ทับซ้อน โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

แฟ้มภาพ

การตรวจสอบกลั่นกรองผู้จะมาดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.ชุดใหม่ กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณาของ สนช. ซึ่งแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือต้องผ่านคณะกรรมการตรวจคุณสมบัติ ที่มี พล.อ.อู้ด เบื้องบน เป็นประธาน ก่อนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ของ สนช.เพื่อมีมติ

ในระยะวันสองวันนี้ คณะกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติกรรมการ คตง. ของ สนช. กำลังประชุมพิจารณากันอยู่พอดี

จึงเป็นเหตุให้มีข่าวร้อนๆ ออกมาจาก สนช. โดยมีการถกเถียงข้อมูลเรื่องคุณสมบัติในบางรายกันอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ผู้อยู่ในข่ายจะได้เป็น คตง.นั้นมี 7 ราย แต่ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงในหมู่สมาชิก สนช.เป็นอย่างมากคือ นายสรรเสริญ พลเจียก ในฐานะที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

Advertisement

เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่แล้ว หรือชุดที่ นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธาน มีนายสรรเสริญเป็นเลขาธิการนั้น

มีเรื่องถูกร้องเรียนกล่าวหา และกำลังอยู่ในการพิจารณาของ คตง.อยู่ไม่ต่ำกว่า 2 คดี

ทำให้สมาชิก สนช.หลายรายเกิดข้อกังขาว่า ถ้า คตง.กำลังสอบสวนเรื่องกล่าวหา ป.ป.ช.ค้างคาอยู่ แล้วคนของ ป.ป.ช.ในชุดนั้นจะเข้ามาเป็นกรรมการ คตง.

มันก็ชอบกลอยู่

สำหรับคดีร้องเรียนกล่าวหาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดก่อนหน้านี้ ได้แก่ การว่าจ้างสภาทนายความให้เป็นผู้ดำเนินคดีฟ้องร้องให้กับ ป.ป.ช. ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยข้อร้องเรียนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวน คตง.ยืดเยื้อเกือบ 2 ปีแล้ว

จากการศึกษาข้อมูลของสมาชิก สนช.พบว่า มีเอกสารหลักฐานบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช.กับสภาทนายความ ในการตกลงตั้งทนายความเพื่อฟ้องร้องคดีให้ ป.ป.ช. รวม 12 คดี

1.คดีสลายการชุมนุม มีจำนวนเงินรางวัลที่ได้รับอนุมัติ 1 ล้านบาท 2.คดีสมุดโทรศัพท์ วงเงินที่ได้รับอนุมัติ 5 แสนบาท 3.คดีนายรังสรรค์ แสงสุข วงเงินรางวัลที่อนุมัติ 5 แสนบาท 4.คดีนายมานิตย์ สุธาพร วงเงินรางวัลอนุมัติ 1 ล้านบาท 5.คดีเขาพระวิหาร วงเงินรางวัลอนุมัติ 1 ล้านบาท 6.คดี ธ.อ.ส. วงเงินรางวัลอนุมัติ 1 ล้านบาท

7.คดีสถานีไฟฟ้ากาญจนดิษฐ์ วงเงินอนุมัติ 5 แสนบาท 8.คดีรถดับเพลิง วงเงินอนุมัติ 4 ล้านบาท 9.คดีสนามกอล์ฟอัลไพน์ วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท 10.คดีหวยบนดิน วงเงินอนุมัติ 4 ล้านบาท 11.คดีเอ็กซิมแบงก์ วงเงินอนุมัติ 1 ล้านบาท 12.คดีกล้ายาง วงเงินอนุมัติ 4 ล้านบาท ซึ่งคดีส่วนใหญ่จ่ายเงินรางวัลไปแล้ว

ปัญหาที่ถูกร้องเรียน เพราะข้อตกลงของ ป.ป.ช.ฉบับนี้ ขัดกับ พ.ร.บ.สภาทนายความ รวมทั้งส่อว่าเป็นปัญหาการใช้เงินงบประมาณแผ่นดินของ ป.ป.ช.

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ซึ่งมีเงินรางวัลที่จ่ายให้ทนายความขอแรงที่ศาลแต่งตั้ง ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต อัตราขั้นสูงเรื่องละ 5 หมื่นบาท คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป อัตราขั้นสูงเรื่องละ 4 หมื่นบาท

ส่วนระเบียบของ ป.ป.ช.เอง ได้กำหนดหลักเกณฑ์จ่ายให้เจ้าพนักงานคดี ซึ่งเป็นพนักงานของ ป.ป.ช.เองว่า ศาลชั้นต้น ไม่เกินอัตราคดีละ 3 หมื่นบาท ศาลอุทธรณ์ ไม่เกินคดีละ 2 หมื่นบาท ศาลฎีกาไม่เกินคดีละ 2 หมื่นบาท คดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เกินคดีละ 5 หมื่นบาท

วงเงินต่างกันลิบลับ

อีกคดีที่ร้องเรียน ป.ป.ช.และค้างอยู่ในการพิจารณาของ คตง. คือกรณีที่มีผู้กล่าวหาว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดก่อนหน้านี้ รับเงินเดือน โดยยังไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ

2 เรื่องนี้ จึงกลายเป็นข้อถกเถียงอื้ออึงใน สนช. ว่าถ้าหากอดีตเลขาธิการ ป.ป.ช. เข้ามาเป็น คตง.

เข้าข่ายทับซ้อนหรือไม่!?

………………..

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image