ประเทศไทยเรานี้มีความพยายามหลายครั้งหลายหนที่จะปฏิรูปการศึกษา แต่ความพยายามนั้นๆ กลับปฏิรูปได้เพียงโครงสร้างระบบการบริหารจัดการของหน่วยงานทางการศึกษา ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษากลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรแต่ละครั้ง หากแต่ไม่ได้เป็นประเด็นหลักสำคัญที่ทุกคนให้ความสนใจและทุ่มเทกำลังแรงกายแรงสมองอย่างจริงจัง
การศึกษาให้ลึกถึงแก่นของปัญหาคุณภาพการศึกษาที่นับวันยิ่งจะย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ นั้นไม่ได้ถูกให้ความสำคัญหรือให้เวลามากนัก จะเห็นได้จากการสั่งการนโยบาย ปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ส่งผลตรงต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ชาติไทยได้อย่างรวดเร็วโดยมิได้มีข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ในการสนับสนุนการตัดสินใจสำคัญๆ แต่ละครั้งเลย
การสั่งการนโยบายจากบนลงล่างที่กลับไปกลับมา จึงอาจจะเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยก็เป็นได้ รัฐมนตรีที่เข้ามาดูแลเชิงนโยบายมีช่วงเวลาบริหารเฉลี่ยคนละ 6 เดือน 16 วัน
ไม่เพียงการสั่งการบนลงล่างที่หาได้มีข้อค้นพบจากงานวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับเท่านั้น การบริหารจัดการผ่านโครงสร้างเทอะทะ ส่งต่อคำสั่งผ่านช่องทางอำนาจแต่ละชั้นจนไปถึงหน่วยปฏิบัติการอย่างโรงเรียน ดูจะเป็นอีกหนึ่งปัญหา เนื่องจากการสั่งการและส่งตรงคำสั่งต่างๆ ลงมานั้น ไม่ได้รับการถ่ายทอดคำสั่งพร้อมการตีความและการทำความเข้าใจอย่างถูกต้องมาตั้งแต่ต้นทาง ถึงแม้ว่านโยบายสั่งการมีเจตนาดีต่อวงการศึกษามากเพียงใด ก็ไม่สามารถเปิดโอกาสให้การดำเนินการตามนโยบายนั้นๆ สำเร็จลุล่วงไปได้โดยสมบูรณ์ สอบตกตรงที่ “แผนเป๊ะ ปฏิบัติแป้ก” ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งไป
หน่วยปฏิบัติงานทางการศึกษาอย่างโรงเรียนจึงเป็นหน่วยที่รับเละเสียทุกที ความเข้าใจตรงกันและความต่อเนื่องเชิงนโยบายสอบตกตลอดมา
ในทางกฎหมายโรงเรียนนิติบุคคลมีการกล่าวถึงในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545 มาตรา 39 ว่าด้วยเรื่องการกระจายอำนาจของกระทรวงศึกษาในด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคล ตลอดจนการบริหารงานทั่วไปให้กับคณะกรรมการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรง
“ในความเป็นจริงแล้วเป็นการกระจายอำนาจเพียงวาทกรรมเท่านั้น โรงเรียนไม่สามารถแม้แต่จะเลือกรับครูที่จบตรงสาขามาสอนให้กับเด็กในโรงเรียนได้เลย”
คำกล่าวหนึ่งของนายโกวิท บุญเฉลียว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคูเมือง (อ่อนอนุเคราะห์) อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่ทำให้แม้แต่ผู้เขียนเองยังรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ การกระจายอำนาจที่ว่าไว้ในกฎหมายดูเหมือนจะอุดตันอยู่ระหว่างทางมาถึงโรงเรียนที่เป็นส่วนสุดท้ายของสายการสั่งการ แต่กลับเป็นที่ที่เข้าใจประเด็นปัญหาด้านคุณภาพการศึกษามากที่สุด
