มองร่องรอยพระพุทธศาสนา ยุคทวารวดี โดย : ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ยืมจัดแสดง Object temporarily on loan by Kyushu National Museum, JAPAN

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เขียนกับพี่น้องได้ไปทำบุญที่วัดมหาธาตุวรวิหาร ราชบุรี และได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ตามคำแนะนำของน้องทุกคน

ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เราสามารถได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการขุดพบจำนวนมากจากเมืองโบราณคูบัว และมีพระบรมสารีริกธาตุให้ประชาชนได้สักการะ ทำให้มีความรู้สึกที่ดี

หลักฐานทางโบราณคดีดังกล่าวบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่เผยแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้

นักประวัติศาสตร์ไทยรุ่นแรกๆ สันนิษฐานว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาที่นี่ก่อน จากนั้นจึงเผยแผ่ต่อไปยังกาญจนบุรี นครปฐม และอู่ทอง

Advertisement

และเป็นการสืบทอดมาจากคณะของพระโสณเถระและพระอุตตรเถระในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ตามคัมภีร์ของลังกา ประวัติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 3

ถือกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสมณวงศ์ในดินแดนสุวรรณภูมิ

อย่างไรก็ตาม อาจารย์พร้อม สุทัศน์ ณ อยุธยา เคยตั้งข้อสันนิษฐานไว้น่าฟังว่าก่อนที่คณะของพระโสณเถระและพระอุตตรเถระจะเดินทางเข้ามาสุวรรณภูมิ พระพุทธศาสนาน่าจะเป็นที่นับถืออยู่ก่อนแล้วในดินแดนดังกล่าว

Advertisement

ถ้ามีการส่งพระศาสนทูต พระเจ้าอโศกมหาราชก็คงทรงเลือกดินแดนที่มีพุทธศาสนิกชนอยู่จำนวนไม่น้อย

ในช่วงระยะเวลามากกว่า 2 ศตวรรษ นับจากสมัยที่พระพุทธองค์ทรงเผยแผ่พระพุทธธรรม การติดต่อค้าขายระหว่างแคว้นมคธและดินแดนแถบนี้ก็คงมีแล้ว

ทางมอญและพม่าก็มีตำนานที่เชื่อมโยงกับเจดีย์ชเวดากอง เป็นต้นว่าพ่อค้าสองพี่น้องที่ถวายข้าวตูแด่พระพุทธองค์หลังบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณซึ่งถือว่าเป็นอุบาสกคู่แรกในพระพุทธศาสนานั้นก็เป็นผู้ที่อาศัยอยู่แถบปากน้ำอิรวดีหรือย่างกุ้งในปัจจุบัน

ตามตำนานนี้ถือว่าพระพุทธศาสนาได้เข้ามาที่ปากน้ำอิรวดีตั้งแต่ปฐมโพธิกาลแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็คงไม่ยากที่จะขยายมายังแถบภาคตะวันตกและภาคกลางของประเทศไทย

จากหลักฐานทางโบราณคดี บ่งบอกการเข้ามาของพระพุทธศาสนาได้ถึงพุทธศตวรรษที่ 7 ซึ่งเป็นช่วงก่อนยุคทวารวดี โดยหลักฐานจำนวนมากเกิดขึ้นในยุคทวารวดี หรือราวพุทธศตวรรษที่ 11-16

นักโบราณคดีจำนวนหนึ่งจึงไม่เชื่อเรื่องคณะของพระโสณเถระตามคัมภีร์ของลังกาและเห็นว่าพระพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนสมัยทวารวดีนี้เอง

หลักฐานสมัยทวารวดีและก่อนหน้านั้นมักมีรูปเสมาธรรมจักรและจารึกคาถาพระอัสสชิ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอักษรปัลลวะซึ่งเป็นอักษรอินเดียฝ่ายใต้ ที่เป็นภาษาสันสกฤตและอักษรอินเดียฝ่ายเหนือก็มีแต่อาจไม่เก่าเท่า

คาถาพระอัสสชิ หรือคาถาเย ธัมมาฯ เป็นคาถาที่พระอัสสชิอธิบายธรรมโดยย่อแก่พระสารีบุตรซึ่งได้รับการยกย่องในทางปัญญา พุทธพิมพ์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็มีจารึกคาถานี้

ในแง่เศรษฐกิจ แว่นแคว้นแถบนี้รวมถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นดินแดนที่เจริญมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการใช้เงินตราที่เป็นเหรียญดีบุกเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแล้ว

จึงเป็นพื้นที่ที่มีประชากรค่อนข้างหนาแน่น มีอาชีพค้าขายและเกษตรกรรม

นักประวัติศาสตร์อย่าง ดร.ธิดา สาระยา ก็เคยตั้งข้อสังเกตว่าชนชั้นในสังคมทวารวดีมีความกลมกลืนกันมาก

