ราคาของประชาธิปไตยในพม่า (1) โดย : ลลิตา หาญวงษ์

อู เพียว มิน เตง มุขมนตรีแห่งเมืองย่างกุ้ง จากพรรค NLD อดีตนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังนานถึง 15 ปี

ประวัติศาสตร์โลกเตือนเราอยู่เสมอว่าการเปลี่ยนระบอบการปกครองในยุคเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการอำนาจนิยมมาเป็นระบอบประชาธิปไตย มักเป็นช่วงเวลาที่โกลาหลที่สุดของแทบทุกประเทศ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชนที่ส่วนใหญ่ล้วนต้องการระบอบประชาธิปไตย แต่ความลำบากกลับไปตกอยู่กับที่รัฐบาลประชาธิปไตยชุดแรกๆ ที่ยังต้องต่อสู้กับขั้วอำนาจเก่า ซึ่งอาจหลงเหลืออยู่มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป และยังต้องเผชิญกับคำติฉินนินทาและคำวิจารณ์จากประชาชนทั่วไป เมื่อรัฐบาลประชาธิปไตยล้มเหลวไม่สามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนได้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้เองที่เราจะได้เห็นเนื้อแท้ของประชาธิปไตย หรือที่มากไปกว่านั้นคือเนื้อในของนักการเมือง และเป็นการพิสูจน์ใจของบรรดาผู้ที่ปวารณาระบอบประชาธิปไตยทั้งหลาย ว่าหลังจากที่พวกเขาเปลี่ยนสถานะจากที่เคยเป็นผู้ถูกกดขี่ (the oppressed) พวกเขาจะกลายไปเป็นผู้กดขี่ (the oppressor) เสียเองหรือไม่

บทเรียนจากอดีตในประเทศเพื่อนบ้านที่บอกเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านของผู้นำทางการเมืองจากที่เคยเป็นผู้ถูกกดขี่ไปเป็นผู้กดขี่ เห็นได้ชัดเจนที่สุดในอินโดนีเซียในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน (ดำรงตำแหน่ง ค.ศ.1945-1967/พ.ศ.2488-2510) เมื่อครั้งเป็นผู้นำขบวนการชาตินิยมอินโดนีเซียเพื่อต่อต้านการปกครองของเนเธอร์แลนด์ ซูการ์โนเป็นวีรบุรุษที่ปลดปล่อยชาวอินโดนีเซียทั้งมวลจากระบบอาณานิคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ แต่เมื่ออินโดนีเซียได้รับเอกราชไปแล้ว 10 ปี ซูการ์โนมองว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตกที่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชากรทุกคนอย่างเท่าเทียมเป็น “ยาขม” สำหรับตน และทำให้อินโดนีเซียพัฒนาไปได้ช้า เขาจึงริเริ่มนำระบอบ “ประชาธิปไตยแบบชี้นำ” (Guided Democracy) มาใช้ ปฏิเสธการเลือกตั้ง

และเป็นช่องทางให้กองทัพขึ้นมามีอำนาจแบบล้นฟ้า

หากเรามองการเมืองในพม่าในปัจจุบันจากบทเรียนของอินโดนีเซียเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างน่าสนใจ ภายหลังรัฐบาล NLD ของออง ซาน ซูจี ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบถล่มทลายและเข้ามาตั้งรัฐบาลในต้นปี 2016 (พ.ศ.2559) ผู้คนในพม่ามีความตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เรียกได้ว่าตั้งแต่ปลายปี 2015 จนถึงปี 2016 แทบไม่มีคนพม่าคนไหนที่ไม่ชวนคุณคุยเรื่องการเมือง ความตื่นตัวทางการเมืองนี้อาจมาจากความอัดอั้นคับแค้นที่เห็นสังคมของตนเองอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปี แต่เมื่อประชาธิปไตยแบบตะวันตกเริ่มลงหลักปักฐานไปได้ไม่นาน คนในรัฐบาล โดยเฉพาะจากฝั่งของ NLD เองเริ่มรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวคล้ายจะเป็นไข้ประชาธิปไตย และแสดงออกมาให้เห็นว่าพวกเขารู้สึกอึดอัดกับเสรีภาพที่ภาคประชาชนแสดงออกในหลายครั้ง

Advertisement

ปรากฏการณ์ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าฝีประชาธิปไตยเริ่มจะกลัดหนองเสียแล้วเห็นได้จากการที่คนในกองทัพ หรือแม้แต่คนจากฝั่ง NLD เองไล่บี้เอาผิดกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ตนเอง ผ่านการใช้กฎหมายมาตราโทรคมนาคม (Telecommunications Act) มาตรา 66(d) ที่ใช้ดำเนินคดีคนที่หมิ่นประมาทผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ในปัจจุบันมีนักข่าว คอลัมนิสต์ นักวาดการ์ตูน และบุคคลทั่วไปที่ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายมาตรานี้ไปแล้วเกือบ 20 คน น่าสนใจว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แบบพม่าถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดการวิจารณ์รัฐบาลและเพื่อกำจัดผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองมากขึ้นในสมัยรัฐบาล NLD ซึ่งตามหลักการเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นพรรคที่กุมเสียงข้างมากในสภา