ไม่เพียงโรงเรียนบ้านคูเมืองเท่านั้นที่ประสบกับปัญหาคุณภาพการเรียนของนักเรียนตกต่ำลงไปเรื่อยๆ ทั้งด้านการเรียนรู้ พฤติกรรม และคุณธรรม โรงเรียนเครือข่ายร่วมอุดมการณ์ อาทิ โรงเรียนบ้านนาจาน โดย ผอ.ปัญญา กาละปัตย์ โรงเรียนบ้านหนองหวาย โดย ผอ.บพิตร บุญเฉลียว โรงเรียนบ้านผึ้ง (มธุลีย์ประชาสรรค์) โดย ผอ.ธีระวัฒน์ ทองใส และโรงเรียนบ้านดอนยู โดย ผอ.พินิจ บุดดาลี ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเฉพาะที่เกิดขึ้นในโรงเรียน
ผู้อำนวยการแต่ละโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ทั้งเรื่องรูปแบบการจัดการปัญหาคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน การใช้ทรัพยากรเท่าที่มีร่วมกัน การเปิดโอกาสและการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตลูกหลาน เพราะการแก้ปัญหาเรื่องการเรียนรู้ของเด็กจะรอการสั่งการหรือการสนับสนุนเยียวยาจากรัฐไม่ได้ ไม่ทันการณ์และอาจแก้ไม่ตรงจุดที่เป็นปัญหาจริงๆ
ความกล้าหาญในการรวมกลุ่มกันของโรงเรียนจึงเป็นการสานพลังกลุ่มเพื่อปลดแอกโรงเรียนออกจากข้อจำกัดภายใต้การทำงานในระบบบริหารส่วนกลาง เป็นโรงเรียนนิติบุคคลที่สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาทางการเรียนรู้ได้โดยตรง นับเป็นความกล้าหาญทางวิชาการของกลุ่มผู้บริหารในระบบราชการที่น่ายกย่องยิ่ง
นวัตกรรมหนึ่งที่ ผอ.โกวิท และ ผอ.โรงเรียนเครือข่ายได้นำไปใช้ คือการจัดกลุ่มนักเรียนตามความสามารถในการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับศักยภาพที่มี
หากมองเพียงเรื่องการจัดกลุ่มเด็กและสอน หลายคนอาจไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหม่ ไม่ใช่นวัตกรรม แต่การแบ่งกลุ่มนักเรียนนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการค้นหาความสามารถที่แฝงอยู่ในตัวผู้เรียนและสามารถแบ่งได้เป็นกลุ่มถนัดวิชาการ กลุ่มถนัดการแสดงออก และกลุ่มถนัดงานช่าง ซึ่งการแบ่งกลุ่มดังกล่าวต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการศึกษา
โรงเรียนจัดสรรเรื่องตารางเวลาเรียน ออกแบบรายวิชาและกิจกรรม การบูรณาการศาสตร์วิชาการเข้าการศาสตร์อาชีพ “นักเรียนของโรงเรียนบ้านคูเมืองมีปัญหาหลากหลายทั้งโดดเรียน ขโมยเครื่องอะไหล่ยนต์ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง บางครั้งก็ต้องไปประกันตัวลูกๆ นักเรียนออกมาบ้าง แต่ถ้าเราลองศึกษาทำความเข้าใจเด็กลงไปลึกๆ แล้วจะรู้ว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีต้นทุนทางครอบครัวอย่างคนอื่นเขา แล้วเรายังจะผลักเขาอีกหรือ ถ้าไม่ถนัดเรียน เรายังช่วยส่งเสริมและพัฒนาเขาในทางที่เขาถนัดได้” ผอ.โกวิท ใช้แนวคิดการพัฒนาการเรียนรู้บนฐานชีวิต เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองได้ จึงเกิดการจัดการเรียนรู้บนฐานชีวิตขึ้น โดยบูรณาการความรู้วิชาการคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เข้ากับความรู้ศาสตร์อาชีพ เช่น การซ่อมเครื่องยนต์ การก่อสร้าง และการเกษตร
