ตำแหน่งประธานศาลฎีกา ในมุมมองของข้าพเจ้า : โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล

การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แบ่งอำนาจสูงสุดออกเป็น 3 อำนาจ คือ อำนาจ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติคือประธานรัฐสภา ฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรี ส่วนฝ่ายตุลาการคือประธานศาลฎีกา ผู้เขียนเคยเปิดโทรศัพท์พบรายการหนึ่งซึ่งมีพิธีกรเป็นหญิงได้เริ่มกล่าวถึงมติของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาว่าเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมากเพราะเรื่องของอำนาจตุลาการไม่ใช่เรื่องไกลตัวของประชาชน ตรงกันข้ามเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนควรให้ความสนใจ

เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

เพราะมีหลายครั้งที่อำนาจนิติบัญญัติและบริหารเกิดวิปริตปรวนแปร อำนาจตุลาการก็ยังคงเป็นหลักขจัดความวิปริตอันนำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชน เพื่อนำความถูกต้องและสงบสุขกลับมาสู่ประเทศชาติ

ตัวอย่างที่พอจะนำกล่าวยืนยันความสำคัญของผู้พิพากษาตุลาการอันมีต่อประเทศชาติ และประชาชนชาวไทย ก็เช่น คดีอาชญากรสงคราม เมื่อปี พ.ศ.2489 ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย (จอมพล แปลก พิบูลสงคราม) กับพวก ถูกกล่าวหาร่วมกระทำผิดฐานเป็นอาชญากรสงคราม โดยคดีนั้นศาลฎีกาตีความว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามที่บัญญัติย้อนหลังขัดต่อรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ จึงพิพากษายกฟ้อง

Advertisement

หากศาลฎีกาไม่เข้ามาใช้อำนาจตีความดังกล่าว อดีตนายกรัฐมนตรีกับพวกก็จะต้องถูกส่งตัวไปเพื่อรับโทษแขวนคอที่เมืองนูเรมเบิร์กประเทศเยอรมนี

นอกจากนั้นยังมีคดีสำคัญๆ ซึ่งศาลใช้อำนาจตุลาการในการลงโทษบุคคลที่กระทำการทุจริตทำให้เกิดผลเสียหายแก่ประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง โดยไม่เกรงต่ออำนาจและอิทธิพลใดๆ โดยมีคำพิพากษาลงโทษ นายทหารผู้มียศพลเอกและเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร โดยอำนาจของคณะปฏิวัติ พิพากษาจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ในที่สุดจำเลยเสียชีวิตในเรือนจำระหว่างถูกจำคุกตามคำพิพากษาของศาล คนไทยเรียกคดีนี้ติดปากว่า “คดีกินป่า”

ผู้สนใจในคดีเหล่านี้จะหาอ่านได้ในบทความของผู้เขียนเรื่อง “คดีสำคัญๆ กับสถาบันศาลยุติธรรมไทย” งานของผู้พิพากษาตุลาการจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรงดังกล่าวที่ว่า “ศาลเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน”

Advertisement

ผู้ที่จะทำหน้าที่ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลทั่วไปได้ดี จะต้องมีความเป็นกลาง เป็นอิสระและกล้าหาญ ด้วยความสำคัญของผู้พิพากษาตุลาการ ดังกล่าว รัฐธรรมนูญทุกฉบับของประเทศไทย จึงมีบทบัญญัติรับรองความเป็นอิสระของผู้พิพากษาตุลาการไว้ แม้แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก็มีบทบัญญัติไว้ในมาตรา 188 ดังนี้

“การพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาลซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง”

ผู้ที่จะทำหน้าที่ของผู้พิพากษาตุลาการที่ดีจึงจำเป็นจะต้องเป็นกลางและมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับความเป็นกลางนั้น กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระบิดากฎหมายไทย) กราบทูลพระราชบิดา (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ความว่า

“ข้าพระพุทธเจ้าจ้างให้เขามาเป็นกลาง ให้เขาใช้ปัญญา ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ควบคุมเขาไม่ได้ ต้องให้เขาเห็นความสำคัญของตัวเขาเอง เงินเดือนจึงมากกว่าคนอื่นๆ”

ส่วนความเป็นอิสระนั้นจำเป็นต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระให้แก่ผู้พิพากษาตุลาการ เพราะหากผู้พิพากษาตุลาการปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงแต่ไปขัดใจผู้มีอำนาจหรือผู้บังคับบัญชา ก็อาจจะถูกลงโทษ เช่นการโยกย้ายผู้พิพากษาให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

ที่สำคัญคือ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม หรือ ก.ต.ประกอบด้วยบุคคล 15 คน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ (ผู้พิพากษา) จากศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่ผู้พิพากษามาจากการคัดเลือกของวุฒิสภา 2 คน โดยมีประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการ มีอำนาจในการกำหนดคุณสมบัติ บรรจุ แต่งตั้ง ให้ความดีความชอบ เลื่อนตำแหน่ง โยกย้าย ลงโทษ และให้ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมพ้นจากตำแหน่ง

