มรดก’สปท.’ โดย จำลอง ดอกปิก

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รูดม่าน ปิดฉากสิ้นสุดวาระ การทำหน้าที่

ส่งรายงานสั่งลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 188 เรื่อง

นักวิชาการมอง ไม่มีผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน มีแต่เอกสารผลการศึกษา ตัดแปะ แต่ละเรื่องเต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์

รัฐบาลรับไปดำเนินการผลักดันต่อ นับชิ้นได้

Advertisement

แต่ก็มีอาจารย์บางสาย มองแบบเข้าใจ-เห็นใจ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ว่าที่จริง ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ เทียบเท่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

มีหน้าที่แค่ให้คำปรึกษาทางวิชาการแก่รัฐบาลเท่านั้น

คำปรึกษาที่จะเอาไปใช้ตรงๆ ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ หรือแค่รับฟัง รับมาแล้วเก็บเข้าลิ้นชักก็ได้

ที่จริงจะมองว่า สปท.ไม่มีผลงาน คงพูดได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก

รายงานผลการศึกษา ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ นั่นแหละ ผลงาน สปท.

แต่ที่เป็นข้อกังขาก็คือ เนื้อหารายงานผลการศึกษามากกว่า

สารัตถะ มุ่งปูทางวางพื้นฐานการปฏิรูป เปลี่ยนแปลงประเทศในลักษณะก้าวหน้า มีหมุดหมาย ปลายทางสุดท้ายอยู่ที่ประชาชน หรือมุ่งรับใช้ เป็นเครื่องมือทางการเมือง สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหาร

มองจากที่มา การเป็นหนึ่งในแม่น้ำ 5 สาย นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง

รายงานที่ สปท.เสนอ อย่างการเสนอให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ เสนอกฎหมายว่าด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ

ผลงานที่ยกตัวอย่าง มุ่งสนองวาระ ความต้องการของผู้มีอำนาจเป็นหลัก ซึ่งก็ไม่แปลก

เพราะการแต่งตั้งแม่น้ำแต่ละสาย

หัวหน้า คสช.ก็ย่อมต้องเลือกเฟ้น เน้นตั้ง คนที่มีความคิด ความเชื่อทางการเมืองเหมือนกัน มานั่งทำงาน

ผลงานจึงออกมา อย่างที่เห็น และอาจไม่สอดคล้อง ตรงกันกับความเข้าใจของสังคมทั่วไป ที่มอง “ปฏิรูป” เป็นเรื่องใหญ่

เป็นการเปลี่ยนแปลง ยกเครื่องขนานใหญ่ ที่มิใช่ริเริ่ม ก่อเกิดจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว

แต่เป็นความเห็นพ้องต้องกันร่วมของคนทั้งประเทศ หรือพลเมืองส่วนใหญ่ ที่ต้องใช้ระยะเวลา เนื่องจากต้องเปิดกว้างรับฟัง ความคิดเห็น ฟังเสียงทุกฝ่าย-ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการยอมรับ

แต่กระบวนการที่ทำอยู่และสิ้นสุดไป ตรงกันข้าม

เป็นการปฏิรูปที่ปฏิเสธ ไม่ยอมรับกระบวนการประชาธิปไตย

การปฏิรูปที่ไม่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมีปัญหา ขัดแย้งในตัวเองอยู่มาก ยิ่งต้องการปฏิรูปโดยมีเป้าหมาย ต้องการปักธงเพื่อสร้างความปรองดอง สามัคคีของคนในชาติ ก็ยิ่งห่างไกล ถอยหลังสุดกู่ 

ข้อถกเถียง สปท.มีผลงานที่จับต้องได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ที่นักวิชาการบางท่านตั้งหัวข้อคำถาม ความจริงไม่จำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาถกเถียงให้เสียเวลาด้วยซ้ำ

การเริ่มต้นปฏิรูป โดยไม่ยึดโยง ให้ความสำคัญกับประชาชน

มรดกตกทอดสุดท้าย จะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่หรือไม่ มีคำตอบในตัวชัดเจนแต่ต้น

………….

จำลอง ดอกปิก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image