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มที่ถนัดงานช่าง ถึงแม้นักเรียนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีคะแนนที่สูงจากการวัดด้วยแบบทดสอบมาตรฐานชาติ เครื่องมือเดียววัดและประเมินเด็กทั่วราชอาณาจักร แต่สิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้ระหว่างทางคือการคำนวณปริมาณปูน น้ำ ทราย จำนวนก้อนอิฐระหว่างการก่อสร้างห้องหนังสือ การผสมอัตราส่วนดิน ปุ๋ยคอก การพัฒนาพันธุ์มะนาวไร้เม็ด เป็นต้น
จากความพยายามเปิดโอกาสในการเรียนรู้ของนักเรียน ทำให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ นักเรียนมองเห็นศักยภาพที่แฝงอยู่ในตัวเอง เห็นคุณค่าของการเรียนรู้และอยากพัฒนาตนเอง ดังนั้นการแยกกลุ่มการเรียนนี้เป็นไปเพื่อการยุบรวม การสร้างคุณค่าของการเป็นมนุษย์และการเรียนรู้อย่างมีความสุข พ่อแม่ผู้ปกครองรวมถึงชุมชนก็มีส่วนในการพัฒนาศักยภาพลูกหลานของตนเอง โดยการเป็นครูภูมิปัญญา ส่งต่อความรู้และฝึกทักษะอาชีพให้คงอยู่ต่อไป
การเปลี่ยนแปลงทางบวกทั้งด้านสติปัญญา พฤติกรรม และคุณธรรมไม่ใช่เพียงความภาคภูมิใจของตัวเด็กเองเท่านั้น แต่เป็นทั้งความภูมิใจของครู โรงเรียนและชุมชน “การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริง คือการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลเป็นที่ตั้ง” แล้วผู้ใหญ่ในวงปฏิรูประบบการศึกษาของไทยตอนนี้ ได้ตั้งคำถามอย่างจริงจังต่อการยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยแล้วหรือยัง
การปฏิรูปการศึกษาต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ ล่างสู่บน ปลดปล่อยโรงเรียนให้เป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจในการบริหารจัดการบุคคล บรรจุแต่งตั้ง การพิจารณาความดีความชอบ งานวิชาการ หลักสูตรภูมิสังคม แผนการสอน กลุ่มประสบการณ์ การฝึกอบรม การนิเทศภายใน ผลสัมฤทธิ์ทักษะสมรรถภาพของผู้เรียน การบริหารงบประมาณ ค่าใช้จ่ายที่ตรงกับปัญหา สภาพข้อเท็จจริงที่มีอยู่ การสร้างเครือข่ายระบบโรงเรียนให้ชุมชนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในโรงเรียนมากขึ้น ภายใต้แนวคิด “คืนโรงเรียนให้ชุมชน คืนครูสู่ห้องเรียน และคืนครูให้นักเรียน”
การออกกฎหมายโรงเรียนนิติบุคคลในระบบให้เป็นทางเลือกที่สร้างสรรค์จากระบบโรงเรียนที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับแนวคิดจังหวัดจัดการศึกษาเพื่อตนเอง (กศจ.) ให้มีความอิสระในการบริหารงานให้สอดคล้องกับสังคมบริบทในแต่ละพื้นที่ ทบทวนใหม่ รื้อลดการเพิ่มองค์กรภูมิภาคที่ขัดแย้งทับซ้อนเชิงอำนาจ จะเป็นปัญหาแก้ไขยากในระยะยาว ดังเช่น เขตพื้นที่การศึกษา 268 เขต ศึกษาธิการจังหวัด 76 จังหวัด ศึกษาธิการภาค 18 แห่ง เป็นต้น
สุดท้ายปรับขนาดส่วนกลางให้เล็กลงเหลือเพียงงานในเชิงนโยบาย กำกับติดตาม การสนับสนุนส่งเสริม และการตรวจสอบเชิงคุณภาพเท่านั้น นี่คือการกบฏสร้างสรรค์ทางการศึกษาอย่างแท้จริง
สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน
นวพร สุนันท์ลิกานนท์
คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย