของมันว่าหมายถึง “โรค” ชนิดหนึ่งที่เกิดจากสมองจึงเป็นเรื่องที่ยาก ยิ่งภาพของความ “ซึมเศร้า” ที่เป็นคำบอกอารมณ์ชัดในความรับรู้ของเราเท่าไร การ “เขียนความหมายใหม่” แทรกเพิ่มเข้าไปว่าเป็นโรคภัยไข้เจ็บอย่างหนึ่งเหมือนไข้หวัดใหญ่ไทฟอยด์ ก็ยิ่งยากขึ้นเท่านั้น

อิทธิพลของภาษาที่กำหนดความจริงนั้น ทำให้หลายครั้งที่เราต้องการเปลี่ยน “ความจริง” และ “ความรับรู้” เราถึงจำเป็นจะต้องเปลี่ยน “ภาษา” ด้วย เช่นที่ครั้งหนึ่งที่แพทย์เคยเรียกร้องกันให้วงการหนังสือพิมพ์นั้น “เลิก” ใช้คำว่า “ทนพิษบาดแผลไม่ไหว” ในสาเหตุการตายของผู้คน เพราะสิ่งที่เรียกว่า “พิษบาดแผล” นั้นไม่มี และการเสียชีวิตจากบาดแผลหรืออาการบาดเจ็บก็อาจจะไม่ได้เกี่ยวกับความอดทนอะไรของผู้ตาย แต่มาจากความร้ายแรงและสภาพของบาดแผลและอาการบาดเจ็บนั้นมากกว่า

นอกจากเรื่องภาษาที่ทำให้โรคทางจิตใจหรือพฤติกรรมเหล่านี้เหมือนจะไม่ใช่โรคแล้ว การที่ไม่มีอาการปรากฏทางร่างกายให้เห็นชัดเจนก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง แตกต่างจากกรณีของโรคภัยหรืออาการบาดเจ็บที่ปรากฏชัดเจนทางกายภาพ แต่อาการของโรคซึมเศร้าหรือโรคสมาธิสั้นนั้นปรากฏเฉพาะทางพฤติกรรม ความผิดปกติทางร่างกายหรือการบาดเจ็บภายในนั้นเป็นเรื่องของสารเคมีภายในสมองและเซลล์สื่อประสาทที่ไม่ปรากฏให้เห็นภายนอกกันชัดๆ

เช่นนี้ในการที่จะต้องอยู่ร่วมหรือใช้ชีวิตกับคนเป็นโรคทางจิตใจหรือสมองนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจนัก เพราะการที่ไม่มีอาการปรากฏทางกายภาพนี้เป็นสาเหตุสำคัญ ลองคิดว่าหากเพื่อนร่วมงานของเราขาหัก ไข้ขึ้นสูง หรือผ่าตัดไส้ติ่ง เราคงไม่รู้สึกคลางแคลงใจที่เขาจะหยุดงาน หรือไม่คิดอยากเร่งรัดให้เขาทำตัวให้เข้มแข็งกลับมาทำงาน แต่ในทางกลับกันหากเพื่อนร่วมงานของเราขอลาหยุดงานหรือขอลดหรือยกเลิกงานบางประเภทเพราะอยู่ในช่วงที่อาการโรคซึมเศร้ากำลังกำเริบ เชื่อว่าคนที่ต้องทำงานด้วยผู้ที่จะ “เข้าใจ” ในกรณีหลังได้อย่างไม่มีความคลางแคลงใดๆ เลยคงจะมีไม่มากนัก

เหตุผลที่พอจะเข้าใจคนที่ “ไม่เข้าใจ” เรื่องโรคทางจิตใจหรือพฤติกรรมอีกประการที่มีน้ำหนัก คือเราไม่สามารถแยกแยะผู้ที่มีพฤติกรรมที่เป็นอาการของโรคซึ่งมาจากความผิดปกติของสารเคมีทางสมองออกจากคนที่แค่มีพฤติกรรม “คล้าย” ผู้ป่วยได้ง่ายนัก เช่นเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า การที่เพื่อนร่วมงานของเรานั่งฟุบหน้าลงบนโต๊ะทั้งวัน ทำงานทำการในความรับผิดชอบไม่ได้นั้น เกิดจากอาการของโรคซึมเศร้าเพราะสารเคมีในสมองทำให้จิตใจรู้สึกดำดิ่งขาดพลังในการใช้ชีวิต หรือแค่เป็นกรณีของคนเกียจคร้านทำการงานและหาข้ออ้างกันแน่ กับเด็กที่สร้างความปั่นป่วนในห้องเรียนนั้นเกิดจากอาการสมาธิสั้น หรือเป็นแค่เด็กดื้อเด็กซนที่ไม่ยอมอยู่ในระเบียบวินัยเท่านั้น

เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากจะบ่งชี้ไปให้ชัดเจนอยู่เหมือนกัน

ความ “ยาก” ในการทำความเข้าใจทั้งหลายนี้ ก็ไม่แปลกนักที่คนจะไม่เข้าใจหรือคลางแคลงใจในความมีอยู่และความเป็น “โรค” ของโรคซึมเศร้า อารมณ์สองขั้ว หรือสมาธิสั้น ว่าพฤติกรรมของผู้คนที่มีปัญหานั้นมาจาก “สารเคมีในสมอง” ล้วนๆ โดยไม่มีเจตจำนงหรือการตัดสินใจของผู้ป่วยเข้ามามีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมของตัวเองเลยจริงหรือ

แต่ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ เข้าใจแค่ไหน แต่หากเรามีความรู้สึกเมตตาต่อความทุกข์ของผู้อื่นว่า การที่ใครสักคนไม่สามารถหยัดยืนขึ้นมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติที่ควรจะเป็น หรือไม่สามารถควบคุมร่างกายและจิตใจได้อย่างที่ต้องการ ไม่ว่าจะมาจาก “โรค” ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง หรือแม้แต่เพียงเป็นความอ่อนแอทางจิตใจที่ใครๆ ก็อาจจะมีได้ในช่วงหนึ่งของชีวิตก็ตามนั้น เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจและพึงปฏิบัติต่อเขาอย่างเข้าใจเพื่อช่วยให้เขาผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายเหล่านี้ไปได้

หากมีความเห็นอกเห็นใจต่อกันเช่นนี้เป็นพื้นฐาน การยอมรับในความมีอยู่จริงของ “โรค” อันเป็นผลมาจากเคมีในสมองหรือไม่นี้ ก็อาจจะไม่มีความสำคัญใดๆ เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image