ไทยพบพม่า : ครบรอบ 29 ปีการลุกฮือ 8888 พม่าก้าวไปถึงจุดไหน : โดย ลลิตา หาญวงษ์

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ในปี 1988 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งสำคัญขึ้นในพม่า ในเหตุการณ์ที่ชาวพม่าทุกคนเรียกว่า “8888” หรือ “ชิต เล โลง” (เลขแปดสี่ตัว) เมื่อนักศึกษาและประชาชนลุกฮือขึ้นประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพล เน วิน ที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ.1962 (พ.ศ.2505) ในอันที่จริงแล้ว การปะทะกันระหว่างนักศึกษากับกองทัพเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 1988 เริ่มจากการทะเลาะวิวาทของนักศึกษา 2 กลุ่มในร้านน้ำชา กลุ่มหนึ่งเป็นนักศึกษาจาก RIT หรือสถาบันเทคโนโลยีแห่งย่างกุ้ง และอีกกลุ่มเป็นนักศึกษาจากที่อื่น การวิวาทของเด็กหนุ่มธรรมดาๆ จบลงที่สถานีตำรวจ นักศึกษาฝ่ายก่อเหตุได้รับการปล่อยตัวและไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาใดๆ สืบไปสืบมาจึงทราบว่านักศึกษาที่ก่อเหตุคนหนึ่งเป็นบุตรชายของสมาชิก BSPP (Burmese Socialist Programme Party) ซึ่งเป็นพรรคที่รัฐบาลเผด็จการของเน วิน ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารประเทศ ความไม่พอใจ ชาวพม่าโดยทั่วไปไม่พอใจ BSPP และนายพล เน วิน เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง หลังรัฐบาลนำนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาใช้และเลือกที่จะปิดประเทศ ทำให้ในปลายทศวรรษ 1980 พม่ากลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก

นักศึกษาที่รู้สึกว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมหลายร้อยคนออกมาประท้วงหน้าสถานีตำรวจเพื่อเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับคนผิด แต่เหตุการณ์บานปลายจนกลายเป็นการจลาจล ตำรวจยิงนักศึกษาเสียชีวิต 1 คน สร้างความโกรธแค้นให้นักศึกษาและประชาชนที่รับทราบข่าว จากเดิมการประท้วง BSPP จำกัดอยู่เฉพาะในเขตมหาวิทยาลัยทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้ง แต่ได้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ และกลายเป็นการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาทั่วประเทศ ในการชุมนุมครั้งใหญ่กลางเดือนมีนาคม กองทัพและตำรวจปราบจลาจลจัดการกับนักศึกษาอย่างป่าเถื่อน ในเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า “โศกนาฏกรรมที่สะพานขาว” ริมทะเลสาบอินยา ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้งนัก นักศึกษาถูกตำรวจปราบจลาจลต้อนให้มารวมกันและทุบตีอย่างโหดเหี้ยมจนทำให้มีนักศึกษาเสียชีวิตที่สะพานขาวนับร้อยคน

ตลอดเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ความรุนแรงยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ความโกรธแค้น BSPP ลุกลามออกไปทั่วประเทศจน BSPP ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ในเดือนกรกฎาคม นายพล เน วิน ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในรัฐบาลและกองทัพ สถานการณ์ควรจะคลี่คลายหลังการประกาศลาออกของเน วิน แต่นักศึกษากลับยิ่งรู้สึกเสียหน้าเมื่อเน วิน เลือกนายพล เส่ง ลวิน (Sein Lwin) ให้เข้ามารับช่วงต่อในฐานะประธาน BSPP และผู้บริหารสูงสุดของประเทศ เส่ง ลวิน หรือที่รู้จักทั่วไปในชื่อ “นักฆ่าแห่งย่างกุ้ง” และคนที่สั่งการให้ล้อมปราบนักศึกษาที่สะพานขาว

เส่ง ลวิน พยายามใช้ไม้แข็งเพื่อปราบปรามนักศึกษาและยุติการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ยืดเยื้อมาหลายเดือน ในเวลาเดียวกัน นักศึกษาก็ไม่ลดละและมีแผนจะนัดเดินขบวนครั้งใหญ่ในวันที่ 8 เดือน 8 ปี 1988 ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเป็นวันที่ดีและเป็นมงคล กลุ่มผู้นำนักศึกษามีความสำคัญกับการขับเคลื่อนนักศึกษาและมวลชนในการประท้วงช่วงต้นเดือนสิงหาคมมาก

Advertisement

นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ที่นักศึกษาและปัญญาชนสามารถออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างเปิดเผย หลังจากขบวนการนักศึกษาถูกตัดตอนและการรวมกลุ่มกันของนักศึกษาในนามสหภาพนักศึกษา (Student Union) เป็นเรื่องต้องห้าม (อย่างน้อยก็ในมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง)

สถานการณ์เข้มข้นขึ้นในต้นเดือนสิงหาคม เมื่อถึงเวลานัดรวมตัวครั้งใหญ่ในวันที่ 8 แม้รัฐบาลจะประกาศกฎอัยการศึกห้ามมิให้รวมตัวกันมากกว่า 5 คน และประกาศเคอร์ฟิว แต่ก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตำรวจปราบจลาจลและทหารปะทะกับประชาชนอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนสิงหาคม เป็นการปราบปรามนักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยม แสดงให้เห็นความสิ้นหวังของกองทัพภายใต้การนำของเน วิน และรัฐบาลของเส่ง ลวิน