บทความล่าสุดในหนังสือพิมพ์ Frontier Myanmar นำเสนอคำกล่าวของออง ซาน ซูจี ในระหว่างเยี่ยมเยียนชาวบ้านในแถบมัณฑะเลย์ เมื่อชาวบ้านคนหนึ่งถามถึงสถานการณ์การปรองดองที่ดูจะแย่ลงตามลำดับ โดยเฉพาะการปรองดองระหว่างรัฐบาล กองทัพ และภาคประชาสังคมพม่าเอง (ยังไม่นับรวมการปรองดองกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ) ซูจีตอบเพียงว่า “ดิฉันไม่ต้องการจะไปชี้นิ้วใส่และโทษว่าใครผิด…ทุกๆ คนต้องรับผิดชอบ (กับความวุ่นวายที่เกิดขึ้น-ผู้เขียน) และดิฉันพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด…

คุณไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ด้วยการชี้นิ้วใส่คนอื่น เราต้องคิดจากหลายๆ มุม คุณจะมองจากมุมมองของคุณคนเดียวไม่ได้” นอกจากคำกล่าวสั้นๆ นี้ เธอปฏิเสธไม่ยอมให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวอื่นๆ

Advertisement

ท่ามกลาง “ความวุ่นวายที่เกิดขึ้น” สิ่งที่ดูจะสร้างความบาดหมางระหว่างรัฐบาล NLD กับภาคประชาสังคมมากที่สุด คือ การกวาดล้างผู้มีความเห็นต่างทางการเมือง ระหว่างชาวพม่าด้วยกันเอง และข่าวฉาวเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นและพฤติกรรมของนักการเมืองจาก NLD อีกหลายคนที่สร้างความไม่พอใจให้กับสังคมพม่า ข่าวฉาวล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาล NLD อนุมัติโครงการนำเข้ารถประจำทาง 2,000 คันจากประเทศจีน ด้วยงบประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3.3 พันล้านบาท) เพื่อมาใช้ปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนในย่างกุ้ง แต่โครงการนี้และการจัดซื้อรถประจำทางจากจีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะประชาชนมองว่าแพงกว่าปกติ และเป็นการติดต่อซื้อขายผ่านบริษัทจีนที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับคนในกองทัพพม่า และผู้ที่เลือกบริษัทผลิตรถประจำทาง 1,000 คันแรกให้ย่างกุ้ง คือ นายหง เหลียง (Hong Liang) เอกอัครราชทูตจีนประจำพม่า ทั้งบริษัท Anhui Ankai Automobil และ Zhengzhou Yutong Bus เป็นบริษัทผลิตรถประจำทางที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ และมีเจ้าของเป็นสมาชิกสภาประชาชนจีนตามลำดับ

การวิจารณ์โครงการจัดซื้อรถประจำทางจากจีนพุ่งเป้าไปที่ อู เพียว มิน เตง (U Phyo Min Thein) มุขมนตรีแห่งย่างกุ้งจากพรรค NLD และเป็นอีกหนึ่งนักการเมืองคนสนิทของออง ซาน ซูจี ผู้ที่ออกมาคัดค้านดีลรถเมล์ระหว่างจีนกับพม่าในครั้งนี้ อ้างว่าโครงการพัฒนาเครือข่ายรถโดยสารประจำทางในย่างกุ้งไม่โปร่งใส ก่อนหน้านี้ ธนาคารโลกเคยมอบข้อเสนอให้รัฐบาลพม่ากู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาการคมนาคมในย่างกุ้ง แต่เทศบาลย่างกุ้งกลับไม่เห็นด้วยและปฏิเสธข้อเสนอของธนาคารโลก เพราะเห็นว่ายุ่งยาก เนื่องจากธนาคารโลกต้องการแผนการพัฒนา และกระบวนการจัดซื้อที่โปร่งใสและเป็นระบบ

เมื่อข่าวแพร่ออกมาว่า จอ เน วิน (Kyaw Ne Win) นักธุรกิจผู้มีอิทธิพลในย่างกุ้งและหลานชายแท้ๆ ของนายพล เน วิน เป็นผู้มีบทบาทประสานงานระหว่างย่างกุ้งกับบริษัทจีนอีกบริษัทหนึ่ง (Beiqu Foton Motor เป็นบริษัทที่มีรัฐบาลจีนเป็นเจ้าของเช่นกัน) และได้ตกลงซื้อรถอีก 1,000 คันไปแล้ว ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้กับชาวพม่า และเริ่มแสดงความผิดหวังกับ NLD และโดยเฉพาะกับ อู เพียว มิน เตง ที่พวกเขาเคยมองว่าเป็นนักการเมืองหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง และเป็นอดีตนักโทษการเมืองที่เดินเคียงบ่าเคียงไหล่ออง ซาน ซูจี มาโดยตลอด

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับคนใน NLD และนักการเมืองที่เกี่ยวข้องปฏิเสธไม่ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ คนในพรรค NLD พึงระลึกอยู่เสมอว่า ภาพของพม่าสำหรับผู้คนทั่วโลกปัจจุบันคือประเทศประชาธิปไตยเกิดใหม่ แต่บางครั้งคนในพรรค NLD อาจจะมองว่า แท้ที่จริงแล้วประชาธิปไตยนี่เองที่เป็นตัวขัดขวางความเจริญก้าวหน้าทั้งของกลุ่มก้อนของพวกเขาเอง และของประเทศพม่าทั้งองคาพยพเลยก็เป็นได้

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image