ปัจจัยเหล่านี้อาจเอื้อต่อความนิยมในพระพุทธศาสนาที่มิใช่ลัทธิจิตนิยมสุดโต่ง

พระพุทธศาสนาในยุคทวารวดีมีความเจริญงอกงามอย่างยิ่ง หลักฐานทางโบราณคดี สถาปัตยกรรม และจารึกต่างๆ มีเป็นจำนวนมากทั้งแถบลุ่มน้ำท่าจีนและลุ่มน้ำเจ้าพระยา

พุทธพิมพ์ต่างๆ ก็บ่งบอกเช่นนั้นทั้งในแง่จำนวนที่ขุดค้นพบและพุทธศิลปที่มีลักษณะเฉพาะของยุคทวารวดีเอง

นักโบราณคดีชี้มานานแล้วว่าพุทธศิลปะยุคทวารวดีได้รับอิทธิพลจากศิลปะอมราวดี (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 7-10) และศิลปะคุปตะ (ช่วงพุทธศตวรรษที่ 10-11) ซึ่งเป็นศิลปะอินเดียตอนใต้

โดยให้ข้อสังเกตด้วยว่าพระพุทธพิมพ์ในอิริยาบถนั่งของศิลปะทวารวดีที่มีท่าขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะอมราวดี

นี่เป็นความรู้ที่ผู้เขียนได้รับหลังจากที่ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานที่ราชบุรี และเกิดความสนใจขึ้นมาตามน้องๆ ที่มีความรู้มากกว่า

ความจริงแล้ว พระพุทธพิมพ์ที่นั่นสามารถบอกความรุ่งเรืองและความแพร่หลายของพระพุทธศาสนายุคทวารวดีมากกว่านี้อีก

ท่าประทับอิริยาบถนั่งให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการหนึ่ง โดยเฉพาะท่านั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมมาก ซึ่งพระพุทธพิมพ์องค์หนึ่งมีท่านั่งเช่นนั้น แต่เป็นแบบปางสมาธิ มิใช่ปางประทานอภัยเหมือนที่เห็นในตัวอย่างพระพุทธรูปอินเดียศิลปะอมราวดี

พระพุทธพิมพ์ชิ้นนี้เป็นโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ หมายเลข 235/2533 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14

ผู้เขียนมิได้เห็นองค์จริง เห็นเพียงภาพถ่าย เนื่องจากในขณะนั้นองค์จริงได้ถูกขอนำไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น แต่พระพุทธพิมพ์องค์นี้ก็ได้มีการตีพิมพ์ในหนังสือจำนวนมาก

ในพระพิมพ์ เราจะเห็นพระพุทธรูปประทับในท่าคล้ายเจริญสมาธิ มีสถูปอยู่ด้านขวา มีเสาธรรมจักรอยู่ด้านซ้าย และมีฉัตรคล้ายร่มหรือกลดอยู่ด้านบน นพ.ธงชัย พงศ์มฆพัฒน์ น้องชายของผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าเสาธรรมจักรนั้นน่าจะเป็นเสาอโศกที่มีข้างบนเป็นสิงห์ทูนธรรมจักร

พระพุทธรูปปางสมาธิสมัยทวารวดีที่มีท่านั่งขัดสมาธิราบและดูคล้ายหลวมเล็กน้อย มีให้เห็นอีกองค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปหินทรายที่ขุดพบที่เมืองมโหสถ ปราจีนบุรี เห็นว่าอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ออกไปทางสมาธิราบแบบกระชับมากกว่า ซึ่งไม่เหมือนกันกับองค์ที่ขุดพบที่คูบัวนี้

เมื่อกล่าวถึงพระพุทธพิมพ์และพระพุทธรูปที่มีท่าประทับนั่งจะมีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ (1) ท่าขัดสมาธิเพชรซึ่งเป็นท่าที่ขัดสมาธิกระชับแน่นจริงจังและสมดุลเต็มที่ (2) ท่าขัดสมาธิราบที่พระเพลาและพระบาทข้างขวาทับพระเพลาและพระบาทข้างซ้าย และ (3) ท่าห้อยพระบาทที่ขาข้างหนึ่งหรือทั้งสองพระบาทเหยียบพื้น

ท่าขัดสมาธิราบเป็นท่าขัดสมาธิที่เราเห็นกันได้ทั่วไปในพระพุทธรูปจำนวนมากและนักโบราณคดีเห็นว่าเป็นศิลปะฝ่ายอินเดียใต้ที่น่าจะมีต้นตอมาจากศรีลังกา

ท่าสมาธิราบทั่วไปนี้บางทีเรียกให้ชัดว่าท่าสมาธิราบแบบกระชับ เพราะมีท่าสมาธิราบอีกแบบหนึ่งที่นักโบราณคดีต้องเรียกว่าท่าขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ซึ่งมีปลายพระบาทซ้ายโผล่ออกมาให้เห็น