แพทย์ช่วยกันลำเลียงนักศึกษาที่บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลกลางย่างกุ้งเป็นหนึ่งในภาพที่ผู้คนจดจำกันมากที่สุดจากเหตุการณ์ 8888

เหตุการณ์สะเทือนขวัญเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่โรงพยาบาลกลางแห่งย่างกุ้ง เมื่อทหารต้องการตัวผู้นำนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บคนหนึ่ง นำไปสู่การบุกค้น รพ.กลางย่างกุ้ง และการยิงเข้าไปใน รพ. ซึ่งทำให้มีผู้ป่วย แพทย์ และพยาบาลจำนวนหนึ่งเสียชีวิต ความรุนแรงเริ่มบรรเทาลงเมื่อเส่ง ลวิน ประกาศลาออก หลังกุมบังเหียนรัฐบาลอยู่เพียงไม่ถึงเดือน เน วิน แก้เกมโดยการแต่งตั้งพลเรือนอย่างหม่อง หม่อง (Maung Maung) ให้เป็นประธานาธิบดีและควบตำแหน่งประธาน BSPP ด้วย

อาจกล่าวได้ว่าในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ “ประชาธิปไตยเบ่งบาน” ในพม่า และเป็นช่วงที่ผู้นำนักศึกษาหลายคนสร้างชื่อให้กับตัวเอง และจะกลายเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านเผด็จการระดับชาติในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ความตื่นตัวของประชาธิปไตยยังนำไปสู่การจัดตั้งพรรคการเมืองที่สำคัญยิ่งอย่างพรรค NLD โดยอดีตนายทหารในกองทัพ 4 คน ได้แก่ ติน อู, จี หม่อง, อ่อง จี และอ่อง ฉ่วย และพลเรือนอีก 2 คน ได้แก่ วิน ติน และออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นผู้นำพรรค NLD ที่อายุน้อยที่สุด แต่ด้วยความที่เธอเป็นบุตรสาวของนายพล ออง ซาน ทำให้เธอเป็นที่ยอมรับของคนในพรรค NLD ปัญญาชน และนักศึกษาที่กำลังเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่ในขณะนั้น การปราศรัยของเธอต่อหน้าฝูงชนหลายแสนคน ณ พระเจดีย์ชเวดากอง ในวันที่ 26 สิงหาคม 1988 เป็นหมุดหมายใหญ่ของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ที่ต่อจากนี้จะอยู่ภายใต้การนำของพรรค NLD เป็นหลัก

สุนทรพจน์ของซูจี ประกอบเข้ากับความไม่พอใจรัฐบาลที่มีอยู่เดิม ทำให้นักศึกษาจากทั่วประเทศและประชาชนเรือนแสนออกมาร่วมแสดงพลังต่อต้านรัฐบาลเผด็จการมากขึ้น ชาวพม่าเริ่มมีความหวังว่าการแสดงพลังเพื่อต่อสู้กับระบอบเผด็จการในครั้งนั้นจะเป็นพลังบวกนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ในเดือนกันยายน สถานการณ์ยิ่งแย่ลงเมื่อกองทัพยิงเข้าใส่ฝูงชนโดยตรง ภายหลังเน วิน ออกมาเตือนกลุ่มผู้ประท้วงว่าหากกองทัพยิงคือยิงเพื่อฆ่า มิได้ยิงขึ้นฟ้าเพื่อขู่ขวัญแต่อย่างใด ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 1988 มีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงรัฐบาลเน วิน หลายพันคน หรืออาจจะถึง 10,000 คน และมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวอีกหลายพันคน นับเป็นเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดของพม่า

หลังความรุนแรงผ่านพ้นไป เน วิน ยังอยู่เบื้องหลังการเมืองพม่าต่อไป แต่รัฐบาลก็ออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 1990 และจะเปิดโอกาสให้พรรค NLD และพรรคฝ่ายค้านอื่นๆ ร่วมลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่เมื่อการเลือกตั้งมาถึงและพรรค NLD ของซูจีได้รับชัยชนะแบบท่วมท้น รัฐบาลกลับประกาศให้ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และควบคุมตัวซูจี ผู้นำพรรค NLD แกนนำนักศึกษา และแอคทิวิสต์ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกจำนวนมากไว้

อย่างไรก็ดี 8888 เป็นเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นความตื่นกลัวของเผด็จการในพม่า ที่แท้จริงแล้วเกรงพลังของประชาชน เมื่อไม่สามารถจัดการด้วยวิธีละมุนละม่อมได้ จึงจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม แม้ทุกวันนี้พม่าจะปฏิรูปไปในแนวทางประชาธิปไตยมากขึ้น แต่รัฐบาลพลเรือนก็ยังใช้ “ไม้แข็ง” กับผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างทางการเมืองอยู่ สะท้อนให้เห็นความอ่อนแอของผู้นำพม่า ไม่ว่าจะเป็นผู้นำแบบเผด็จการทหาร หรือผู้นำเผด็จการพลเรือนก็ตาม

ลลิตา หาญวงษ์
[email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image