ก.ต.จึงเป็นที่พึ่งของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมให้พ้นจากการที่ผู้มีอำนาจจะเข้ามาโยกย้าย หรือลงโทษโดยไม่เป็นธรรม ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหลายจึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ไปได้อย่างอิสระ ปราศจากการครอบงำจากผู้มีอำนาจทั้งภายในและภายนอกสถาบันศาล

เมื่อมีปัญหาสำคัญๆ เกิดขึ้นในสถาบันศาล และได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ก.ต. และ ก.ต. มีมติประการใดก็ถือว่าเรื่องยุติตามมติ ก.ต.

ถ้าเมื่อใดมีการโต้แย้งคัดค้านมติ ก.ต. ก็จะนำไปสู่ปัญหาแห่งความแตกแยกในหมู่ผู้พิพากษาดังเช่นปัญหาที่เกิดขึ้นแก่สถาบันผู้พิพากษาศาลยุติธรรมเมื่อปลายปีมาแล้ว ซึ่งคนทั้งหลายเรียกว่า “วิกฤตตุลาการ” อันนำมาซึ่งความเจ็บปวดหัวใจของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งประเทศ

ผู้เขียนสอบคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาได้เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่น 13 ซึ่งในรุ่นมีผู้สอบได้เป็นชาย 80 คน เป็นหญิง 2 คน เข้ารับการอบรมเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาเป็นเวลา 1 ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ เป็นผู้พิพากษา และดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาอาวุโส

เมื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในศาลยุติธรรมจึงได้ทราบถึงวัฒนธรรมทางความคิด อุดมคติ และจิตวิญญาณของผู้ที่เป็นผู้พิพากษา เช่น การเคารพอาวุโส หมายถึงการปฏิบัติตน ตลอดจนการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งซึ่งต้องเป็นไปตามอาวุโส ลำดับอาวุโสของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม จะจัดตามลำดับของการสอบเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาได้ และจะคงอยู่กับตัวผู้พิพากษาผู้นั้นไปตลอดชีวิตของการเป็นผู้พิพากษา

การเคารพในอาวุโสทำให้สถาบันศาลอยู่รวมกันมาด้วยความสงบเรียบร้อย การแต่งตั้งหรือเลื่อนตำแหน่งจะเป็นไปตามอาวุโส ไม่มีการข้ามอาวุโสกันยกเว้นผู้อาวุโสกว่าจะมีความบกพร่องในข้อสำคัญจริงๆ ผู้อาวุโสต่ำกว่าจึงจะขึ้นมาแทนที่ได้

ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 11 เริ่มต้นด้วยตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งเป็นผู้พิพากษาชั้น 1 ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นผู้พิพากษาชั้น 2 ชั้น 3 จนถึงลำดับสูงสุด คือตำแหน่งประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรมชั้น 5 ประมุขแห่งข้าราชการฝ่ายตุลาการ

นอกจากตำแหน่งตุลาการตามมาตรา 11 ดังกล่าวแล้ว จึงมีตำแหน่งข้าราชการตุลาการที่เรียกชื่ออย่างอื่นตาม มาตรา 11 วรรคสอง และตำแหน่งผู้พิพากษา อาวุโสตามมาตรา 12 หากผู้ใดสนใจอาวุโส ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม อาจตรวจดูได้ในบัญชีอัตราเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งข้าราชการตุลาการ ท้าย พ.ร.บ.ฉบับข้างต้น ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทุกคนทราบอาวุโสของตนดี

จำได้ว่าเมื่อผู้เขียนเป็นผู้พิพากษาศาลแพ่งและใกล้จะดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลชั้นต้น ท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เดินมาถามผู้เขียนว่า “ท่านสมลักษณ์หากจะให้ท่านเป็นผู้พิพากษาอยู่ในคณะของท่าน…(ชื่อผู้พิพากษาเพื่อนร่วมรุ่นซึ่งโปรดเกล้าฯวันเดียวกับผู้เขียนแต่สอบได้อันดับเหนือกว่า) ท่านจะมีปัญหาหรือไม่ ผู้เขียนตอบยืนยันว่าไม่มีปัญหา เพราะท่านอยู่ในลำดับสูงกว่าผู้เขียน เป็นไปตามหลักการอยู่แล้ว

ท่านอธิบดีศาลแพ่งกล่าวต่อไปว่า “ผมต้องถามท่านเพราะผู้พิพากษาศาลยุติธรรมนั้นเราเคารพอาวุโสกัน ไม่กระทำการใดๆ ข้ามอาวุโส แม้แต่การขึ้นรถยังต้องขึ้นตามอาวุโส”

เรื่องนี้เป็นความจริง อาวุโสจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้พิพากษาทุกคนทราบดี

