สุจิตต์ วงษ์เทศ : ระบำสุโขทัยสร้างใหม่ เพลงเทพทองไม่เคยมียุคกรุงสุโขทัย

ระบำสุโขทัย เป็นระบำเพิ่งสร้าง (ในระบำชุดโบราณคดีของกรมศิลปากร) เพลงประกอบแต่งใหม่ ได้ต้นแบบจากทำนองเพลงเทพทอง โดยเข้าใจเองว่าเป็นเพลงยุคสุโขทัย แต่กรมศิลปากรไม่เคยแสดงหลักฐานวิชาการทางประวัติศาสตร์โบราณคดีว่าเพลงเทพทองมีจริงในยุคสุโขทัย เมื่อไม่มีหลักฐานก็ไม่ควรสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนเหมือนเรื่องอื่นๆ

“เพลงเทพทอง มีเก่าแก่ตั้งแต่ยุคกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทย” เป็นข้อความโดยสรุปจากโทรทัศน์รัฐสภาเมื่อไม่นานนี้

แต่หลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีไม่มีอย่างนั้น

1. กรุงสุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย แต่เป็นรัฐเล็กๆ เกิดใหม่รัฐหนึ่งในหลายรัฐร่วมสมัยที่พูดภาษาไทย (ตระกูลไต-ไท) เป็นภาษากลางทางการค้าภายใน

2. เพลงเทพทอง เป็นชื่อเพลงหนึ่งของบรรดาเพลงโต้ตอบแก้กันของหญิง-ชายบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีมากมายหลายเพลงนับไม่ถ้วน และไม่เคยพบหลักฐานตรงๆ ว่าเก่าสุดชื่อเพลงอะไร? ยุคไหน?

Advertisement

ชื่อเก่าของเพลงเหล่านี้น่าจะมีลักษณะบ้านๆ เช่น เพลงฉ่อย, เพลงปรบไก่, เพลงเรือ, เพลงสงฟาง, เพลงชักกระดาน, เพลงอีแซว ฯลฯ

เทพทอง หยาบคายในพิธีกรรม

เพลงเทพทองเป็นชื่อในวัฒนธรรมเมืองใหญ่ เช่น อยุธยา เพราะมีคำบาลี-สันสกฤต คือ เทพ

ทอง เป็นคำในตระกูลมอญ-เขมร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า gold มีใช้ในชื่อเพลงราชสำนักอยุธยาว่า พระทอง เขมรเรียก พระโถง (บางคนบอกว่าไทยเรียกกลายคำเป็น ปะตง เช่น เพลงปะตงโอด เพลงปะตงพัน)

Advertisement

เหตุที่มีชื่อเทพทองในบุณโณวาทคำฉันท์ (แต่งยุคปลายอยุธยา) ว่า “เทพทองคะนองเฮ….” น่าจะมาจากเป็นเพลงหยาบคายมากสุด อันเป็นสิ่งตกทอดจากยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว เพื่อความเจริญในเผ่าพันธุ์ และความอุดมสมบูรณ์ในพืชพันธุ์ธัญญาหาร

จึงเป็นที่รู้จักและนิยมแพร่หลายมีเล่นทั่วไป เล่นที่ไหนก็เรียกเพลงที่นั่นตามภาษาปากชาวบ้าน เช่น เล่นเทพทองที่เมืองสุโขทัย ก็เรียกเพลงสุโขทัย (เอกสารสมัย ร.4-5 เรียก “โสกกะไท”)

นักค้นคว้าสมัยหลังเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าเป็นเพลงยุคกรุงสุโขทัย แล้วปนกับประวัติศาสตร์ไทยแบบอาณานิคมว่าสุโขทัยราชธานีแห่งแรกของไทย เลยหลงทางเข้ารกเข้าพงไปกันไกล ประกอบกับประวัติศาสตร์ปกปิดบิดเบือนไปกันใหญ่

เพลงชาวบ้าน (ปัจจุบันเรียกเพลงพื้นบ้าน) เป็นวัฒนธรรมร่วมของคนพูดตระกูลไต-ไท มีกำเนิดจากคำคล้องจองในพิธีทำขวัญไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

กำหนดยุคสมัยไม่ได้อย่างตายตัว ทำได้แค่เทียบเคียงเพื่อทำความเข้าใจว่าเพลงนั้นๆ แพร่หลายอยู่บริเวณไหน? ลุ่มน้ำอะไร? กลุ่มชนเรียกตัวเองว่ายังไง? เคลื่อนย้ายเข้ามาใหม่ หรือตั้งรกรากมาแต่เดิม? ฯลฯ เช่น

เพลงโคราช ตระกูลเดียวกับเพลงฉ่อย (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) แพร่กระจายจากภาคกลางขึ้นยุคต้นอยุธยา ราว พ.ศ. 2000 เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image