ท่านั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมมากๆ เป็นอิริยาบถนั่งแบบสบายๆ ซึ่งเป็นการขัดสมาธิธรรมดาเหมือนกับที่คนทั่วไปนั่ง จึงแตกต่างจากท่าขัดสมาธิราบที่เห็นตามพระพุทธรูป และผู้เขียนเห็นว่าควรเรียกแยกออกไปเป็นท่าขัดสมาธิหลวมหรือท่าขัดสมาธิผ่อน

ลักษณะของท่าประทับนั่งปางสมาธินี้มีความสำคัญเพราะเกี่ยวเนื่องกับแนวทางการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ

การปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาเป็นการเดินทางสู่อริยมรรคจนเกิดอริยผลและการหลุดพ้น หรือนิโรธในท้ายที่สุด

การเดินทางสู่อริยมรรคนี้ เรียกกันสั้นๆ ว่าการเดินมรรค โดยมี 2 แนวทางคือแนวทางสมถวิปัสสนา ซึ่งเน้นการเจริญสมาธิ และแนวทางวิปัสสนาซึ่งมักอาศัยการเจริญสติและการเจริญปัญญาเป็นมรรคเริ่มต้น

แนวทางสมถวิปัสสนาอาศัยการเจริญฌานหรือสมาธิก่อนและค่อยเจริญปัญญาในภายหลัง แนวทางนี้เกิดขึ้นมากในช่วงปฐมโพธิกาลซึ่งพุทธสาวกมักเป็นนักบวช มุนีหรือพราหมณ์โบราณที่เคยเจริญฌานมาก่อนแล้ว

แนวทางวิปัสสนาอาศัยการเจริญสติและการเจริญปัญญาก่อนหรือควบคู่ไปกับการเจริญสมาธิ แนวทางนี้เกิดขึ้นแพร่หลายในช่วงหลังที่พระพุทธองค์ทรงสอนพระภิกษุและฆราวาสจำนวนมากมายที่ไม่เคยผ่านการเจริญฌาน

การเจริญสมาธิและฌานขั้นสูงมักต้องการท่าประทับนั่งที่มั่นคง และท่าที่มั่นคงที่สุดคือท่าสมาธิเพชร รองลงมาคือท่าสมาธิราบปกติ

พระพุทธพิมพ์ปางสมาธิจึงมักใช้ท่าประทับนั่งขัดสมาธิเพชรเป็นส่วนใหญ่ โดยต่อมาได้มีท่าประทับนั่งขัดสมาธิราบเป็นท่านิยมมากขึ้น

การเจริญสติตามแนววิปัสสนากรรมฐานสามารถอาศัยอิริยาบถต่างๆ ซึ่งอิริยาบถหลักทั้งสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง และนอน

ในอิริยาบถนั่ง การเจริญสติไม่จำเป็นต้องมีท่านั่งขัดสมาธิที่แน่นหนาอย่างสมาธิเพชรและสมาธิราบ สมาธิอย่างอ่อนหรือขณิกสมาธิก็พอเป็นจุดเริ่มต้นได้ การเจริญสมาธิในแนวทางวิปัสสนากรรมฐานก็อาศัยเพียงอุปจารสมาธิซึ่งไม่ต้องถึงขั้นเป็นฌานหรือเป็นแค่ปฐมฌานก็เพียงพอ

พระพุทธพิมพ์ปางสมาธิที่มีท่าประทับขัดสมาธิแบบหลวมอย่างที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานราชบุรีเป็นท่านั่งบัลลังก์แบบเจริญสติหรือเจริญอานาปานสติตามแนวทางวิปัสสนากรรมฐานที่ไม่เน้นความมั่นคงนิ่งสงบของท่าประทับสำหรับการเจริญฌานหรือสมถวิปัสสนา

ถ้าการปฏิบัติธรรมในยุคทวารวดีเป็นแนวทางวิปัสสนากรรมฐาน ก็น่าจะสะท้อนได้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นคงแพร่หลายอย่างมากในหมู่ประชาชนหรือฆราวาสทั่วไป มิใช่เฉพาะพระภิกษุที่มุ่งหลุดพ้นอย่างอุกฤษฏ์ในชาติเดียว

ผู้ครองเรือนที่เดินมรรคตามแนวทางสมถวิปัสสนาก็คงมีมาก แต่การเจริญสติและการเดินมรรคตามแนวทางวิปัสสนากรรมฐานจะสะดวกต่อผู้ครองเรือนเป็นพิเศษ เนื่องจากพุทธบริษัทเหล่านี้มักยากที่จะสละเวลาหรือปลีกความวิเวกได้มากเท่านักบวชหรือพระภิกษุ

พระพุทธพิมพ์ปางสมาธิที่มีท่าขัดสมาธิหลวมดังกล่าวจึงบอกแนวทางการเดินมรรคที่ได้รับความนิยมในหมู่ประชาชนยุคทวารวดีนั้นด้วย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image