ลําดับที่จะต้องพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่งต่อไปก็คือความประพฤติส่วนตัว อันดับแรกคือ ความซื่อสัตย์สุจริต คุณสมบัติข้อนี้สำคัญมาก เพราะขาดไปหรือแม้แต่ผู้พิพากษาได้ทำตัวให้เป็นเหตุให้ผู้อื่นระแวงในความซื่อสัตย์สุจริต ก็ไม่อาจดำรงตำแหน่งอยู่ต่อไปได้ ความซื่อสัตย์สุจริตนั้นผู้ที่เป็นผู้พิพากษาจะต้องถูกตรวจสอบตั้งแต่ยื่นใบสมัครเพื่อเข้าสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา เพราะคณะกรรมการตรวจคุณสมบัติ จะต้องตรวจสอบผู้สมัครสอบทั้งในทางตรงและทางลับถึงประวัติของผู้สมัครว่ามีข้อด่างพร้อยในเรื่องนี้บ้างหรือไม่

หากได้พบข้อที่น่าระแวงสงสัย ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ผู้สมัครก็จะไม่ได้รับการประกาศรายชื่อให้เข้าสอบหรือที่ผู้พิพากษาจะกล่าวกันว่า “ตกคุณสมบัติ” และเมื่อเข้ามาเป็นผู้พิพากษาแล้วก็จะต้องมีการตรวจสอบเรื่องนี้ตลอดชีวิตของการเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรม

ผู้บริหารศาลเช่น ประธานศาล อธิบดีผู้พิพากษาศาล จะต้องรายงานเกี่ยวกับความประพฤติ ความรู้ความสามารถในการพิจารณาพิพากษาคดี ของผู้พิพากษาในศาลของตน และในแบบรายงานจะมีข้อเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นอันดับ 1 ทุกปี

นอกจากความซื่อสัตย์สุจริตและความรู้ความสามารถของผู้พิพากษาแล้ว ยังมีความประพฤติส่วนตัวอื่นๆ อีกเช่น การปฏิบัติตนในสังคมต่อผู้ใกล้ชิดต่อครอบครัว

สําหรับท่านศิริชัย วัฒนโยธิน ในมุมมองของผู้เขียนในฐานะที่ท่านเป็นผู้พิพากษาที่อาวุโสน้อยกว่าผู้เขียน และมีโอกาสได้ใกล้ชิดในหน้าที่การงานมาเป็นเวลาพอสมควร ถ้าจะให้ผู้เขียนให้ความเห็นเกี่ยวกับตัวท่านแล้ว ในเรื่องอาวุโส ก็ท่านศิริชัยอยู่ในอันดับ 1 อย่างแน่นอน ในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตต้องถือว่า ปราศจากเหตุที่จะหวาดระแวงในความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งความสามารถในการพิจารณาพิพากษาคดีก็นับว่าเป็นเลิศ (ท่านศิริชัยได้รับปริญญาทางกฎหมายระดับเกียรตินิยม ทั้งยังดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาทำหน้าที่ตรวจคำพิพากษาในศาลมาหลายปี) มีความขยันขันแข็งและรับผิดชอบในหน้าที่นับว่าหาตัวจับยาก

ท่านศิริชัยเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า เมื่อทำหน้าที่อยู่ในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาพอล้างหน้าแปรงฟันเสร็จในตอนเช้ามืดก็นั่งตรวจคำพิพากษา จนกระทั่งเวลาค่ำจึงได้พักผ่อนปฏิบัติเช่นนั้นมาโดยตลอด เป็นเวลาหลายปีโดยไม่เคยคิดท้อถอยหรือเหน็ดเหนื่อย

แต่เมื่อมีอาวุโสถึงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ผู้เขียนได้ทราบจากรายงานข่าวของสำนักงานศาลยุติธรรมว่า ก.ต.มีมติว่าถึงแม้ท่านศิริชัยจะอาวุโสสูงสุด แต่ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา และต่อมาได้ทราบว่าท่านศิริชัยออกมาให้สัมภาษณ์ว่ายอมรับในมติ ก.ต.แสดงว่าท่านน้อมรับมติ ก.ต.เพราะถือว่า ก.ต.เป็นคณะบุคคลที่เป็นหลักพึ่งพิงของผู้พิพากษาทั่วประเทศ และต้องถือว่ามติ ก.ต.ศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้ ก.ต.เป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมตลอดไป และเพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยและความสามัคคีปรองดองในหมู่ผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั้งหลาย และเพื่อป้องกันมิให้เกิดวิกฤตตุลาการ ดังที่เคยเป็นมาอันจะนำความเจ็บปวดมาสู่หัวใจของผู้พิพากษาศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ท่านจึงต้องรับความเจ็บปวดเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว

ด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมาในมุมมองของผู้เขียน ท่านศิริชัยคือ “สุภาพบุรุษแห่งสถาบันศาลยุติธรรมไทย”

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และกรรมการ ป.ป.ช.
อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี
คณะนิคิศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image