สุจิตต์ วงษ์เทศ : ภูปลายบัด และปริมณฑล อยู่ในรัฐพุทธ มหายาน เก่าสุด ลุ่มน้ำมูล

พระอวโลกิเตศวรสำริด จัดแสดงในห้อง Southeast Asian Art ที่The Metropolitan Museum นิวยอร์ก โดยระบุว่ามีการขุดพบที่ปราสาทเขาปลายบัด จ. บุรีรัมย์ (ภาพถ่ายโดย ดร. รังสิมา กุลพัฒน์)

พระโพธิสัตว์สำริด (และประติมากรรมสำริดอีกจำนวนหนึ่ง) มีอายุราว พ.ศ. 1300 พบที่ปราสาทปลายบัด บนภูปลายบัด อ. ประโคนชัย จ. บุรีรัมย์
เหตุมาจากดินแดนแถบนั้น นับเป็นเขตตอนต้นแม่น้ำมูล ซึ่งนับถือพุทธศาสนามหายาน เริ่มตั้งแต่ลำตะคอง (นครราชาสีมา) ถึงลำปลายมาศ (บุรีรัมย์) รวมพื้นที่แถบพนม ดงรัก ได้แก่ ภูพนมรุ้ง, ภูอังคาร, ภูปลายบัด ล้วนนับถือพุทธแบบผสมผสานระหว่างมหายานกับเถรวาท (หีนยาน) ในวัฒนธรรมทวารวดี แบบเดียวกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง

ต่อไปข้างหน้า ราวหลัง พ.ศ. 1500 บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูลจะมีศูนย์กลางสำคัญ นับถือมหายานอยู่ที่เมืองพิมาย เป็นต้นแบบให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างปราสาทบายน ในนครธม
อีสานยุคดั้งเดิม ไม่ได้มีการเมืองการปกครองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นอาณาจักรเดียวกัน แต่มีลักษณะเป็นรัฐเอกเทศหลายรัฐที่เกี่ยวดองเป็นเครือญาติ ซึ่งวิชาการสมัยใหม่เรียก มัณฑละ ดังนี้

1. บริเวณตอนต้นแม่น้ำมูล มีมัณฑละศรีจนาศะ ตั้งแต่นครราชสีมาถึงบุรีรัมย์ นับถือพุทธมหายาน
2. บริเวณตอนปลายแม่น้ำมูล หรือจุดรวมโขง-ชี-มูล มีรัฐเจนละ ตั้งแต่อุบลราชธานีและปริมณฑล ได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ยโสธร ฯลฯ
3. บริเวณลุ่มน้ำชี ตั้งแต่ชัยภูมิ, ขอนแก่น, กาฬสินธุ์ ฯลฯ นับถือพุทธเถรวาท
4. บริเวณสองฝั่งโขงอีสานเหนือ มีรัฐศรีโคตรบูร มีเวียงจันเป็นศูนย์กลาง นับถือพุทธเถรวาท

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image