วาระ การเมือง ยิ่งลักษณ์ ‘เพื่อไทย’ การเมือง เลือกตั้ง

บรรยากาศบริเวณหน้าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช้าวันที่ 1 สิงหาคม น่าจะบ่งบอกอย่างเด่นชัดในทิศทางของพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าการปรากฏตัวของ นายจาตุรนต์ ฉายแสง

ไม่ว่าการปรากฏตัวของ นายวัฒนา เมืองสุข ล้วนชี้ว่าถนนทุกสายของพรรคเพื่อไทย คือ การทอดเดินไปยัง “การเลือกตั้ง”

การให้ “กำลังใจ” เป็นจังหวะก้าว 1

Advertisement

เพราะว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ในจุดอันถูกกระทำมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มหาอุทกภัยเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ไปยังเจตนาแห่งความพยายามจะ “แช่แข็ง” ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2556 กระทั่งกลายเป็น “ชัตดาวน์” โดย กปปส.

แล้วลงเอยด้วยรัฐประหารของ “คสช.” ในเดือนพฤษภาคม 2557

ทั้งหมดนี้คือ “วัตถุดิบ” อันทรงความหมายยิ่งเมื่อคนของพรรคเพื่อไทยก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป

Advertisement

ที่มีการตั้งแท่นจาก “แผนกรกฎ 52” พยายามจะเล่นงาน นายวัฒนา เมืองสุข ผ่านประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงกลายเป็นเรื่องของการขยายภาพให้ใหญ่เกินกว่าเหตุ

เพราะปรากฏการณ์ในวันที่ 1 สิงหาคม มิใช่เพื่อ “ล้ม” รัฐบาล

ยิ่งกว่านั้น การโพสต์ข้อความยืนยันของ นายวัฒนา เมืองสุข ที่จะเดินทางไปศาลทั้งในวันที่ 1 และวันที่ 25 สิงหาคม เป็นเรื่องของการแสดงน้ำใจ

น้ำใจของอดีต ส.ส.คนหนึ่งต่ออดีต “นายกรัฐมนตรี”

ทั้งๆ ที่มีการแจ้งความกล่าวโทษตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม แต่เรื่องก็ยังอยู่ที่กองบังคับการปราบปราม อาจประสานไปยัง บก.ปอท.

จึงยังไม่มี “หมายเรียก” จึงยังไม่ถึง “หมายจับ”

แท้จริงแล้วโดยพิมพ์เขียวแห่ง “แผนกรกฎ 52” ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ยากที่จะทำอะไร นายวัฒนา เมืองสุข ได้มากกว่านี้

จึงเสมอเป็นเพียง “ป้องปราม” เพื่อให้ “มวลชน” เกิดความลังเล

ไม่ว่า คสช.จะดำรงอยู่ต่อไปอีกยาวนานเพียงใด ไม่ว่ารัฐบาลอันมาจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะต้องการอย่างไร

แต่ประเด็นของวันที่ 1 และวันที่ 25 สิงหาคม จะเป็น “วัตถุดิบ” สำคัญ

นั่นก็คือหากกำหนดวันเลือกตั้งมีความแน่ชัด รายละเอียดทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ต้องตระเตรียมและนำเข้าสู่การรณรงค์ในท่ามกลางประชาชน

เหมือนที่เคยยกประเด็น “จำนำข้าว” ขึ้นมาเป็น “จุดขาย”

พรรคเพื่อไทยรับรู้ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ว่า ชะตากรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะดำเนินไปในแบบเดียวกันกับ นายทักษิณ ชินวัตร

เพราะนี่คือความต่อเนื่องจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549

หากไม่ต้องการให้กลายเป็นรัฐประหารประเภท “เสียของ” ย่อมมีความจำเป็นต้องนำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้าช่อง “ฟรีซ” ในทางการเมือง

ตัดมือ ตัดตีน พรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยก็ถือเอาเรื่องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นจุดขายเช่นเดียวกับที่เคยถือเอาเรื่องของ นายทักษิณ ชินวัตร มาเป็นจุดขาย

เพราะ “เลือกตั้ง” คือเป้าหมายอันแจ่มชัดที่พรรคเพื่อไทยต้องการ

ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตาม “โรดแมป” คือประมาณเดือนสิงหาคม 2561 หรือมีอันต้องเลื่อนไปยังปี 2562 ตามความคาดหมาย

แต่กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะมีความโดดเด่น

เพียงแต่โดดเด่นในฐานะที่พรรคเพื่อไทยถือว่าตนเป็น “โจทก์” และสรุปว่า คสช.และรัฐบาลอันมาจาก คสช.เป็น “จำเลย” นำเสนอให้ “ประชาชน” เป็น “ผู้ตัดสิน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image