ดุลยภาพดุลยพินิจ : นักธุรกิจใหญ่กับรัฐบาลหลังรปห. : โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่พยายามอธิบายรัฐประหาร 2557 เน้นไปที่บทบาทของทหาร บทบาทของรอยัลลิสต์และข้าราชการ แต่ได้ละเลยบทบาทของธุรกิจขนาดใหญ่ สื่อบางแห่งได้เคยเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจกับ กปปส.ไว้บ้าง รูปธรรมชัดเจนที่แสดงความสำคัญของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งได้ฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินปี 2540 คือ บทบาทของพวกเขาในโครงการประชารัฐที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2558 ซึ่งในการนี้นักธุรกิจระดับนำจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายสาขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมในโครงการ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เป็นเศรษฐกิจรายได้สูง เกิดการกระจายรายได้และความมั่งคั่งทุกภาคส่วนของประเทศอย่างแท้จริง ด้วยโครงการขนาดใหญ่เป็นรูปธรรม ดำเนินการในนามของคณะกรรมการภาครัฐเอกชนประชาสังคมชุดต่างๆ 12 ชุด

แต่ละชุดเป็นการทำงานร่วมระหว่างภาคราชการและภาคเอกชน โดยหัวหน้าทีมคู่เป็นการประกบกันระหว่างเจ้ากระทรวงและซีอีโอกลุ่มบริษัทใหญ่หรือประธานองค์การธุรกิจใหญ่ที่เกี่ยวโยง คณะทำงานขับเคลื่อนประเทศทั้งหมดจะแบ่งกันทำงาน 12 ด้านพร้อมหัวหน้าทีมคู่ คือ

1.ด้านนวัตกรรมและผลิตภาพ : รมว.วิทยาศาสตร์ และนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย

2.วิสาหกิจขนาดกลางย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้น : รมช.พาณิชย์ และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

Advertisement

3.การท่องเที่ยวและการประชุมต่างๆ : รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และนายชนินทธ์ โทณวณิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ดุสิตธานี

4.ส่งออกและการลงทุนในประเทศ : รมว.พาณิชย์ และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์

5.คลัสเตอร์และอุตสาหกรรมในอนาคต : รมว.อุตสาหกรรม และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล

Advertisement

6.เกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรปราชญ์เปรื่อง : รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล

7.สร้างรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายรวม : รมว.คลัง และนายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บจก.กลุ่มเซ็นทรัล

8.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน : รมว.คลัง และนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ

9.ยกระดับคุณภาพวิชาชีพ : รมว.ศึกษาธิการ และนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย

10.ประชารัฐสามัคคีทั่วประเทศเพื่อเศรษฐกิจฐานราก : รมว.มหาดไทย และนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ

11.การปรับแก้กฎหมาย : นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายกานต์ ตระกูลฮุน จาก บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย

12.การศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ : รมว.ศึกษาธิการ และนายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์

คงเร็วเกินไปที่จะประเมินผลงานของประชารัฐ เพราะเพิ่งเริ่มและบางโครงการอาจไม่มีชีวิตที่ยืนยาวบางโครงการที่พอจะมีข้อมูลบ้าง เช่น เกษตรสมัยใหม่อาจจะเปลี่ยนภาคเกษตรและชนบทไทยได้อย่างพลิกผันจากที่เคยเป็นเกษตรรายเล็กรายกลางเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจจะกลายเป็นระบบเกษตรแปลงใหญ่ใช้เครื่องจักรกลเกษตรขนาดใหญ่ทดแทนคนเกือบทั้งหมดในอนาคตก็เป็นได้ ซึ่งขณะนี้กระบวนการดังกล่าวได้เกิดขึ้นแล้วในภาคกลางของไทย ในอนาคตก็จะขยายไปภาคอื่น ถ้าเป็นเช่นนี้ได้เร็ว คนงานที่ถูกเครื่องจักรทดแทนไป จะปลดปล่อยแรงงานเป็นการเพิ่มอุปทานคนงานให้ภาคอุตสาหกรรมได้ แต่มีคำถามว่าพวกเขาจะมีแรงหรือมีทักษะความชำนาญที่อุตสาหกรรมต้องการหรือไม่ ก็คงต้องขึ้นอยู่กับผลงานของคณะทำงาน 1-5, 9-12 ซึ่งยังไม่มีข้อมูลมากพอที่จะประเมินได้ในขณะนี้

ผลพวงของประชารัฐมีมากกว่าโครงการภายใต้คณะทำงาน 12 ชุด เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทย บางทีเรียกว่า Rail Diplomacy ที่จะกระชับความสัมพันธ์ไทย-จีน และมีนัยต่ออนาคตเศรษฐกิจไทยในบริบทของภูมิ-การเมืองที่จีนทวีความสำคัญขึ้นในเศรษฐกิจการเมืองโลก แต่นักวิชาการเตือนว่าโครงการอาจจะไม่คุ้มทุน และได้ผ่านความเห็นชอบของคณะ รมต.แล้ว

อีกหนึ่งคือโครงการหอชมเมืองแลนด์มาร์กริมเจ้าพระยา โดยมูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ที่มีรายงานว่าประกอบไปด้วยกลุ่มธุรกิจ 50 กลุ่มรวมทั้งสถาบันการเงิน โครงการนี้มีงบลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท จะสร้างบนที่ดินประมาณ 4 ไร่ ในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจในความครอบครองของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือเป็นที่หลวงเช่าจากกรมธนารักษ์ โดยไม่มีการเปิดประมูลเพราะอาจทำให้ล่าช้า และถูกวิจารณ์ว่าภาครัฐจะได้รับรายได้เป็นค่าเช่าเพียงปีละ 6.3 ล้านบาทเป็นเวลา 30 ปี ทั้งนี้ เริ่มแรกเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเพราะมีความเด่นที่เป็นหอสูงที่สุดในไทยเป็นแลนด์มาร์ก

แห่งใหม่ของกรุงเทพฯที่มีจุดชมวิวทิวทัศน์รอบโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาและจะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างดียิ่ง และบังเอิญอยู่ติดกับโครงการศูนย์ขายสินค้าและบริการให้แก่นักท่องเที่ยวมีวางแผนไว้แล้วโดยกลุ่มธุรกิจเดียวกันบางราย เมื่อถูกวิจารณ์จึงได้คำอธิบายเพิ่มเติมว่า ชั้นบนสุดจะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรี อีกทั้งเป็นโครงการตามนโยบายรัฐบาลภายใต้กลไก “ประชารัฐ”

ภายใต้รัฐบาล รปห.และประชารัฐ นักธุรกิจระดับยักษ์สามารถทำงานใกล้ชิดกับผู้ที่มีอำนาจการเมืองสูงสุดในประเทศ

ประโยชน์จะอยู่กับใคร เราจะได้เห็นในอนาคต

ผาสุก พงษ์ไพจิตร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image